“ดุลยภาค ปรีชารัชช” ประเมินทิศทางกองทัพ ปี’60

หมายเหตุ – ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ประเด็นประเมินทิศทางกองทัพในช่วงโค้งสุดท้ายโรดแมป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2560

มองทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาล-คสช.จะเป็นอย่างไรในปี”60

รัฐบาล-คสช. มีภารกิจหลักอย่างน้อย 5 ประการ คือ 1.วางรากฐานพัฒนาประเทศผ่านนโยบาย และโครงการสาธารณะต่างๆ 2.ประคับประคองให้การเปลี่ยนผ่านเต็มไปด้วยความสงบราบรื่น 3.สร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรความมั่นคงและกองทัพ 4.สะสางคดีทุจริตคอร์รัปชั่นและลดพลังเครือข่ายตระกูลชินวัตร

และ 5.จัดการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การสร้างสถาบันการเมืองใหม่ใต้กรอบรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ คิดว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้กลิ่นอายแบบอำนาจนิยมอยู่ แม้ว่าจะพยายามพัฒนาประชาธิปไตยผ่านมิติธรรมาภิบาลก็ตาม แต่ตั้งแต่ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ทำรัฐประหาร จนถึงอนาคตในปี?60 จะพบเห็นการแปลงสัณฐานของระบอบการเมืองไทย จากระบอบเผด็จการทหารที่ใช้อำนาจเด็ดขาดของ คสช.ระยะแรก แทบไม่ต่างอะไรจากระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เมื่อมีการก่อรูปของโครงข่ายแม่น้ำห้าสาย โดยเฉพาะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รัฐไทยเริ่มแปลงรูปเข้าสู่ระบอบอำนาจนิยมทหารแบบคอร์โปเรตติสม์ (Corporatism) คือ มีทั้งการครองอำนาจของชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการ และมีการส่งตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อเข้าไปร่วมมือกับรัฐบาลโดยมีเป้าหมายร่วมกันคือสร้างความสงบปรองดองและปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพียงแต่กลไกบริหารรัฐทุกอย่างนั้น คสช.ยังทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการควบคุมจัดระเบียบอยู่ ถ้ามีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในปี?60 หรือหลังจากนั้นมาบ้าง รัฐไทยจะก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่ง เป็นระบอบพันทาง หรือไฮบริด (Hybrid Regime) คือ มีการนำพลังอำนาจนิยมเข้าไปผสมผสานกับประชาธิปไตย หรือนำพลังทหาร-ข้าราชการ ไปผสมกับพลังอื่นๆ

Advertisement

วิเคราะห์สวนทางรัฐบาลและ คสช.ที่เชื่อว่าดำเนินการตามกรอบโรดแมป มีการเลือกตั้ง เดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ผมเชื่อแบบนั้น มีการเลือกตั้ง แต่ยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบแบบไทยๆ อยู่ดี คือ กลุ่มชนชั้นนำในระบอบประยุทธ์ ล้วนเต็มไปด้วยนักการทหาร มีธรรมชาติของความเป็นนักยุทธศาสตร์ ตามปกติ นักยุทธศาสตร์ที่เข้ามากุมอำนาจในระยะเปลี่ยนผ่านมักวางแผนรอบคอบในลักษณะเป็นขั้นเป็นตอนและมีห้วงปฏิบัติงานที่ชัดเจน โดยจะเร่งระดมทรัพยากรการเมืองเพื่อเข้าแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปเป็นช่วงๆ ทีละเปลาะ ตามลำดับขั้น โดย คสช.จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้ามีเหตุขัดข้อง อาจต้องเลื่อนเวลาออกไปตามความเหมาะสม ตรงจุดนี้เองผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยจากบนลงล่าง หรือประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบผ่านการตกลงเจรจาในหมู่ชนชั้นนำ

ระบอบที่ คสช.กำลังจะเนรมิตให้สังคมไทย จะมีปัญหาหรือไม่

มองโครงสร้างประชาธิปไตยที่ถูกเนรมิตขึ้นโดย คสช. ยังสะท้อนปัญหาคลาสสิกและวัฏจักรการเมืองเดิมๆ อยู่ดี ถ้ายังแบ่งโครงสร้างการเมืองการปกครองในมิติมหภาค คือ โครงสร้างส่วนบน เช่น รัฐธรรมนูญ รัฐบาล รัฐสภา โครงสร้างส่วนกลาง เช่น พรรคการเมือง ส่วนกลุ่มผลประโยชน์ สื่อมวลชน และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปกครองท้องถิ่น ผมคิดว่า รัฐบาล-คสช. ได้เน้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างส่วนบนเป็นอย่างมาก โดยปล่อยให้โครงสร้างส่วนกลางและส่วนพื้นฐานมีความอ่อนแอและขาดอำนาจในการพัฒนาการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะขาดสมดุลของโครงสร้างปกครองสามฐานในการพัฒนาประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศระยะยาว

Advertisement

ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลประยุทธ์ได้เน้นย้ำถึงแผนพัฒนาประเทศผ่านการเชื่อมโยงภูมิภาค เมือง ชุมชน พร้อมระดมความเจริญเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ผ่านโครงข่ายโลจิสติกส์ ทั้งๆ ที่สถาบันการเมืองที่มีสมรรถนะในการรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ยังคงเดินหน้าไปไม่เต็มที่ ผมคิดว่าเมืองไทยจะเจอปัญหาใหญ่ในเรื่องการผุกร่อนทางการเมือง (Political Decay) ตามทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Huntington ที่บอกว่า ถ้ามีอัตราความเจริญทางการเมือง (Political Modernization) จนคนไทยมีความตื่นตัวอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดผลักดันนโยบายสาธารณะ หรือปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองกันมากขึ้น แต่การพัฒนาการเมือง (Political Development) เช่น การจัดตั้งสถาบันการเมืองที่เปิดกว้างเสรี ยังคงมีระดับต่ำ เนื่องจากยังตกอยู่ใต้การควบคุมของมรดกอำนาจนิยม เมื่อนั้นการผุกร่อนทางการเมืองซึ่งได้แก่ความวุ่นวายและการพยายามล้มล้างระบอบการเมืองเก่า ย่อมจะก่อตัวหมุนเวียนขึ้นมาเป็นวัฏจักรซ้ำๆ อยู่ร่ำไป

พอจะอธิบายตัวอย่างประกอบได้ไหม

เห็นได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยช่วงระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งหากรัฐบาลนี้ยังคงสร้างภาวะสมดุลไม่ได้อย่างเหมาะเจาะระหว่างโครงสร้างรัฐส่วนต่างๆ และระหว่างความเจริญตื่นตัวทางการเมืองกับการพัฒนาสถาบันการเมือง เมื่อนั้นวัฏจักรวงจรเดิมในห้วงประวัติศาสตร์จะก่อตัวสืบเนื่องอยู่เป็นพักๆ นั่นก็คือ มีรัฐประหาร มีการปกครองระบอบเผด็จการทหาร มีการประกาศรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง จนนำไปสู่กระบวนการทางรัฐสภาและการตั้งรัฐบาลใหม่ แต่แล้วก็เกิดความขัดแย้งและการต่อต้านจากประชาชนหรือขั้วอำนาจที่ไม่พอใจระบอบที่เป็นอยู่ จนเกิดวิฤตการณ์ความรุนแรง นำไปสู่การรัฐประหาร

ประเมินบทบาทกองทัพจะเป็นฐานให้ คสช.เดินตามโรดแมปหรือไม่

แน่นอน โรดแมป คสช.ส่วนหนึ่งถูกประดิษฐ์คิดค้นโดยนักการทหารและถูกขับเคลื่อนโดยกำลังกองทัพ ความสำเร็จตามห้วงเวลาต่างๆ ย่อมขึ้นอยู่กับการระดมทรัพยากรในกองทัพ เพื่อให้งานเสร็จตามกำหนด โดยเฉพาะกองทัพบก มีการจัดองค์กรเป็นรัฐซ้อนรัฐและมีการจัดแผนกสายงานที่สามารถเข้าปกครองรัฐ คสช.เองมีกลวิธีในการจัดระเบียบกุมอำนาจกองทัพเพื่อใช้เป็นฐานกำลังสำหรับผลักดันโรดแมปได้อย่างชาญฉลาด

เช่น ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจนำทางการเมือง มีการเปลี่ยน ผบ.ทบ.มาแล้วถึง 3 ท่าน แต่ละท่านจะมีอายุงานแค่หนึ่งปีเท่านั้น ทำให้ ผบ.ทบ.ไม่สามารถสืบทอดระดมอำนาจจนเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลและ คสช.ได้ ส่วนเรื่อง ผบ.ทบ.คนใหม่ที่มีพื้นเพมาจากสายรบพิเศษ เหมือน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งไม่เหมือนกับสายบูรพาพยัคฆ์แบบ ผบ.ทบ. ท่านก่อนๆ บางคนก็คิดว่าเป็นรอยปริแยกในการเลือกสรร ผบ.ทบ. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ในทางตรงกันข้ามบางคนคิดว่าเป็นผลดีต่อกองทัพซะอีก เพราะเปิดโอกาสให้ทหารสายอื่นได้ผงาดเข้ากุมอำนาจในกองทัพบกบ้าง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีก คสช.ได้เข้าไปปรับโครงสร้างกองทัพแบบถี่ถ้วนทั้งระบบเรียบร้อยแล้ว ทำให้เกิดความเหนียวแน่นในหมู่ชนชั้นนำทหาร และทำให้ทหารถูกบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจการบริหารรัฐอย่างเต็มรูป พร้อมส่งผลให้ทั้งกองทัพและ คสช. สามารถเข้าไปแผ่ปริมณฑลอำนาจได้ถึง 5 ส่วนหลัก นั่นก็คือ 1.การให้ทหารก้าวเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงๆ ในโครงสร้างรัฐ 2.การมีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะ 3.การรักษาความมั่นคงภายใน 4.การคงภารกิจป้องกันประเทศ และ 5.การได้รับประโยชน์ภายในองค์กร เช่น เรื่องงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

เมื่อมองกองทัพมีความเป็นเอกภาพ เชื่อว่าจะเป็นฐานให้ คสช.ประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นไปตามกรอบโรดแมป

ที่อธิบายปริมณฑล 5 ส่วนแล้ว กองทัพก็ต้องเป็นฐานให้ คสช.ต่อไปอีกสักระยะอยู่ดี เพราะได้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันและไม่สามารถแยกขาดกันได้ แต่สิ่งนี้เองที่นักรัฐศาสตร์เยอรมันอย่าง Croissant กลับมองว่าเป็นปัญหาที่บั่นทอนหลักความเหนือกว่าของพลเรือน (Civilian Supremacy) หรือพูดอีกแง่ คือ คสช.ได้สร้างรัฐทหารที่กันอิทธิพลพลเรือนในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่านไว้เรียบร้อยแล้ว

จะเกิดปัจจัยหรือตัวแปรที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้หรือไม่ จนส่งผลให้โรดแมปขยับการเลือกตั้งเลื่อน

มีหลายปัจจัย ทั้งตัวแปรต้นและตัวแปรแทรกซ้อน แต่ในที่นี้ ผมขอยกประเด็นเฉพาะเรื่องการเจรจาต่อรองในหมู่ชนชั้นนำในฐานะปัจจัยหลัก ซึ่งหากชนชั้นนำสามารถไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันได้การเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปตามโรดแมป แต่ถ้าไม่ได้หรือมีอาการติดขัด อาจต้องเลื่อนขยับออกไปก่อน สำหรับผม แม้จะมีการพุ่งเป้าไปที่การเจรจาระหว่าง คสช.กับกลุ่มอำนาจตระกูลชินวัตร แต่คิดว่าขีดอำนาจของค่ายทักษิณเริ่มเสียดุลและถ่างห่างออกจากกลุ่มพลังประยุทธ์มากขึ้นทุกที และถ้ามองให้กว้างขึ้นและลึกลงไปถึงรากฐานรัฐและสังคม

ผมเชื่อว่าความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองไทยจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงการเจรจาเชิงอำนาจที่ตีคู่ขนานกันที่เป็นงานหนักที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องร่วมเจรจาประสานประโยชน์ร่วมกับกลุ่มอำนาจอื่นๆ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและทันเวลาตามกำหนด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image