สแกน‘35อรหันต์’ ตอบโจทย์ลุยแก้รธน.?

สแกน‘35อรหันต์’ ตอบโจทย์ลุยแก้รธน.?

สแกน‘35อรหันต์’
ตอบโจทย์ลุยแก้รธน.?

หมายเหตุ – นักวิชาการวิเคราะห์รายชื่อคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง 35 คน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
ในฐานะ 1 ใน 35 คณะกรรมการ

Advertisement

ยังไม่มีการประชุมแม้แต่ครั้งเดียว เป็นแค่เพียงการทาบทามมา ตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการติดต่ออย่างเป็นทางการกับฝ่ายเลขานุการ สำหรับแนวทางของคณะกรรมการชุดนี้ กรอบใหญ่คงจะเป็นเรื่องของการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่าจะมีแนวทางในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญกันต่อไปอย่างไร และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญตรงนี้จะมีสิ่งที่สังคมตกผลึกร่วมกันได้อย่างไร เพราะชื่อกรรมการเองชัดเจน ที่บอกว่าเป็นกระบวนการพูดคุยกัน เพื่อที่จะหาแนวทางในเรื่องของความแตกต่างทางความคิด เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นแนวทางสำหรับการขับเคลื่อนต่อไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญด้วยรูปแบบไหนก็ตาม ไม่ว่าจะรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือรูปแบบรัฐสภา แน่นอนว่าคงยังไม่มีใครมีคำตอบจนกว่าจะได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทุกมุมในสังคมคงจะมีความเห็นในสังคมที่หลากหลาย บางความเห็นก็อยากจะให้มี ส.ส.ร. บางความเห็นมองว่าน่าจะใช้กระบวนการของรัฐสภา ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าในการรับฟังความเห็นภาพรวมทั้งฝ่ายสนับสนุน-เห็นต่าง เมื่อประมวลออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร แล้วอาจจะมีการเสนอแนะเรื่องการทำประชามติ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไปก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ จะเรียกว่าบทบาทคณะกรรมการชุดนี้ เป็นตัวปลดล็อกชนวน เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่กลายเป็นตัวความขัดแย้งเสียเอง ได้หรือไม่นั้น จุดนี้คือความตั้งใจ แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการที่ทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันขับเคลื่อน แล้ววันนี้เราก็จะเห็นได้ว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มีมาแล้ว 5-6 ครั้ง แต่สำเร็จอยู่ครั้งเดียว คือเรื่องระบบเลือกตั้ง ก็เป็นการแก้สำเร็จที่ไม่สะเด็ดน้ำด้วย ดังนั้น ก็ยังทำให้มีปัญหาหลายอย่าง และโจทย์ใหญ่ในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงเรื่องเทคนิคเหล่านี้ แต่จะต้องเป็นเรื่องของการพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย คือโจทย์ใหญ่ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่พูดถึงการแก้ เพราะเมื่อพูดถึง แน่นอนว่าฝ่ายที่เห็นด้วยก็เสนอแบบนี้ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างเขาไม่สนับสนุน ไม่สามารถสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นการหาสิ่งที่จะต้องตกผลึกร่วมกันจึงเป็นโจทย์ใหญ่ในจุดตั้งต้น

ส่วนตัวมองว่าปัญหาหลักที่สำคัญของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องแก้ให้สำเร็จ คือหลักการเบื้องต้น ที่ต้องทำให้รัฐธรรมนูญมีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชนเพราะถึงแม้เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เนื้อหาดี มีเรื่ององค์กรต่างๆ มีเทคนิคการเมือง มีระบบเลือกตั้งสารพัด แต่ถ้าสุดท้ายไม่ได้มีที่มาจากประชาชน หรือประชาชนไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญนั้นจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ดังนั้น วันนี้การสร้างบรรยากาศให้สังคมมีความคึกคัก อยากจะมีส่วนร่วมการเปิดพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นส่วนที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนั้นได้รับการยอมรับต่อไป

Advertisement

ในส่วนของการทำประชามติ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2567 ผมว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะเชื่อว่ากรรมการชุดนี้คงไม่ทำงานนาน ในระดับหนึ่งต้องมีงานให้สังคมได้เห็นอยู่แล้ว รวมถึงกรอบเวลาในการทำงานก็ค่อนข้างที่จะเป็นที่จับตามอง ยืดเยื้อไม่ได้ แน่นอนว่าข้อวิจารณ์ที่มีการพูดว่านี่คือการยื้อเวลา คือเกมการเมือง ข้อวิจารณ์ก็ต้องมีอยู่แล้วเป็นปกติ เราต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างนั้น แต่ต้องพลิกสิ่งเหล่านี้ให้เป็นโอกาสกับประเทศ กับสังคม ในการเข้ามามีส่วนร่วมกันมากกว่า

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย (พท.) ถือเป็นหนึ่งมาตรการฟื้นวิกฤตศรัทธา และโจทย์ใหญ่ในสายตาของประชาชนคือการยกเอาซากผลพวงจากรัฐประหารปฏิสนธิโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และทำคลอดโดย คสช. ออกไปจากระบบการปกครองประเทศที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยแน่นอนว่าพรรค พท.ต้องไม่ปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการเมืองหรือซื้อเวลา เพราะหากมีภาพความไม่จริงใจออกมาจะทำให้พรรค พท.ก่อวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นมา แต่คำถามที่ว่าต้องตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาทำไมพร้อมกับสมมุติฐานว่านี่คือการซื้อเวลาหรือไม่ เป็นประเด็นชวนคิด เพราะหากพิจารณาจากแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดเพียงให้ทำประชามติว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ และหากจะแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ทุกมาตรา หรือแก้ทั้งฉบับ ไม่มีข้อกฎหมายหรือแนวคำวินิจฉัยว่าจะต้องตั้งกรรมการก่อน

อย่างไรก็ตาม แก้ไขรัฐธรรมนูญมาฟื้นฟูความเชื่อมั่นของพรรค พท.ค่อนข้างน่าผิดหวัง เมื่อพิจารณาจากรายชื่อคณะกรรมการที่ตั้งออกมาไล่ตั้งแต่ประธานมาจากฝ่ายการเมืองแทนที่จะมาจากคนที่มีความเป็นกลางหรือบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ดังนั้น เมื่อมีการตั้งกรรมการที่มาจากประธานที่เป็นนักการเมือง กรรมการส่วนใหญ่จึงเป็นนักการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับตัวประธานและพรรค พท. หรือกรรมการบางคนเป็นผลผลิตจากรัฐธรรมนูญที่ผิดเพี้ยนด้วยซ้ำ

ยิ่งภาพรวมของคณะกรรมการเกินครึ่งน่าจะเป็นบุคคลที่มาจากพรรค พท.หรือมาจากเส้นสายทางการเมือง แม้จะมีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถและน่าเชื่อถือเข้าไปมีส่วนผสมอยู่บ้าง คงเพื่อไม่ให้ส่วนผสมดูผูกขาดจากนักการเมืองมากจนเกินงาม แต่ก็มีน้อยจนแทบไร้พลังที่จะขับเคลื่อนหลักการที่ถูกต้องฝ่าด่านคณะกรรมการที่มาจากสายการเมืองที่แทคทีมกันเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ และท้ายที่สุดการอ้างชื่อนักวิชาการ หรือการนำเอาร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติกับกลุ่มต่างๆ ในสังคมเพื่อเป็นตรายางประทับให้กับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากชนชั้นนักการเมือง แน่นอนว่าชนชั้นใดร่างกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น

หากจะมองในแง่มุมของวิชาชีพต่างๆ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียแทบจะไม่พบตัวแทนที่เป็นสัดส่วนด้านวิชาชีพต่างๆ หรือแม้แต่ตัวแทนภาคแรงงาน หรือภาคเกษตรกรรม หรือตัวแทนประชาชนจากภูมิภาคต่างๆ หรือชนเผ่า หรือตัวแทน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ชัดนักคงมีแต่ภาพของคนที่อยู่ศูนย์กลาง หรือตัวแทนของกลุ่มเปราะบางทางสังคมก็ยังไม่พบ และหากจะเอามุมมองแบบสตรีนิยม (feminism) ไปจับจ้องดูรายชื่อพบแต่กรรมการที่เป็นเพศชาย มีสัดส่วนของเพศหญิงน้อย และไม่มีภาพของตัวแทนเพศทางเลือกเลย ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพของกลุ่มเดียวที่ชัด คือกลุ่มเพื่อนเพื่อไทย

คณะกรรมการชุดนี้จึงถือเป็นคณะกรรมการที่วิกฤตด้านการมีส่วนร่วม จนถึงขนาดชวนสงสัยว่าหรือเป็นแค่การซื้อเวลาเพราะถ้ามีความจริงใจการตั้งคณะกรรมการไม่น่าจะออกมาในรูปแบบนี้

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมคิดว่ารายชื่อ 35 คณะกรรมการ มีความหลากหลายแต่ยังไม่ครบถ้วน เพราะแน่นอนว่าตัวแทนจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยังไม่ได้เข้ามาร่วมเป็น 1 ใน 35 คน อย่างไรก็ตาม จากทิศทางดังกล่าว เข้าใจว่ารัฐบาลเองต้องการตอบโจทย์ในสิ่งที่ตนเองสัญญา ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วน ที่ต้องเร่งกระทำ ผมคิดว่ายังคงต้องหารือกันและต่อสู้ลงไปในรายละเอียดของการทำงาน ว่าจะแก้ไขในบางมาตราหรือร่างใหม่ทั้งหมด แน่นอนว่าคณะทำงาน 35 คนนี้คงไม่ไปยุ่งกับหมวด 1 และหมวด 2 ทุกคนคงมีความเห็นร่วมกัน แต่ในรายละเอียดต่างๆ จะต้องมีการถกและหารือกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจขององค์กรอิสระ การเลือกตั้ง อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่น่าจะต้องใช้เวลาหารือกันพอสมควร

คิดว่า 35 คน จะมีภาพถูกโยงในฐานะตัวแทนจากพรรค พท.ในสัดส่วนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของพรรคการเมืองอื่นๆ แน่นอนว่าการที่พรรค ก.ก.รักษาท่าที ยังไม่ตอบรับนั้น คิดว่าตอนนี้ธงนำน่าจะเป็นไปตามแนวทางของพรรค พท.อยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันพรรค พท.จะออกปากเอ่ยเชื้อเชิญพรรค ก.ก. แต่แสดงท่าทีในลักษณะที่ว่า หากพรรค ก.ก.ไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการ ก็ไม่รู้สึกว่าการเดินหน้านี้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือติดขัดอุปสรรคใดๆ ยังคงสามารถทำงานได้

ด้านคณะกรรมการ ในส่วนของตัวนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ เช่น รศ.ยุทธพร แน่นอนมีความรู้เข้าใจในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วน ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบการเลือกตั้ง คงจะเอาประสบการณ์เหล่านี้ นำไปสู่ข้อเสนอ การปรับปรุงหรือยกระดับคุณภาพ เพื่อที่จะเอาไปเป็นแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวแทนของฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อาจจะเป็นตัวแทนของคนเสื้อแดงมาก่อน ทำให้เห็นว่าองค์ประกอบสำคัญตอนนี้ คือความขัดแย้งของกลุ่มก้อนต่างๆ อาจจะมีส่วนร่วมไม่ครบในทุกภาคส่วนแต่กลับเห็นภาพสาระสำคัญที่จะยึดโยงหรือใกล้ชิดกับพรรค พท.อยู่ไม่น้อยทีเดียว

น่าเสียดายที่การเดินเกมเร็วในรอบนี้ มีการเร่งรัดในเรื่องของเวลามากจนเกินไปโดยที่ไม่ได้ดูในเรื่องของการคัดสรรตัวแทนทุกภาคส่วนให้มาเป็นคณะกรรมการที่จะเข้ามามีบทบาทในการกลั่นกรองอย่างครบถ้วน ครบด้านนำไปสู่การคัดสรรนักการเมืองที่มีคุณภาพ คัดตัวแทนของประชาชนที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น จะมีความสำคัญกับประชาชน ที่ควรเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ และนำไปสู่การเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งคนในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยเฉพาะการคัดกรองคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อตัวแทนตรงนี้ เพราะที่ผ่านมาจากความขัดแย้งเกิดขึ้นประชาชนสามารถวิปัสสนาหรือหาคำตอบเองล่วงหน้าได้ จากการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระบางองค์กร จนเกิดความเคลือบแคลง แสดงให้เห็นว่าระบบนิติรัฐและนิติธรรมของบ้านเราถูกตั้งคำถาม

สิ่งหนึ่งของการเดินหน้าทางการเมืองรอบนี้ ควรพึงสังวรว่าระบบนิติรัฐและนิติธรรม ที่เขียนตัวหนังสือหรือตัวอักษรในรัฐธรรมนูญนั้น จะไม่นำไปสู่การตีความ ที่เกิดความคลุมเครือ หรือตัวอักษรดิ้นได้ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง คิดว่าสาระสำคัญที่สุดตอนนี้ คือ ประชาชนต้องการความโปร่งใสมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image