‘วิษณุ’ ชี้ช่องรื้อ ม.256 ลดขั้นตอนทำประชามติ พร้อมแนะ เริ่มแก้ รธน. แบบรายมาตราก่อน

แฟ้มภาพ

‘วิษณุ’ ชี้ช่องรื้อ ม.256 ลดขั้นตอนทำประชามติ พร้อมแนะ เริ่มแก้ รธน. แบบรายมาตราก่อน

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ตอบไม่ถูก แต่ให้เขาคิดกันเอง เพราะว่ายุ่งยากซับซ้อน ข้อสำคัญหากจะใช้วิธีไหนก็ตาม ก็ควรจะหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้ง และเห็นด้วยกับแก้ไขเป็นรายมาตรา ทีละหลายๆ มาตราก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้แต่เพียงว่ากรณีที่เป็นการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขององค์กรอิสระ โดยเรื่องเหล่านี้ เมื่อแก้เสร็จวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 ก่อนที่จะนำขึ้นต้องทำประชามติ

นายวิษณุกล่าวว่า การแก้ไข ที่ควรทำคือ ถ้าต้องการแก้เกี่ยวกับองค์กรอิสระ และไปกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้หรือไม่ ถ้าอยากแก้ไปก่อนคือหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการ หมวด 4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบไม่ต้องทำประชามติ หมวด 8 คณะรัฐมนตรี (ครม.) หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หมวด 10 เรื่องศาล หมวด 11 องค์กรอิสระ เรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด แต่พอไปถึงองค์กรอิสระอำนาจหน้าที่ และคุณสมบัติต้องห้าม จะไปเจอเรื่องทำประชามติ คืออย่าเพิ่งไปทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติควรทำครั้งเดียวตอนเสร็จแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องทำประชามติเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ถ้าคุณแก้มาตรา 256 ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ มันก็ไม่ต้องทำประชามติ แต่การจะแก้หนแรกในเรื่องมาตรา 256 ต้องทำประชามติเสียทีหนึ่งก่อนและจะลบล้างเรื่องประชามติไปได้

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องทำประชามติ 3-4 ครั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องแก้ไขมาตรา 256 เสียก่อน พอเสร็จวาระ 1 นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไปจะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาลต้องทำประชามติ คือ 1.คุณต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่ 2.ต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ 3.ถ้า ส.ส.ร.ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งประมาณ 3 พันล้านบาท ดังนั้น แก้ที่มาตรา 256 แต่การแก้มาตรา 256 หากพูดกันไม่ดีอาจไม่ผ่าน เพราะต้องผ่านความเห็นของ ส.ว.หรือไม่เขาก็กลัวว่าจะไปแก้อะไรต่อมิอะไรกัน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการทำประชามติควรทำ 2 ครั้งก็ยังดี คือต้องเริ่มแก้ไข และตอนจบที่จะไปประกาศใช้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image