ที่มา | มติชนรายวัน 3 ธันวาคม 2558 |
---|
1ธันวาคม สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (เอฟเอเอ) ของสหรัฐอเมริกาประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย
จากประเภทที่ 1 เป็นประเภทที่ 2
เนื่องจากมาตรฐานการบินของไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ไอเคโอ)
การถูกลดลำดับอยู่ในประเภท 2 หมายความว่าประเทศนั้นๆ บกพร่องในแง่ของกฎหมายหรือกฎระเบียบ
รวมทั้งขาดความพร้อมในด้านใดด้านหนึ่งหรือมากกว่า อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรม กระบวนการเก็บข้อมูลและกระบวนการตรวจสอบ
แม้การลดอันดับมาตรฐานครั้งนี้ จะไม่กระทบกับเครื่องบินของไทยที่ให้บริการเส้นทางบินไปยังสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่เดิม
แต่จะไม่อนุญาตให้มีการเปิดเส้นทางใหม่ไปยังสหรัฐ
พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข เลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) กล่าวว่า
ไทยสามารถดำเนินการให้คืบหน้าเป็นไปตามมาตรฐานของเอฟเอเอได้แล้วหลายประเด็น แต่ยังมีบางประเด็นที่ต้องใช้เวลา ซึ่งเอฟเอเอเข้าใจแต่ยังคงยืนยันให้ไทยต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์
รายได้ที่เอกชนไทยจะเสียไปนั้นจะถูกกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก
พล.อ.อ.มณฑล สัชฌุกร โฆษก ศบปพ. เผยว่า การลดระดับนี้ไม่มีผลกระทบต่อสายการบินของไทย แต่อาจทำให้ประเทศต่างๆ มองการแก้ปัญหาของเราว่ายังไม่บรรลุผล
เพราะมาตรการเอฟเอเอต้องทำให้สมบูรณ์ทั้ง 35 ข้อถึงจะผ่าน
จากนี้ต้องแก้ต่อไปในเรื่องของไอเคโอ ซึ่งเป็นภาพใหญ่
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และ ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า
สิ่งที่ทำได้จากนี้คือการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ไอเคโอปลดล็อกธงแดง อันจะทำให้เอฟเอเอก็จะปรับอันดับมาตรฐานไทยให้ดีขึ้นด้วย
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า จะเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศขณะนี้ ทั้งปีหน้าและปีถัดไป
อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่า
นายกฯคนเดียวเท่านั้นที่ต้องเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้จริงจัง โดยเฉพาะการปลดล็อกธงแดงจากไอเคโอ
รายงานข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการบิน ระบุว่า ที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือ
การประกาศผลตรวจสอบแบบเดียวกันของสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ในวันที่ 10 ธ.ค.
หากเอียซ่าประกาศผลออกมาสอดคล้องกับเอฟเอเอ จะมีผลโดยตรงต่อเที่ยวบินจากไทยที่จะบินเข้าประเทศต่างๆ ในยุโรป
อันจะส่งผลต่อตลาดอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ด้วย
อย่างฉับไว นักวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองระบุทันทีว่า
การลดมาตรฐานดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัญหาวิวาทะระหว่าง นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐคนใหม่กับรัฐบาลไทย
เป็นการลงโทษที่ไทย “ไม่เชื่อฟัง”
แต่ถ้าไม่ปิดทองใส่หน้าตนเอง ก็จะพบว่า
ประการหนึ่ง การตรวจสอบของเอฟเอเอเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2558
ตั้งแต่ยังไม่มีวิวาทะที่เพิ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ยังไม่มีเอกอัครราชทูตสหรัฐในไทยด้วยซ้ำไป
ประการหนึ่ง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายก็ยอมรับเองว่า ไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย 35 ข้อของเอฟเอเอได้
ยังมีประเด็นที่ต้องใช้เวลา เช่น การตรวจสอบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกใหม่ การตรวจสอบผู้ตรวจสอบภาคอากาศใหม่ เป็นต้น
จึงก่อนจะกล่าวโทษคนอื่นสิ่งอื่นว่าให้ร้ายทำลายเรา
จะต้องสำรวจตรวจสอบตนเองเสียก่อนว่า ปัญหามีอยู่จริงหรือไม่
ถ้ามี ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นและสั่งสมมาจะแก้ไขอย่างไร
ถ้าปัญหาไม่มีแล้วถูกลงโทษกลั่นแกล้งอย่างไม่มีเหตุผลนั่นดอก ถึงจะโวยวายถึงจะเปิดศึกได้
แต่อึดใจนี้คือนาทีของการแก้ไขปัญหา