วิโรจน์ จี้ ผบ.ทร.ตอบ พร้อมรับผิดชอบไหม หากทัพเรือทำไอโอผิดกม. ซัด อย่าให้ซ้ำรอย GT200

วิโรจน์ จี้ ผบ.ทร.ตอบ พร้อมรับผิดชอบหรือไม่ หาก ทัพเรือทำไอโอผิดกม. ซัด อย่าให้ซ้ำรอย GT200

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงกรณี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. แถลงนโยบายรับตำแหน่งเตรียมกำกับดูแลการทำประชาสัมพันธ์ และปฏิบัติการข่าวสาร (ไอโอ) ของกองทัพเรือ โดยระบุว่า ยิ่งทำ IO ยิ่งทำให้กองทัพตกต่ำไปกันใหญ่ ความโปร่งใสเท่านั้นที่จะกู้ศรัทธากองทัพได้

โดยระบุว่า จากกรณีที่ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม อดีต ผบ.กองเรือยุทธการ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ คนล่าสุด ได้แถลงนโยบายรับตำแหน่ง โดยจะทำหน้าที่กำกับดูแลงานประชาสัมพันธ์ และการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO: Information Operation) ด้วยตัวเอง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกที่ดีต่อกองทัพเรือ

เบื้องต้นต้องความเข้าใจให้ตรงกันก่อน หากการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ ผบ.ทร.พูดถึง เป็นการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสต่อประชาชน ผมในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ก็พร้อมสนับสนุนการทำงานของกองทัพเรือ และเหล่าทัพอื่นๆ อย่างเต็มที่

Advertisement

แต่ถ้าหากการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ว่า เป็นการ Propaganda โฆษณาชวนเชื่อ เผยแพร่ข้อมูลด้านเดียว เพื่อหวังสร้างภาพให้แก่กองทัพ หรือหวังลวงให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เหมาะสม หรือซ้ำร้าย คือ การปฏิบัติการในลักษณะยุยง ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน ถ้าเป็นแบบนี้ ผมก็อยากจะแนะนำว่าอย่าได้ทำเลย เพราะในระยะยาว มีแต่จะบั่นทอนความไว้วางใจของประชาชน ทำลายเกียรติภูมิของกองทัพ จนไม่อาจกู้ศรัทธากลับมาได้

ผมไม่ได้เห็นแย้งกับ ผบ.ทร. ที่แบ่งกลุ่มประชาชนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก 10% คือ คนที่มีทัศนคติเชิงลบต่อกองทัพ 80% เป็นกลุ่มคนกลางๆ และอีก 10% เป็นกลุ่มที่อยู่ฝักฝ่ายเดียวกับกองทัพอยู่แล้ว

การทำ IO กับประชาชน อาจจะทำให้กองทัพสำคัญผิด เพราะจะทำให้กลุ่ม 10% ที่อยู่ในฝักฝ่ายเดียวกันกับกองทัพรู้สึกฮึกเหิมมากขึ้น จนกองทัพหลงคิดไปเองว่า มีประชาชนสนับสนุนกองทัพเพิ่มขึ้น แต่ 10% ก็จะยังคงเป็น 10% อยู่วันยังค่ำครับ เพียงแต่ 10% แค่ฮึกเหิมมากขึ้นเท่านั้นเอง ในขณะเดียวกันประชาชนในกลุ่ม 80% ที่ทราบในภายหลังว่ากองทัพปฏิบัติการ IO กับประชาชน ก็จะยิ่งรู้สึกหมดศรัทธา และรู้สึกแย่กับกองทัพ ซึ่งจะทำให้กลุ่มประชาชนที่มีทัศนคติเชิงลบต่อกองทัพมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จาก 10% ก็อาจจะกลายเป็น 10%+80% = 90% ในที่สุด

Advertisement

ยิ่งกลุ่ม 10% ที่อยู่ฝักฝ่ายเดียวกับกองทัพ ถูกปฏิบัติการ IO ยุยงปลุกปั่นมากๆ เข้า จากความเห็นต่าง ก็จะกลายเป็นความขัดแย้ง จากความขัดแย้ง ก็จะกลายเป็นการคุกคามตอบโต้คนเห็นต่าง ทีนี้ก็จะยิ่งสร้างภาพลักษณ์ความเป็นอันธพาล ให้แก่กองทัพ และจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพตกต่ำมากขึ้น

กรณีที่มีการขึ้นสไลด์ว่า ผบ.ทร.จะเข้ามากำกับดูแลปฏิบัติการ IO ด้วยตนเอง ก็ต้องถามยืนยันว่า หากปฏิบัติการ IO นั้น เข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ผบ.ทร.ก็พร้อมรับผิดทั้งทางแพ่ง และทางอาญาใช่หรือไม่ และจะไม่ซ้ำรอยกับกรณี GT200 ที่ไม่มีนายทหารระดับสูงคนใดกล้าหาญออกมารับผิดชอบใช่ไหม

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการปฏิบัติการ IO ผมขอแนะนำให้ ผบ.ทร.ย้อนกลับอ่าน “คู่มือราชการสนาม ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ (รส.100-20) ที่ได้ย้ำเอาไว้ว่าการปฏิบัติการการสร้างข่าวลวง และข่าวเท็จในการใส่ร้ายป้ายสี นั้นจะต้องใช้กับฝ่ายตรงข้าม ในสภาวะสงครามเท่านั้น และในคู่มือ ยังเน้นอีกด้วยว่า ห้ามมิให้ใช้การปฏิบัติการดังกล่าวกับฝ่ายพลเรือน ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกัน กองทัพจึงไม่สามารถนำเงินภาษีของประชาชน มาปฏิบัติการ IO กับประชาชนได้

ผบ.ทร.ที่เคยเป็นถึงอดีต ผบ.กองเรือยุทธการ ถ้าได้อ่านคู่มือราชการสนาม รส.100-20 คงจะเข้าใจได้ไม่ยาก ถ้ากองทัพปฏิบัติการ IO กับประชาชนก็เท่ากับว่ากองทัพมองประชาชนเป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้าม หากเริ่มต้นก็มองประชาชนอย่างนี้แล้วจะให้ประชาชนรู้สึกดีต่อกองทัพได้อย่างไร

ผมเข้าใจดีว่า สิ่งที่ ผบ.ทร.ต้องการ คือการทำให้ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่น และไว้วางใจในกองทัพ ซึ่งเป็นความตั้งใจดีที่ผมเห็นด้วย แต่ความเชื่อใจของประชาชน จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อกองทัพมีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา จนประชาชนสิ้นข้อสงสัย ไม่ใช่การปฏิบัติการ IO ที่ลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ ภายใต้แดนสนธยา ที่ลึกลับดำมืด ตรวจสอบอะไรไม่ได้ แล้วอยู่ดีๆ ขยะใต้พรม เงินทอน และการคอร์รัปชั่น ก็โผล่ขึ้นมาประจานตัวมันเอง

ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา เวลาที่คณะกรรมาธิการการทหารเชิญนายทหารระดับบังคับบัญชามาชี้แจงข้อสงสัย ก็มักจะไม่ได้รับความร่วมมือ ไม่มาชี้แจง เอกสารก็ไม่ตอบ บางทีก็ส่งเพียงนายทหารใต้บังคับบัญชามานั่งเฉยๆ โดยไม่ยอมให้ข้อมูลอะไรต่อคณะกรรมาธิการเลย พฤติกรรมที่เหล่านี้ ล้วนบั่นทอนความน่าเชื่อถือของกองทัพมาไปเรื่อยๆ จนประชาชนหมดศรัทธา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ทางกองทัพเรือ และเหล่าทัพต่างๆ จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการการทหารในชุดที่ผมได้รับเกียรติให้เป็นประธาน

ผมยืนยันได้ว่า ความร่วมมือที่เหล่าทัพให้กับคณะกรรมาธิการการทหารจะเป็นกลไกสำคัญที่จะกู้ศรัทธา และเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกองทัพให้กลับมาได้อย่างมีนัยสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image