สแกน 1 เดือน ‘รบ.เศรษฐา’ ลุย ‘โรดโชว์-นโยบาย’ ปลุกเศรษฐกิจ

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชนและนักวิชาการต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่บริหารประเทศครบ 1 เดือน หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยติดตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา นับว่ามีความคืบหน้าระยะสั้นหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรอย่างยิ่ง อาทิ

1.มาตรการลดค่าไฟฟ้า และน้ำมันที่เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการทุกขนาด ขณะที่ระยะต่อไปควรเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างต้นทุนและราคาพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมพลังงานสีเขียว และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ต้องเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ ซัพพลายเชนให้รองรับทั้งเทคโนโลยีการแปลงระบบเครื่องยนต์จากสันดาปไปเป็นระบบไฟฟ้า สิทธิประโยชน์ทางภาษีรวมทั้งการรับรองคุณภาพมาตรฐานต่างๆ เป็นต้น

ADVERTISMENT

2.มาตรการพักหนี้และฟื้นฟูเกษตรกรและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย นโยบายต้องทำในรูปแบบที่ส่งเสริมความยั่งยืน มีระบบการไกล่เกลี่ยที่เป็นธรรม ถอดบทเรียนเพื่อบ่มเพาะทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน มีวินัยทางการเงิน และสร้างแผนธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนนำความสร้างสรรค์ นวัตกรรมเข้ามาใช้ในการกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่พร้อมทั้งเติมแหล่งทุนต้นทุนต่ำให้ด้วย สิ่งสำคัญ คือ มาตรการนี้ควรให้มุ่งกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอี รหัส 21 ทั่งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนเอสเอ็มอีที่ใช้สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิตมาทำธุรกิจ ต้องใช้มาตรการพิเศษมาช่วยปรับขยายระยะเวลาชำระหนี้ และดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้ต่ำลง รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีที่ถูกขายหนี้ AMC รหัส 42 ต้องมีแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ในรายที่ยังฟื้นฟูได้ ให้กลับมาดำเนินการธุรกิจได้

3.การผลักดัน 1 Soft Power 1 ครอบครัว เป็นนโยบายที่จะช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ 5F Food Fashion Festival Fight Film เป็นต้น ซึ่งเป็นการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการและแรงงาน สู่งานที่มีคุณค่าด้วยการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มรวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการตลาดในการขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ

ADVERTISMENT

4.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน รวมทั้งการเร่งปรับปรุงความพร้อมสนามบินรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวให้เพียงพอ เป็นสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ต้องส่งเสริม สนับสนุนของภาครัฐเพิ่มเติม คือ มาตรการระบบรักษาความปลอดภัยสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ การสื่อสารภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศเชิงรุก การเร่งยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน ทักษะขีดความสามารถของผู้ประกอบการและแรงงานภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำในการปรับปรุงธุรกิจ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว

5.Digital wallet เป็นนโยบายที่มีความทันสมัยและเป็นสิ่งที่ดีกับการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลและเร่งเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในการเพิ่มกำลังซื้อทั่วประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นอาจแบ่งเป็น 1 กลุ่มเกษตรกรรายได้ต่ำ 2 กลุ่มแรงงานนอกระบบรายได้ต่ำ 3 กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน 4 กลุ่มอื่นๆ ที่มีรายได้ต่ำ หรือผู้ว่างงาน เพื่อการประกอบอาชีพ

ขณะที่การใช้ Digital wallet ควรมีวัตถุประสงค์นอกจากการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันแล้ว ควรให้สามารถนำไปสร้างงาน สร้างอาชีพได้ด้วยให้เกิดความยั่งยืน อาทิ ซื้อธุรกิจเฟรนไชส์ ซื้อวัตถุดิบ เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร ปัจจัยการผลิตมาทำงานประกอบอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกำลังใจให้รัฐบาลและภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์ข้างต้นให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในแง่บวกอย่างรวดเร็ว และคำนึงถึงการยึดมั่นเศรษฐกิจพอเพียง ยืดหยุ่น เศรษฐกิจแบ่งปัน ยืนหยัดเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มุ่งสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

หากให้คะแนนการทำงาน เป็นที่น่าพอใจ ให้ 8 คะแนน เต็ม 10 คะแนน

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

ภาพการทำงานของรัฐบาลใหม่ นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 นั้น ประเมินผลช่วง 1 เดือนแรกที่ผ่านมา ถือว่าสอบผ่านแบบให้คะแนนเต็มร้อย เนื่องจากภาคเอกชนได้มองว่า หากพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็อยากให้มีรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นคนจากพรรคการเมืองนั้นๆ นายเศรษฐา ที่มาจากพรรคเพื่อไทย ก็มอบตำแหน่งให้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือว่าเป็นการฟังเสียงของภาคเอกชนที่ส่งไปถึง ถือว่ามีความจริงใจในการใช้ภาคการท่องเที่ยวไทย เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ได้เป็นเพียงการพูดเท่านั้น แต่ยังลงมือทำจริงให้เห็น ทั้งการเริ่มลงพื้นที่หลังมีความชัดเจนด้วย

ภาคเอกชนท่องเที่ยวเรียกร้องบูสเตอร์ช็อต เพื่อเป็นยาแรงกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยให้เห็นผลอย่างชัดเจน ส่วนนี้เราเห็นมาตรการเชิงนโยบายออกมาคือ วีซ่าฟรี ยกเว้นการขอวีซ่าเข้าไทยให้กับจีนและคาซัคสถาน เริ่มเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 การเลือกคาซัคสถานเข้ามาด้วยนั้น มองว่ารัฐบาลมีข้อมูลแม่นยำมาก เนื่องจากคาซัคสถานมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงจริงๆ และนักท่องเที่ยวชาวคาซัคสถานก็มีการใช้จ่ายที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติปกติที่อยู่ประมาณ 48,000 บาทต่อคน รวมถึงนิยมเข้ามาเที่ยวไทยแบบพำนักในระยะยาวอีก ทำให้วีซ่าฟรีออกมาตอบโจทย์ทั้งประเทศฐานลูกค้าหลักและมีศักยภาพเติบโตด้วย

รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย เรื่องนี้ก็มองว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ในคณะทำงานไม่มีสภาท่องเที่ยวฯด้วย มีเพียงสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เท่านั้น แต่การท่องเที่ยวไม่ได้มีแค่ส่วนของโรงแรมเท่านั้น แต่ยังมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเสียดายเล็กน้อย เพราะการตั้งคณะทำงานลักษณะนี้จะมีผลต่อการปฏิบัติแน่นอน ทำให้มองว่าน่าจะมีสภาท่องเที่ยวฯ เข้าไปมีส่วนในคณะทำงานดังกล่าวนี้ด้วย แต่หากประเมินในภาพรวมก็ยังมองว่ารัฐบาลเศรษฐาสอบผ่านอยู่ดี

สิ่งที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการต่อไปคือ การกระตุ้นท่องเที่ยวไทยให้ทั่วถึงทุกจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ เท่านั้น เพราะประเทศไทยมี 76 จังหวัด จึงอยากให้เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้ทั่วถึง เพราะหากสามารถสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวได้ทุกจังหวัด ก็หมายถึงภาคการท่องเที่ยวไทยจะเติบโตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่จะมีการเติบโตได้จากเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวด้วย

สิ่งที่ต้องเดินหน้าดูแลต่อเป็นเรื่องซัพพลายไซด์ โดยมีกลยุทธ์ 4 เติม ได้แก่ 1.เติมทุน เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินและโครงการต่างๆ ของรัฐ 2.เติมความรู้ จะมุ่งเน้นเรื่องการอัพสกิล-รีสกิลให้กับบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว 3.เติมลูกค้า เพื่อให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในฝั่งซัพพลายไซด์กลับมาฟื้นได้ และ 4.เติมนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสในการขายให้ผู้ประกอบการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยได้ทั้งอุตสาหกรรมแน่นอน

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

ผลงานนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ในรอบ 1 เดือน ที่มีการลงพื้นที่ของในหลายจังหวัด เพื่อรับฟังปัญหา สะท้อนความคิดเห็น และความต้องการประชาชน นำไปสู่การแก้ปัญหา หรือปรับเปลี่ยนนโยบายรัฐบาล เพื่อตอบโจทย์ประชาชนและสังคมมากขึ้น ซึ่งมีภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน เสนอโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หลังรอคอยมากว่า 9 ปีแล้วต้องใช้งบประมาณ หรือเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท

ขณะที่นายเศรษฐา ได้เดินสายพบปะผู้นำประเทศ และนักลงทุนรายใหญ่ เพื่อสะท้อนว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลกึ่งเผด็จการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นในเวทีโลก ส่งผลต่อการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว เป็นการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ

ส่วนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ที่คัดค้านนโยบายดังกล่าวกับภาคธุรกิจ ที่อยากให้รัฐบาลใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นนโยบายประชานิยม ที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ ส่งผลถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา ทำให้พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้รับเสียงสนับสนุนมาเป็นอันดับ 2

ดังนั้นพรรค พท. ควรต่อยอดและขยายผลนโยบายกองทุนหมู่บ้าน และโอท็อปเพื่อเสริมนโยบายแจกเงินดังกล่าว ส่งผลเกิดการหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยในชุมชนมากขึ้น เพื่อสร้างศักยภาพความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ในอนาคต ไม่ต้องรอรับการช่วยเหลือเท่านั้น ที่สำคัญต้องสร้างโอกาส และทางเลือกประกอบอาชีพ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจแก่นายทุนรายใหญ่ อาทิ สุราพื้นบ้านยาสูบ และพลังงานทางเลือก รัฐบาลควรส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สามารถแข่งขันตลาดโลกได้

จุดอ่อนรัฐบาลคือ นโยบายปฏิรูปประเทศ อาทิ ระบบราชการ กองทัพ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม ไม่มีความคืบหน้ามากนัก มีเพียงการตั้ง 35 อรหันต์ เพื่อเป็นคณะกรรมการวางแนวทางร่างแก้รัฐธรรมนูญซึ่งนายเศรษฐา ระบุว่า จะให้มีการทำประชามติ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญต้นปีหน้าเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้เรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เพราะพรรค พท. และพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ได้กำหนดเป็นนโยบายในช่วงหาเสียงที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องใช้เวลาบ้าง เพราะเป็นรัฐบาลผสม ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ส่วนข้อเสนอให้ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ประธานที่ปรึกษาครอบครัวเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค พท. แทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นั้น มองว่าพรรค พท. จำเป็นต้องปรับโครงสร้างพรรค เพื่อตอบโจทย์ประชาชนมากกว่าเดิม และให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อเสริมศักยภาพให้มั่นคงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่เป็นรัฐมนตรีในโควต้าพรรค พท. ซึ่งเป็นการต่างตอบแทนที่ทำประโยชน์แก่พรรคนั้น อาจเป็นครั้งสุดท้ายบุคคลเหล่านี้ เพราะใกล้ถึงเวลาของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจัดการพรรคแล้ว ต้องดูว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเศรษฐา 2 มีหน้าตาเป็นอย่างไร และคนรุ่นใหม่มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

สรุปภาพรวมการทำงานของนายเศรษฐาและรัฐบาลในรอบ 1 เดือน ถ้าให้ประเมินผลงาน ถือว่าเร็วเกินไป อย่างน้อยควรให้โอกาสทำงาน 3-6 เดือน แล้วค่อยประเมินดังกล่าว ส่วนตัวให้สอบผ่าน 6 คะแนนจากเต็ม 10 ถือว่าพอใช้ ไม่ถึงกับขี้เหร่ หรือดีมาก ถ้ารัฐบาลสามารถลดความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางเศรษฐกิจ และสังคม

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

ผลงานรัฐบาล 30 วันที่ผ่านมา ในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกและไทยยังชะลอตัว และมีปัญหารุมเร้าทั้งเก่าและใหม่มากมาย ถือว่ารัฐบาลเปิดตัวได้ดี จากการฟอร์มทีมรัฐบาล การจัดวางตัวบุคคลตั้งคณะรัฐมนตรี และเดินหน้าได้เร็ว จากนั้นผลักดันนโยบายเร่งด่วน หลายเรื่องที่ตรงใจประชาชนและนักธุรกิจ ตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการลดต้นทุนพลังงาน เน้นจัดการอีโคซิสเต็มระบบนิเวศที่ช่วยลดสิ่งแวดล้อมทำให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ต่ำลง และคล่องตัวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องการ ส่วนที่เหลือภาคเอกชนเองก็พยายามปรับตัวกันอยู่แล้ว

ในด้านต่างประเทศ ค่อนข้างดี ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะไปเยือนและหารือกับนานาประเทศ ทั้งแบบรัฐบาลคุยกับรัฐบาล รัฐบาลคุยกับเอกชน หรือจัดให้เอกชนคุยกับเอกชนประเทศนั้นๆ การให้ความสำคัญต่อการผลักดันเจรจาเปิดเสรีเอฟทีเอ และทราบว่าจะมีการจัดโรดโชว์ในหลายประเทศต่อเนื่อง พร้อมกับดึงเอกชนไปด้วย ถือว่าเป็นการเปิดตลาดที่ดีในภาวะปัจจุบัน

จากผลงาน 30 วันแรก คงให้คะแนนระดับ 7-8 จากเต็ม 10 คะแนน ที่ยังไม่เต็ม 10 นั้น เพราะยังมีหลายเรื่องที่ต้องติดตามการทำงานตามที่ได้ประกาศไว้ อาทิ ปรับปรุงกฎหมายซ้ำซ้อน ล้าสมัย ใช้ดิจิทัลมาอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนด้านต่างๆ และลดค่าครองชีพยังต้องทำต่อเนื่อง รวมถึงหลายเรื่องที่รอความชัดเจน เช่น การลดเรื่องพลังงาน ใช้งบประมาณตามนโยบาย เช่น แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ เช่น ค่าแรงงาน การลดภาระประชาชน ลดต้นทุนด้านอื่นๆ เป็นต้น โดยหวังว่าจะไม่มีอะไรที่หักมุมจากนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image