ดร.อนุสรณ์ ชี้ครบ 50 ปี 14 ตุลาฯ ต้องรื้อมรดก ‘คณะรัฐประหาร’ แก้ร่างรธน.ใหม่โดยปชช.

แฟ้มภาพ

ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา ต้องสถาปนาระบบการปกครองโดยกฎหมายด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง กระจายอำนาจให้ประชาธิปไตยหยั่งราก กินได้และมีคุณภาพ

  • รื้อยุทธศาสตร์ 20 ปี รื้อมรดกคณะรัฐประหาร
  • ล้างวัฒนธรรมอำนาจนิยม ปฏิรูปประเทศผ่านกระบวนการประชาธิปไตย
  • นโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาทอาจกลายเป็นเงื่อนปมที่ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยขยายผลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือหักโค่นรัฐบาลได้
  • เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา จึงต้องร่วมกันรื้อถอนความเป็น สถาบันของการรัฐประหาร ออกไป และ สร้างเสริมความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองของประชาชนขึ้นมาแทน ใน ฐานะกลไกหลักในการปกครองประเทศ

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 14 ตุลาคม ที่ กรุงเทพฯ รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า แม้นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จะล่วงผ่านมาเป็นเวลา 50 ปีแล้วก็ตาม สังคมไทยของเราก็ยังไม่สามารถสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมายได้ มีผู้มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย อาการล้มลุกคลุกคลานของระบอบการปกครองโดยกฎหมายและประชาธิปไตยไทยเป็นผลมาจากการอยู่ภายใต้วงจรของการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ แล้วก็ร่างขึ้นมาใหม่หลังการรัฐประหาร ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาแล้ว สังคมไทยต้องสถาปนาระบบการปกครองโดยกฎหมายด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชนให้จงได้ พร้อมสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง การที่มีการฉีกหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครอง (รัฐธรรมนูญชั่วคราว) ถึง 9 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองถึง 10 ฉบับ มีรัฐประหารมากถึง 5 ครั้งหลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้เกิดความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญมิใช่กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่เป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำอำนาจนิยมในการแย่งชิงและสถาปนาอำนาจของตนด้วยการทำลายหลักการแห่งการปกครองโดยกฎหมายและมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหารอีกด้วย

การล่มสลายลงของระบบเผด็จการทหารอำนาจนิยมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นเรื่องชั่วคราว พลังของขบวนการนักศึกษาประชาชนทำให้ผู้นำเผด็จการหนีออกนอกประเทศ แต่โครงสร้างของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมได้รับการสั่นคลอนเพียงเล็กน้อย ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาได้เพียง 3 ปี ก็เกิดการนองเลือดและรัฐประหารขึ้นมาอีกในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมนั้นดำรงอยู่ในสังคมอย่างยาวนานต่อเนื่องยาวนาน 26 ปีนับตั้งแต่ การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 การดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีผูกขาดสูง ให้ลดการผูกขาดลง กระจายผลประโยชน์และอำนาจไปยังคนส่วนใหญ่ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีที่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักประกันให้ระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคง เมื่อประเมินจากสภาวะแวดล้อมทั้งของไทยและระหว่างประเทศแล้ว โอกาสหวนกลับไปสู่ระบอบการปกครองภายใต้อำนาจเผด็จการทหารเต็มรูปเหมือนในช่วง พ.ศ. 2490-2516 นั้นคงยากเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ หากจะเกิดการรัฐประหารอีกก็จะมาในรูปของการใช้อำนาจขององค์กรอิสระหรือตุลาการอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐสภาที่มาจากประชาชน การปิดความเสี่ยงจากการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระหรือตุลาการ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บิดเบี้ยวหลักการประชาธิปไตยอันเป็นมรดกของรัฐประหาร โดยเร็ว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า กระจายอำนาจให้ประชาธิปไตยหยั่งราก กินได้และมีคุณภาพ การรื้อยุทธศาสตร์ 20 ปี การรื้อมรดกคณะรัฐประหาร การล้างวัฒนธรรมอำนาจนิยม การปฏิรูปประเทศผ่านกระบวนการประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเข้มแข็งมั่นคงก้าวหน้า เป็นการลดความเสี่ยงในการหวนกลับสู่ระบอบรัฐประหารและระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมอีกครั้งหนึ่ง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อว่า ต้องเร่งดำเนินการรื้อถอนมรดกระบอบอำนาจนิยมและซากทัศนะเผด็จการด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบเปิดกว้างมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากคนทุกกลุ่มทุกชนชั้น รวมทั้ง ต้องร่วมกันตรวจสอบให้รัฐบาลโปร่งใส ทำตามสัญญาประชาคม ไม่ฉะนั้นจะเป็นเงื่อนไขหรือมีการสร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลต้องสิ้นสุดก่อนเวลาอันควร บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่ต้องสถานปนาอำนาจสูงสุดของระบบรัฐสภา (The Supremacy of Parliament) การลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สังคมไทยต้องร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติให้มากที่สุด เพื่อให้การเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

ADVERTISMENT

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวขยายความต่อว่า จากการรัฐประหาร 13 ครั้งในประเทศไทยหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475 เราอาจสรุปขั้นตอนของการรัฐประหารได้ดังต่อไปนี้

1. สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กล่าวหาว่า มีการทุจริตคอร์รัปชนหรือใช้อำนาจไม่เป็นธรรม หรือ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือ อ้างว่าระบบการเมืองปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือ รัฐบาลดำเนินนโยบายผิดผลาดสร้างความเสียหายต่อประเทศ (กรณีการยึดอำนาจปี 2557 อ้างปัญหานโยบายรับจำนำข้าว) อย่างเช่น สถานการณ์ล่าสุดปัจจุบัน กรณีการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาทอาจกลายเป็นเงื่อนปมที่ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยขยายผลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหักโค่นรัฐบาลได้หรือเปิดประตูแห่งโอกาสในการแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยโดยอำนาจขององค์กรอิสระอย่างไม่ชอบธรรมได้ โดยสถานการณ์อาจไม่สุกงอมถึงขั้นต้องรัฐประหารยึดอำนาจในขณะนี้

2. กองทัพเข้ายึดอำนาจ และปราบปรามผู้ต่อต้านจนสำเร็จ รวมทั้งฉีกรัฐธรรมนูญทำลายระบบปกครองโดยกฎหมาย ให้หัวหน้ารัฐประหารใหญ่กว่ากติกาสูงสุดของประเทศ

3. กษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ลงนามรับรองรัฐประหาร (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม)

4. องค์กรตุลาการตีความรับรองการรัฐประหารให้คณะรัฐประหารเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ และ ร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ส่วนใหญ่หลังการรัฐประหาร มักจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและนำไปสู่การนองเลือดเสมอ หากไม่เกิดทันทีหลังการรัฐประหาร หลังจากนั้นระยะหนึ่งก็จะเกิดขึ้น รัฐประหารไม่นองเลือดจึงแทบไม่มีอยู่จริงในการเมืองไทย สถาบันการรัฐประหารได้ถูกสถาปนากลายเป็นสถาบันการเมืองอย่างหนึ่งในประเทศไทย

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา จึงต้องร่วมกันรื้อถอนความเป็น สถาบันของการรัฐประหาร ออกไปและ สร้างเสริมความเป็น สถาบัน ของ พรรคการเมืองของประชาชนขึ้นมาแทน ใน ฐานะกลไกหลักในการปกครองประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า การสร้างฉันทามติไม่เห็นด้วยและต่อต้านการรัฐประหารและปฏิเสธทัศนะปรปักษ์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว  ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางสังคมและวัฒนธรรม จะนำสู่ความเจริญก้าวหน้าพัฒนาสู่ความรุ่งเรืองของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเสมอภาค ลดผูกขาดเพิ่มการแข่งขันและแบ่งปัน ความสมบูรณ์พูนสุขและสันติธรรมย่อมบังเกิดขึ้นในสังคมไทย รวมทั้ง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ยกระดับการเติบโตให้เต็มศักยภาพ แก้ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและปัญหาวิกฤติหนี้สินให้ประสบความสำเร็จ

หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและตามมาด้วยการรัฐประหารสองครั้งในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง ประเทศไทยของเรา ณ. พ.ศ. นี้ ก็อาจสามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและเริ่มต้นเข้าสู่ประเทศรายได้สูง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนก็จะมีระบบรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าไปแล้วก็ได้ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูง เหลื่อมล้ำสูง ศักยภาพการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยสำคัญ การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนจะเป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ดีที่สุดสำหรับอนาคตของประเทศชาติ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกกลุ่มทุกฝ่าย การร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต้องนำมาสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ซึ่งหมายรวมถึงการปฏิรูปกองทัพ ให้ทหารเป็นทหารอาชีพ แก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย การปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่าง สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวในช่วงท้ายว่า เหตุการณ์เคลื่อนไหวประชาธิปไตยและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 14 ตุลา 2516 นั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนนอกกลุ่มชนชั้นนำสามารถเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อสู้จนสามารถสร้างเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญได้ ทำให้สังคมและเศรษฐกิจเปิดกว้างและมีเสรีภาพมากขึ้น ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชน 14 ตุลาจึงเป็นสิ่งที่พวกเราในฐานะอนุชนรุ่นหลังพึงรำลึกถึง ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวไว้ว่า “การพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ให้มั่นคงไว้และพัฒนายิ่งขึ้นนั้น จึงเป็นกตเวทีสําคัญยิ่งที่สาธุชนผู้รักชาติพึงปฏิบัติ

ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาไว้อีกว่า “สาธุชนที่รักชาติโดยยกชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัวก็ย่อมใช้ทัศนะจากจุดยืนหยัดในมวลราษฎรวินิจฉัยเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคมได้ เพราะวีรชนทั้งหลายนั้น มิใช่มีแต่บุคคลที่มีเหล่ากําเนิด หรือมีฐานะแห่งชนชั้นวรรณะหนึ่งใด โดยเฉพาะหากวีรชนเหล่านั้นมีเหล่ากําเนิดและมีฐานะทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองชนิดต่างๆ ซึ่งมีทั้งคนจน กรรมกร ลูกจ้าง ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อย คนพอทําพอกิน ผู้มีทุนน้อย และนายทุนรักชาติที่ยกชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัวและทุกชนชาติไทย (National minorities) ที่มีสัญชาติไทย ดังนั้น เจตนารมณ์ของวีรชนทั้งหลายนี้จึงต้องการรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางทรรศนะอันเป็นคติธรรม ใช้เป็นหลักนําในการปฏิบัติเพื่อความไพบูลย์ของทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติที่รักชาติ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตั้งแต่ยุคปฐมกาลเป็นต้นมา แสดงให้เห็นตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหลายบทความ และหลายปาฐกถาแล้วว่า เศรษฐกิจเป็นรากฐานสําคัญแห่งมนุษยสังคม ส่วนระบบการเมืองเป็นแต่เพียงโครงร่างเบื้องบนที่จะต้องสมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลมนุษย์ในสังคม”

ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยังได้วิเคราะห์อีกว่า “ถ้าหากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทแห่งกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจนั้น วิกฤตการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้น และประเทศชาติก็ดําเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติ  ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคม วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่างสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กัน ถ้าสาธุชนที่รักชาติพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มูลเหตุที่วีรชนได้พลีชีพ และสละความสุขสําราญส่วนตัวเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ก็สืบมาจากมวลราษฎรไทยได้รับความอัตคัดขัดสนอย่างแสนสาหัส แต่ระบบการเมืองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือมีเพียงแต่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญนั้น ขัดแย้งความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎร วีรชนจึงได้พลีชีพและสละความสําราญส่วนตนเพื่อปรารถนาให้ชาติไทยมีระบบการเมืองโดยระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎรและเพื่อให้ทุกชนชาติร่วมกันเป็นเอกภาพแห่งประเทศไทย”