ไอติม ตั้งกระทู้ซัด รบ. ยูเทิร์นตั้ง กก.ประชามติ ย้ำไม่ร่วม หวั่นเป็นตรายาง ภูมิธรรมลุกโต้

‘พริษฐ์‘ ซัด รบ.ยูเทิร์น ตั้ง กก.ประชามติแก้ รธน. ทั้งที่ไม่ต้องล้มทั้งกระดาน เหตุมีการศึกษามาตลอด 4 ปีแล้วจี้ตอบให้ชัด ไม่อนุญาตให้แก้หมวด 1 หมวด 2 ยัน ‘ก้าวไกล’ ไม่เข้าร่วมเพราะเสี่ยงเป็นตรายาง แต่ยินดีส่งข้อมูลให้ ขณะที่ ‘ภูมิธรรม’ เสียใจ ‘ก้าวไกล’ ไม่ร่วมสังฆกรรม ยัน คณะกรรมการฯ ไม่ใช่ตรายาง ย้ำ แก้ รธน.ต้องเสร็จภายใน 4 ปี ชี้ หากเป็นไปได้อยากทำประชามติ 2 ครั้ง

เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 5 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์​ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่า หากย้อนไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ฉีกเอ็มโอยู และแยกทางจากพรรค ก.ก. เพื่อไปจัดตั้งรัฐบาล ตนจำได้ดีว่ารองนายกรัฐมนตรี นั่งอยู่ข้างๆ ตอนที่หัวหน้าพรรค พท.เวลานั้นแถลงข่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของรัฐบาลพรรค พท. จะเดินหน้าให้มีการทำประชามติ เพื่อนับหนึ่งไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน

แต่ผ่านมาถึง 42 วัน ในการประชุม ครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน เรากลับเห็นรัฐบาลกระทำการยูเทิร์นจากการเดินหน้าทำประชามติ ย้อนศรกลับมาเป็นเพียงตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ซึ่งตนไม่ติดใจหากรัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาศึกษาในประเด็นต่างๆ เพื่อความรอบคอบ แต่สิ่งที่ถูกศึกษานั้น ควรจะจำกัดเฉพาะสิ่งที่ไม่เคยถูกศึกษามาก่อน หรือสิ่งที่อาจจะเคยถูกศึกษามาแล้ว แต่ผ่านกระบวนการที่ไม่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ตนมีความกังวลว่า คณะกรรมการศึกษาฯ​ที่ตั้งขึ้นมานั้น จะกลายเป็นกระบวนการศึกษาที่อาจจะเสียทั้งเวลา และงบประมาณโดยไม่จำเป็น หากจะมองโลกในแง่ร้ายก็เสี่ยงจะถูกใช้ลบหลักการที่เป็นข้อสรุปร่วมกันมาก่อนแล้ว เพราะแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นสิ่งที่มีการศึกษา และถกเถียงกันมาโดยละเอียดผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่ข้อสรุป และโรดแมปที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันมาแล้ว และในช่วงการเลือกตั้งปี 66 หลายพรรค รวมถึงพรรค พท. ก็ประกาศด้วยความมั่นใจว่า หากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล พรรคจะเดินหน้าทำประชามติทันที โดยไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. มาถึงวันนี้ท่านตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ครม.มีอำนาจในการออกมติให้จัดทำประชามติ และนับหนึ่งไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ท่านเลือกที่จะตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาศึกษาก่อน

Advertisement

“ดังนั้น จึงเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ต้องมาล้มกระดานทั้งหมด เพราะทุกฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันว่าต้องมี
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต้องมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งต้องทำประชามติ แม้กระทั่งตัวคำถาม ดังนั้นตอนนี้จึงไม่ใช่เวลาของการศึกษา แต่คือเวลาของการตัดสินใจว่าท่านจะเดินหน้าต่ออย่างไร จึงอยากขอความชัดเจนว่าตั้งคณะกรรมการศึกษาฯขึ้นมาเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งที่จะศึกษา และอะไรคือสิ่งที่จะยึดเป็นกรอบหรือหลักการของคณะกรรมการฯชุดนี้ ที่จะไม่ย้อนกลับไปศึกษาหรือทบทวนอีกรอบ ช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่ได้ตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาเพราะไม่กล้าตัดสินใจตามจุดยืนเดิม แต่ต้องการยืมมือคนอื่นมาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์​กล่าวต่อว่า การที่พรรค ก.ก. มีมติไม่เข้าร่วมคณะกรรมการฯ เพราะพรรคมี 2 จุดยืนคือ 1.สนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ 2.สนับสนุนให้เป็นการจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด จุดยืนดังกล่าวพรรคมองเป็นกรอบกว้างๆ แต่มีความสำคัญต่อการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าการทำงานของคณะกรรมการฯ จะเป็นการทำงานภายใต้กรอบของ

2 จุดยืนนี้ หรือเป็นการทลายกรอบดังกล่าว ทางพรรค ก.ก. จึงขออนุญาต ยังไม่เข้าไปร่วมในฐานะกรรมการฯ เพราะเสี่ยงที่จะไปเป็นตรายางที่อาจจะขัดกับจุดยืนหลักของพรรคฯ​ แต่เรายินดีมากที่จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็นและข้อเสนอต่อคณะกรรมการฯ และการไม่เข้าร่วมของพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แต่เราก็เข้าใจในการทำงานร่วมกัน แต่หากเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด แม้เราจะร่วมมือกันแค่ไหนในการติดกระดุมเม็ดถัดไป แต่เสื้อผ้าตัวนั้นก็จะผิดเพี้ยนไปและใส่ไม่ได้อยู่ดี

Advertisement

“อยากถามว่า หากประชาชนหรือบุคคลประสงค์อยากเสนอแก้ไขข้อความบางส่วนในหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งไม่กระทบอย่างแน่นอนต่อสถาบัน และไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ ท่านจะอธิบายอย่างไรว่าไม่อนุญาต แม้กระทั้งเสนอความเห็นหรือการแก้ไขบางข้อความ และหากตัดหมวด 1 หมวด 2 ออกไปก่อน ขอคำยืนยันจากรัฐบาลว่าตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปรัฐบาลนี้จะสนับสนุนให้มีการยกร่างใหม่ทั้งหมด ที่ไม่ใช่เพียงการแก้ไขรายมาตรา และยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการล๊อกว่าประเทศนี้จะต้องไม่ใช่ระบบรัฐสภาแบบสภาคู่หรือสภาเดี่ยว ยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการล๊อกว่าจะปฎิรูปศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ แบบไหนทำได้ ทำไม่ได้” นายพริษฐ์​กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ส่วน ส.ส.ร.ที่ต้องมีนั้นยืนยันได้หรือไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ร.ที่มาจาการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด และคณะกรรมการฯชุดนี้จะมีหน้าที่หารือรายละเอียดปลีกย่อยของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิก ระบบเลือกตั้งที่ต้องใช้หรือกรอบเวลาในการทำงาน หรือคณะกรรมการฯชุดนี้มีอำนาจลดทอน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ให้กลายเป็น ส.ส.ร.ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง

ด้าน นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า การดำเนินการครั้งนี้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ และขณะนี้มีวางหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า เราจะทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากคิดตามกรอบไทม์ไลน์แล้วภายใน 4 ปีที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เราจะสามารถทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เกิดความเห็นชอบของทุกฝ่ายทุกคนในสังคมโดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้สำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะยืดเวลาไปเรื่อยๆ ไทม์ไลน์ที่ไกลที่สุดคือประมาณ 3 ปีกว่า และในแต่ละช่วงเวลาเราสามารถหย่นเวลาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ จะต้องไปหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลา 3,000-4,000 ล้านบาท หากทำหลายครั้งก็เหมือนการเลือกตั้งหลายครั้ง ตนคิดว่าในเวลาเช่นนี้ไม่ควรต้องเสียเงินมากเช่นนั้น จึงพยายามหาลู่ทางว่าหากเป็นไปได้อยากทำประชามติสัก 2 ครั้ง ก็จะดี

นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า เราอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จ ไม่ใช่เสนอขึ้นมาแล้วต้องตกไปเหมือนครั้งที่ผ่านมา จึงพยายามหาจุดร่วมที่ดีที่สุดเพื่อให้เป็นเกิดความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และสามารถให้กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะการทำประชามติ เพราะไม่ใช่แค่รัฐบาลมีมติให้ดำเนินการแล้วจะสามารถดำเนินการได้เลย แต่มีกระบวนการและขั้นตอนเพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่ได้มีปัญหา จึงเสนอว่าให้มีการรับฟังความคิดเห็นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และพยายามรวบรวมพรรคการเมืองให้ได้มากที่สุด เพื่อหาความเห็นไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน

“เสียดายที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็เคารพในเหตุผลของพรรค ก.ก. และมีการกันที่นั่งไว้ 1 ที่นั่ง แม้จะยังไม่เข้าร่วมแต่ก็ไม่เป็นอะไร ไม่ได้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดหยุดลง แต่เราก็กำหนดไว้ในแผนการว่าจะมีการคุยกับพรรคก้าวไกล ต่อไปในอนาคต” นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า สำหรับคำถามที่เราจะถามอะไรนั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องคือกระบวนการแก้ไขและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร ที่ยังมีความเห็นต่างอยู่บ้าง แต่เรายืนยันว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุดและพยายามจะให้มี ส.ส.ร.ตามที่ได้ศึกษามา ส่วนที่บอกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด ทำให้เกิดความเสียหายนั้น เราก็คิดเช่นกันแต่คิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือการติดกระดุมเม็ดแรกที่ถูก เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่เราพยายามให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน

“ส่วนที่ถามว่า จะรับปากได้หรือไม่ว่าคณะกรรมการฯ ที่เข้ามาไม่ได้เป็นตรายาง ผมรับรองด้วยเกียรติและคิดว่านายพริษฐ์ต้องให้เกียรติผู้ที่เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการฯ นี้ เพราะมาจากหลายภาคส่วน เขาเข้ามาเพื่อมาดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพพวกเขาอย่างไร อยากให้นายพริษฐ์มองภาพให้กว้างขึ้น ยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน การที่จะให้เรารับรองสิ่งที่ท่านคิดเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเป็น สิ่งที่ต้องรับประกันคือวันนี้เราจะทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ 2 ข้อที่พรรคก้าวไกลเสนอ เราอยู่ในสภา จะต้องมีการตกลงทำความเข้าใจกัน การที่ทำให้ทุกส่วนมาคุยกันเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศโดยไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ ผมเสียใจนิดเดียวที่พรรคก้าวไกลเอาตัวออกจากคณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้น ไม่ควรมองอะไรที่แง่ร้ายเกินไป สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นคือกำลังจะเริ่มต้น หากทำใจกว้างนิดหนึ่งแล้วเข้ามาผมว่าเราจะคุยกันได้” นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรมชี้แจงอีกว่า การให้บุคคลเข้ามาร่วมคณะกรรมการฯ ชุดนี้เพื่อดูความโปร่งใสในการตัดสินใจ เป็นอย่างที่ท่านกังวลใจหรือไม่ ฉะนั้น การเข้ามาย่อมดีกว่า ซึ่งเราก็ไม่ขัดข้องอะไร แม้พรรคก้าวไกลยังไม่เข้ามา แต่เราหารือกันเบื้องต้นแล้วว่าเราจะเชิญพรรคก้าวไกล พรรคเล็ก พรรคน้อยมาหารือ รวมถึงจะเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่างๆ แสดงความคิดเห็นด้วย หากพรรคก้าวไกล บอกว่าทำไมจึงไม่ยืนตามที่พรรควางไว้ พรรคอื่นๆ ก็บอกว่าทำไมไม่ยืนตามพรรคอื่นๆ ฉะนั้น การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเป็นทางที่ดี เพื่อแก้ปัญหาประเทศไม่สร้างขัดแย้งใหม่ เพราะหากมีพรรคอื่นต้องการให้ยึดข้อเสนอด้วยจะเกิดความขัดแย้งได้ หากจุดร่วมและผลักดันเป็นทางที่ดีเป็นกระดุมเม็ดแรก และต้องจบ โดยรัฐธรรมนูญต้องผ่าน จะไม่เสนอเพื่อให้ตกไปเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image