ชี้เป้า ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ปลดล็อก-เปิดกว้าง 

ชี้เป้า ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ปลดล็อก-เปิดกว้าง

“เป็นการประเดิมซอฟต์เพาเวอร์” คำประกาศเจตนารมณ์ของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่สวมใส่เสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าขาวม้าฝีมือดีไซเนอร์ไทย ปรากฏตัวคู่กับ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ก่อนตบเท้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์นัดแรก เพื่อเดินหน้าเต็มสูบ

ทีม “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” ระดมผู้เชี่ยวชาญจาก 11 สาขา ทั้งด้านอาหาร กีฬา เทศกาล (เฟสติวัล) เกม ภาพยนตร์ หนังสือ ดนตรี การออกแบบ แฟชั่น ท่องเที่ยว และศิลปะ มาร่วมหาเป้าหมาย วางแนวทางเพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนเข้าเป้า ตรงจุด ปลุกคนไทย บุกเฉิดฉายในเวทีโลก

20 กว่าล้านชีวิต คือเป้าหมายผู้ที่จะถูกผลักดันให้เป็น “แรงงานที่มีทักษะสูง” และ 4 ล้านล้านบาท/ปี เป็นเม็ดเงินที่คาดว่าจะทะลักเข้าประเทศอย่างกับเป็น “พาสซีฟ อินคัม”

แต่เครื่องมือนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ดันขีดความสามารถในการแข่งขัน พลิกฟื้นความเชื่อมั่นในเวทีโลกได้จริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง

Advertisement

เมื่อตั้งเป้าสุดท้าทาย “สร้างแนวรุกระดับโลก” ทางฟากกลุ่มภาพยนตร์ หนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ที่สำคัญ เรียกร้องเกี่ยวกับการถูกเซ็นเซอร์ห้ามฉาย ตกม้าตายเมื่อไปถึง “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ” กลั่นกรองไม่ให้เนื้อหาขัดวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดี ฉุดความสามารถของคนไทยให้ไปได้ไม่ไกลไล่ไม่ทันโลก

นอกจากนี้ หากโฟกัสไปยัง “ภาพยนตร์” อุตสาหกรรมสร้างเม็ดเงินมหาศาล พบว่ายังคงติดพันปัญหาหลายอย่าง

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนคนในวงการหนัง และนักการเมืองร่วมให้มุมมองที่น่าสนใจ ในเสวนาหัวข้อ “เอายังไงดีกับกองเซ็นเซอร์ : บทบาทของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ภายใต้รัฐบาลซอฟต์เพาเวอร์”

Advertisement

มีความเห็นจาก “โชคชัย ชยวัฑโฒ” ผู้อำนวยการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (MPC) มองว่าสิ่งที่ภาครัฐทำตอนนี้ คือการกำกับดูแลมากกว่าหนุนเสริม

“พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ยกเลิกเสีย เปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการส่งเสริมแทน ถ้ามองว่าภาพยนตร์คือซอฟต์เพาเวอร์สำคัญ มันต้องส่งเสริม ไม่ใช่กำกับดูแลความคิดสร้างสรรค์”

คนในวงการหนังหยิบยกความย้อนแย้งอย่างฉากพระโดนแบน แต่หน้าข่าวปรากฏว่า “พระเสพเมถุน”
“ไม่ใช่ความร่วมสมัย คือความล้าสมัยมากกว่า ถ้าร่วมสมัยจริงต้องหยิบเอาข่าวหน้า 1 นั้นมาตีแผ่ และถอดบทเรียนออกมา ผู้กำกับหลายคนอยากทำเรื่อง ‘กำนันนก’ แต่ท้ายสุดจะไปแตะต้องถึงรูปคดีได้อย่างไร เพราะเราก็รู้ว่าไปได้ไม่สุดอยู่แล้ว ถึงเวลาหรือยังที่คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์จะสามารถตรวจพิจารณากันเองได้”

ผู้อำนวยการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หวังรัฐบาลใหม่ช่วยปลดล็อกวงการหนังออกจากกระบวนการควบคุม เพราะมองว่าคือสาเหตุสำคัญของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความคิดสร้างสรรค์
หยิบวิธีของต่างประเทศมาเสนอ คือให้คณะกรรมการปล่อยเรตตามผู้เสนอ แล้วรับผิดชอบร่วมกัน

“นั่นหมายความว่า ถ้ามีองค์กรศาสนา เครือข่ายที่จะด่าภาพยนตร์ เขาจะบุกมาที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์เพื่อจะขอเอาผิด จริงๆ ภาพยนตร์ที่ออกไปมีกฎหมายเอาผิดเยอะแยะมากมายอยู่แล้ว” โชคชัยชวนคิด

มาที่ “ศิธา ทิวารี” สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เปิดฉากย้ำว่า การเซ็นเซอร์ต้องบาลานซ์ เพราะในบางมุมแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร มิหนำซ้ำยิ่งปิดกั้น ยิ่งขยายประเด็นให้คนอยากรู้อยากเห็น

พร้อมนิยาม “ซอฟต์เพาเวอร์” คือการเอาความนุ่มนวลอ่อนช้อย ความสวยงาม ไพเราะเพราะพริ้ง ความอร่อย ความบันเทิงเริงรมย์ จูงใจให้เขามาทำในสิ่งที่เราต้องการ ต่างจาก “ฮาร์ดเพาเวอร์” เกิดจากบังคับขู่เข็ญให้เกิดความนิยม อย่างการใช้กำลังบีบบังคับ หรือใช้กฎหมาย

“เรื่องเหล้าเบียร์ก็เหมือนกัน เสียประโยชน์ซอฟต์เพาเวอร์ รายเล็กโดนห้าม ไปผลิตที่เวียดนามแล้วส่งมาขายที่เมืองไทย รายได้เข้าเวียดนาม ปรากฏว่าคนไทยทำเก่ง ได้รางวัลระดับโลก แต่รางวัลเป็นของเวียดนาม ก็จะเกิดกับภาพยนตร์ไทย สมองจะไหล สิ่งที่เขาตัดออกคือตัดลูกยอด ที่น่าเบื่อหน่ายไม่มีอะไรให้ตัด กลายเป็นไม่มีคนดู รายได้น้อย สรุปคือไม่ได้ประโยชน์อะไรสักด้าน เกิดขึ้นกับทั้งในเรื่อง Sex Worker การพนัน เรื่องหนัง อาวุธปืน สุรา”

“ศิธา” ชี้ว่า ด้วยจุดนี้ที่ทำให้รายได้ของประเทศหดหาย

ในปัจจุบันเราต้องการหาเงินเข้าประเทศ ต้องการให้คนมาเที่ยวบ้านเรา เคยเห็นหลายประเทศอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น เขาใช้ซอฟต์เพาเวอร์ได้อย่างมีประสิทธิผล เราจะทำบ้างแต่เรายังไม่เข้าใจ ก็ไปขายวัฒนธรรมแล้วบอกว่านี่คือซอฟต์เพาเวอร์ มันไม่ใช่ มันคือการทำอะไรที่จะอิงวัฒนธรรม หรืออะไรก็ได้ นิยามของผมคือความเป็นไทย (thainess) บวกกับ Global mindset คือเราต้องทำในสิ่งที่ทั้งโลกเขาทำก่อน แล้วดึงเอาจุดขายความเป็นไทยเข้ามา

อย่าง “ต้มยำกุ้ง” เป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้ คนไทยกินตักทีละช้อนกินพร้อมข้าว แต่ Global Mindset คือฝรั่งกินซุปก่อนอาหาร จึงต้องมีการพลิกแพลงในบางมุม

“ข้าวเหนียวมะม่วงไม่ใช่ซอฟต์เพาเวอร์ ซอฟต์เพาเวอร์คือมิลลิ เอาข้าวเหนียวมะม่วงไปทานแล้วคนก็อยากกิน เลยไปซื้อจนขาดตลาด หรือเข้ามาเมืองไทยเพื่อกินข้าวเหนียวมะม่วง ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังปิดกั้นอะไรหลายๆ อย่าง เราไม่สามารถที่จะโตได้”

“ศิธา” เชื่อมั่นว่า “สุราไทย” เป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้แน่ ถ้าเปิดกว้างให้ทุกจังหวัดมีสุราเป็นของตัวเอง แล้วนำมาแมตช์กับอาหารพื้นถิ่น สร้างสตอรี่ให้คนอยากมาลอง

“ฝากถึงรัฐบาลง่ายๆ รัฐบาลนี้เป็นนักธุรกิจ สามารถคุยกับต่างประเทศได้ คุณมีสินค้าชาเนล หลุยส์วิตตอง ตัววัตถุดิบของไทยดีๆ มีเยอะ คุณไปคุยแล้วขอสักอันนึงได้ไหม เอากระเป๋าทำจากผ้าฝ้ายอันนี้มาคอลแลบส์กัน แบรนด์ไทยก็จะไปได้ด้วย

ตั้งเป้าว่า ไปประเทศหนึ่งให้ได้สัก 2-3 เจ้า ทั้งภาพยนตร์ เพลง เราสามารถที่จะขายได้ เอามาผูกกับสินค้าไทย การเชิญชวนมาเที่ยวไทย อย่างนี้จะสร้างงาน สร้างรายได้

“และทุกภูมิภาคสนับสนุนให้เขามีการแข่งขัน มีการประกวดเหมือนโอท็อป ทำให้เห็นแล้ว สามารถดึงเงินเข้าประเทศได้จริง” ศิธาออกไอเดีย

เป็นความเห็นส่วนหนึ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image