สภาฯเห็นชอบตั้ง กมธ.สร้างสันติภาพชายแดนใต้ มี จาตุรนต์-ช่อ-กัณวีร์ บิ๊กเนมพรึบ

สภาฯเห็นชอบตั้ง กมธ.สร้างสันติภาพชายแดนใต้ มี จาตุรนต์-ช่อ-กัณวีร์ บิ๊กเนมพรึบ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ที่พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคเพื่อไทย ร่วมเสนอ

ทั้งนี้ ภายหลังเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายกันอย่างขวาง นานกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งกมธ. โดยไม่ต้องลงมติ จำนวน 35 คน ตามสัดส่วนดังนี้ ส่วนตัวของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 คน ประกอบด้วย 1.นายวัลลภ นาคบัว 2.นายนันทพงษ์ สุวรรณรัตน์ 3.นายสรพงค์ ศรียานงค์ 4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง 5.นายซูการ์โน มะทา 6.นายซาการิยา สะอิ 7.นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ และ 8.นายอะห์หมัด บอสตา

สัดส่วนของพรรคก้าวไกล 8 คน ประกอบด้วย 1.นายรอมฎอน ปันจอร์ 2.น.ส.ธิษะณา ชุนหะวัน 3.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม 4.นายกัณวีร์ สืบแสง 5.นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี 6.น.ส.พรรณิการ์ วานิช 7.น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และ 8.นายมะยุ เจ๊ะนะ

Advertisement

สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 8 คน ประกอบด้วย 1.นายสุธรรม แสงประทุม 2.นายอาลีฟี มินเซน 3.นายอรรถชาญ เชาวน์วานิชย์ 4.นายอาหมัดบูรฮัน ติพอง 5.น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช  6.นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ7.น.ส.กฤตทัศชญา ดิษฐเนตร และ 8. นายมูหามัดเปาซี อาลีฮา

สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย 4 คน ประกอบด้วย 1.นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ 2.น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา 3.นายนัจมุดดีน อูมา และ 4.นายจตุรนต์ เอี่ยมโสภา  สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ 2 คน ประกอบด้วย 1.นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ 2.นายคอซีย์ มามุ

สัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน ประกอบด้วย 1.นายวัชระ ยาวอหะซัน 2.นายสมโภช โชติชูช่วง สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน คือ นายกูเฮง ยาวอหะซัน สัดส่วนของพรรคประชาชาติ 1 คน คือ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ 

Advertisement

ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ. ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงทิศทางการทำงานของกมธ.ดังกล่าว โดยระบุว่า สภาควรจะมีบทบาทอย่างไร จากการผลักดันให้เกิดขึ้นของ กมธ.วิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

1.ควรทำความเข้าใจปัญหาและกระบวนการแก้ปัญหา มีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาสร้างสันติภาพสร้างสันติสุข 2.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชน ต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ปัญหา 3.ส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัด ให้การพัฒนาต่างๆ เป็นการพัฒนาที่ประชาชนใน 3 จังหวัดมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ

เขาจึงจะรู้สึกว่า ความรุนแรงต่างๆไม่เป็นประโยชน์ เพราะมันขัดขวางกีดขวางการพัฒนาที่พวกเขากำลังจะได้ประโยชน์ ให้ชาวสามจังหวัดมีความรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนทั้งประเทศว่า เราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศนี้ ได้ประโยชน์จากการพัฒนาประเทศนี้ร่วมกัน เนื่องจากเราทุกคนเป็นผู้กำหนด

4.คณะกรรมาธิการต้องไปศึกษาและเผยแพร่ ข้อค้นพบต่างๆ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบ และทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งประเทศให้เข้าใจว่าปัญหาของสามจังหวัดชายแดนใต้คืออะไร เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยู่นอก 3 จังหวัดได้รับข้อมูลข่าวสารเฉพาะเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อไหร่ที่ไหน หรือมีคนบาดเจ็บกี่คน มีคนตายกี่คนแล้วก็ลืมๆกันไป

แต่ไม่มีใครมาบอกว่า ปัญหาจริงๆคืออะไร สังคมพหุวัฒนธรรมคืออะไร ความไม่ยุติธรรมความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเกิดกับประชาชนมีอะไรบ้างกลับไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้น การที่สภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการที่เราจะแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะ จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจว่า ปัญหานี้คืออะไร จะช่วยกันทำอย่างไรให้มีการจัดความสำคัญที่ถูกต้องที่ดีงามระหว่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับประชาชนนอก 3 จังหวัด ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศไทยเช่นกัน ร่วมสร้างประเทศนี้มาด้วยกัน และจะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศนี้ทั้งประเทศนี้ร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image