‘ปดิพัทธ์’ ชี้ ตรวจรับรัฐสภา 100%หรือไม่ เป็นอำนาจเลขาสภาฯ จ่อชง ‘วันนอร์’ ตั้ง กก.ยุติข้อพิพาท มีส.ส.-ส.ว.ร่วม

‘ปดิพัทธ์’ โยนเลขาธิการสภาฯ เคาะตรวจรับรัฐสภา 100% หรือไม่ บอกเป็นไปตามระเบียบว่าจ้าง จ่อเสนอ ‘วันนอร์’ ตั้งกก.ยุติข้อพิพาท มี ส.ส.-ส.ว.ร่วมวง

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 27 กันยายน ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แถลงความคืบหน้าการตรวจรับอาคารรัฐสภา ว่า จากการหารือและเรียกคณะกรรมการตรวจการจ้างเข้ามาชี้แจงความคืบหน้าในการตรวจรับอาคารรัฐสภานั้น มีความเห็นแย้งในการตรวจรับ เนื่องจากยังไม่สามารถทำให้อาคารรัฐสภาตรงตามแบบได้ทั้งหมด 6 จุด ซึ่งกรรมการเสียงข้างน้อยได้ทำความเห็นแย้งส่งให้กับเลขาธิการสภาฯ เรียบร้อยแล้ว

โดยในระเบียบการจ้าง เมื่อมีความเห็นแย้งเกิดขึ้น คนที่ชี้ขาดได้ คือ เลขาธิการสภาฯ แต่ขณะนี้นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ คนปัจจุบัน กำลังจะเกษียณอายุราชการ จึงเป็นอำนาจของนางพรพิศ ว่าจะจัดการให้แล้วเสร็จในสมัยของท่านหรือไม่ หรือจะรอให้มีการแต่งตั้งเลขาธิการสภาฯ คนใหม่ในเดือนตุลาคมก่อน ส่วนการดำเนินการของตน เมื่อความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝั่ง และส่งผลสองเรื่อง คือ

1.กรณีที่บริษัทผู้รับจ้างฟ้องร้องต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เพราะความผิดพลาดของสำนักงานนั้น เป็นหน้าที่ของสภาฯ ที่ต้องต่อสู้ในทางคดี

Advertisement

2.ค่าปรับ ในช่วงมาตรการโควิด-19 ที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ซึ่งมีการพิจารณาและมีมติงดเว้นค่าปรับ 851 วัน อีก 150 กว่าวันเป็นเรื่องมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 59 ที่มีการช่วยเหลือค่าแรง ที่ไม่สามารถปรับขึ้นเป็น 300 บาทได้ ทำให้มีค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท จำนวน 990 วัน ซึ่งจะทำให้ค่าปรับเป็นศูนย์ และเราต้องหากรรมการเพื่อแก้ไขสัญญา มติ ครม. หรือผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญานั้น ทำไปโดยรอบคอบ มีความชอบธรรมหรือไม่ และทำให้สภาเสียผลประโยชน์ โดยไม่จำเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทได้อย่างไร

ทั้งนี้ พบว่าประเด็นที่นางพรพิศ ลงนามเว้นเรียกค่าปรับนั้น ต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะหน่วยงานที่เสนอให้เว้นค่าปรับเป็นส่วนของหน่วยงานภายนอก

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า กรรมการที่เราจะเสนอตั้งไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร โดยหากเลขาธิการสภาฯ ยืนตามเสียงข้างมาก เราก็จะได้รับการตรวจมอบสภาอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ แต่ผลที่ตามมา หากมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น หรือไม่ตรงแบบ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องมากกว่าผู้รับจ้าง เพราะต้องได้ความชัดเจนจากผู้ตรวจรับงาน และที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการ ถ้าไม่รับเรื่องนี้จะถูกดำเนินการต่อ คือ ผู้รับจ้างจะปรับ 6 จุด ที่มีปัญหาให้ตรงตามแบบได้หรือไม่ หากทำไม่ได้จะนำไปสู่การแก้สัญญาหรือไม่อย่างไร ก็ต้องเป็นนโยบายของเลขาธิการสภาฯ คนใหม่

Advertisement

ทั้งนี้ กรรมการที่เราจะตั้งขึ้นมาน่าจะเป็นกรรมการที่หาข้อยุติในเรื่องนี้ให้ได้ เพราะหากปล่อยเรื่องนี้ให้คาราคาซัง เราก็จะใช้พื้นที่ในรัฐสภาไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตรวจรับงาน และมีคนรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เตรียมเสนอต่อประธานสภาฯ พิจารณาตั้งคณะกรรมการ โดยกรรมการที่ตั้งมาจะมาจากทั้งฝั่ง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อยุติข้อผิดพลาดต่างๆ และให้สภาฯ เปิดใช้งานได้คุ้มค่าภาษีของประชาชน ส่วน 6 จุดที่ต้องปรับให้ตรงตามแบบจะมีรายละเอียดอย่างไร ต้องรอรายงานของคณะกรรมการตรวจการแจ้งฯ อีกครั้ง ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากแก้ไม่ได้ต้องแก้ไขสัญญา ซึ่งขึ้นอยู่กับเลขาธิการสภาฯ คนใหม่

เมื่อถามว่า กรณีที่พบว่าการตัดสินใจตรวจรับงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ที่มีความเห็นแย้ง ซึ่งพบว่านางพรพิศเป็นกรรมการฝั่งเสียงข้างมาก มองว่าการมอบหมายให้ตัดสินใจจะเป็นการยืนยันมติตนเองหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มอบหมาย แต่เป็นไปตามระเบียบการจ้าง คนที่มีอำนาจสูงสุดคือ เลขาธิการสภาฯ ส่วนความเห็นต่างหรือเห็นแย้งนั้น ต้องดูเหตุผลประกอบ รวมถึงชั่งน้ำหนักเสียงข้างมากให้ดี ซึ่งตนเชื่อว่าเลขาธิการสภาฯ จะตัดสินใจอย่างรอบคอบที่สุด แต่หากส่งต่อให้เลขาธิการสภาฯ คนใหม่ ตนจะติดตามว่าจะตัดสินใจอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image