‘สุรชาติ’ ห่วงงานรำลึก 14 ตุลาฯ ไม่ต่างจาก ‘เช็งเม้ง’ หวังมีตัวกลาง – สร้างสาระขับเคลื่อนสังคม

‘สุรชาติ’ ห่วงงานรำลึก 14 ตุลาฯ ไม่ต่างจาก ‘เช็งเม้ง’ หวังมีตัวกลาง – สร้างสาระขับเคลื่อนสังคม

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ฮอลล์ 5-7 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และพันธมิตร ร่วมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคมนี้

เวลา 16.00 น. ที่บริเวณประตูทางเข้าฮอลล์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนให้ความสนใจฟังเสวนาหัวข้อ “50 ปี 14 ตุลา’ เจ้าฝันถึงโลกสีใด” นำโดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลาฯ สู่ปัจจุบันและอนาคต” พร้อมด้วย รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ “ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ : จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน” ดำเนินรายการเสวนาโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์

Advertisement

ทั้งนี้ มีประชาชน นักวิชาการและนักการเมือง เดินทางมาร่วมรับฟังเสวนาอย่างคับคั่ง อาทิ นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม.เขตบางบอน จอมทอง หนองแขม พรรคก้าวไกล, นายตะวัน วัตุยา ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์, ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคณบดี, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

โดยในตอนหนึ่งของการเสวนา ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้มีคนรุ่นตนอยู่หลายคนฟังอยู่ ซึ่งตอนนั้นตนยังเป็นนิสิตอยู่ชั้นปีที่ 1 หากถอยกลับไปสู่ 50 ปีที่แล้ว 14 ตุลา เป็นผลผลิตของช่วงเวลา ที่เรียกได้ว่ายุคหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

Advertisement

“กระแสการต่อต้านระบอบทหาร ส่วนหนึ่งเกิดจากชนชั้นกลาง ที่ไม่ใช่ข้าราชการ ซึ่งผมคิดว่าเป็นกระแสของเสรีนิยม ซึ่งเป็นกระแสที่ต่อต้านระบอบทหาร คนไม่พอใจทหาร 3 ป. ยุคนั้น แต่ในความไม่พอใจมันถูกท้าทายด้วยกรณีที่ใหญ่ที่สุด คือ ทุ่งใหญ่นเรศวร” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติชี้

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ตนคิดว่าผลพวงของ 14 ตุลา เป็นผลพวงของพายุหิมะโลกใหญ่พัดเข้ามา พอถึงเดือนมิถุนายน 2516 ตอนนั้นนิสิตปีหนึ่งไปช่วยแจกแถลงการณ์หน้าหอประชุมใหญ่ ฝั่งสระน้ำ ซึ่งตอนนี้หลายคนไม่ทันแล้ว

“พวกผมเป็นนิสิตปีหนึ่งที่ไปแจกแถลงการณ์ทุ่งใหญ่ และส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน ที่มีการวางแผนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผมจับพลัดจับผลูอยู่ในวงตรงนั้นที่ข้างห้องน้ำชาย จนไปถึงการชุมนุมใหญ่ เมื่อกลางเดือนมิถุนา 2516 ถึงเวลาเลิกแล้ว มีคนขึ้นไปประกาศว่า เราจะเลิกชุมนุม ขอให้รัฐบาลคืนรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน แล้วเราสัญญากันว่าอีก 6 เดือนเราจะมาทวงถามที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติเผย

จากนั้นเล่าเหตุการณ์ว่า ตนเห็นม็อบขนาดใหญ่ช่วงเดือนมิถุนายน หลังจากการเรียกร้องของนักศึกษารามคำแหง 9 คน จากนั้นก็เดินจากจุฬาฯไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นความประทับใจคือ ชาวบ้านที่อยู่ระหว่างทาง เอาน้ำ เอาขนมมามอบให้ เดินทานไปตลอดทาง

“พูดง่ายๆ จัดม็อบทีหนึ่ง คือ อิ่ม ระหว่างทางมีแต่คนมอบขนมให้ และอีกอันหนึ่งที่อยากพูดถึง คือ ไม่กี่วันที่นั่งในกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย มีโอกาสได้คุยกับคณะกรรมการศูนย์ฯ ปี 18-19 มีสัญญาณว่าวันที่เราชนะที่กรุงเทพฯ แต่ยังมีเสียงส่งไปถึงการเรียกร้องอยู่ที่ประเทศกรีซ ในกรีซตอนนั้นตะโกนชื่อประเทศไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาจะต่อสู้ให้ชนะ เหมือนที่กรุงเทพฯ” อ.สุรชาติกล่าว และว่า

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวอีกว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนบนบทความไว้ แรงกระเพื่อมการเคลื่อนไหวมากับข่าวหนังสือพิมพ์ ช้าแต่มาถึงชัวร์ มันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในวันนั้น และขยายไปสู่การต่อสู้ของประชาชนกรีซ กับทหาร

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ชี้ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด และไม่มีการชุมนุมใหญ่ได้ขนาดนั้นอีก ตัวเลขจากสื่อระบุว่ามีคนชุมนุมกว่า 5 แสนคน เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง

“ก่อนหน้า 14 ตุลา เริ่มจากกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกมาเริ่มแถลงการณ์ แล้วถูกกจับในวันที่ 6 ตุลา 2516 และวันที่ 8 ตุลาคม เริ่มเรียกร้องที่ธรรมศาสตร์ จนวันที่ 12-13 ถนนทุกสายมุ่งมาชุมนุมสู่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้น ตัวเลขจากสื่อระบุประมาณ 2 แสนคน ตอนที่คนออกจากลานโพธิ์ ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แต่วันที่ 14 ช่วงเวลาตี 4 – 5 ตกลงกันว่าจะสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมเตรียมตัวกลับ แต่มีผู้ชุมนุมถูกตำรวจจับ ถูกตี เมื่อเวลา 6 ประมาณโมง คนที่รอดมาได้วิ่งไปบอกเพื่อนที่ธรรมศาสตร์ ม็อบจึงขยายตัวทันที” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติเผย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวว่า ช่วงเวลา 11 โมง นักศึกษาจากมหาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เดินทางเข้ามาสมทบจนเต็มราชดำเนิน ท่ามกลางการวางกำลังตำรวจ จนช่วงเที่ยงเริ่มเกิดการปะทะกันใหม่

“ถ้าท่านเห็นภาพที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ นิสิตปี 3 เกษตรศาสตร์ ที่ถือไม้ เราเรียกว่า ‘ไอ้ก้านยาว’ หมายถึง คือคนที่สู้กับอธรรมในเมือง เป็นภาพที่ได้รางวัลจากสหรัฐ อีกภาพคือ รถเมล์ที่พุ่งชนรถถัง ภาพยุคนั้นมีความน่าสนใจ เพราะไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่ภาพมันออกไปต่างประเทศทันที มันมีผลใหญ่กับสังคมไทย และสังคมภายนอก ที่เหตุการณ์ 14 ตุลา มีคนมาชุมนุม 5 แสนคน บนรถราชดำเนิน จนจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออก หลังจากนั้นกองทัพบกประกาศชัดว่าไม่สนับสนุนทหารบนถนนราชดำเนิน เรารู้เลยว่าจอมพลถนอม กับจอมพลประภาส จารุเสถียร ขาลอยแล้ว” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าว

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวเสริมว่า ตนอยากให้มีตัวกลางในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ อีกครั้ง และที่พูดกันว่า 14 ตุลาฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในตำราเรียนของเด็กๆ ไทย “เลิกคิดเถอะครับ ไม่เกิด”

“ปีนี้ครบรอบ 50 ปี สิ่งที่อยากฝากคือ มันไม่ใช่เพียงแค่การจัดงานรำลึกไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่ต่างจากงานเช็งเม้ง กินข้าวกัน ไหว้กัน แล้วก็แยกย้าย ปัจจุบันมีประเพณีเอาพวงหรีดไปตั้ง แล้วก็ไม่เห็นสาระอย่างอื่น เราอยากเห็นการจัดงานที่มีสาระมากขึ้น อยากให้งานเหล่านี้เป็นสาระของการขับเคลื่อนในการสร้างประชาธิปไตยของสังคมไทย” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติเผย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวอีกว่า เราเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายระลอกในสังคมไทย ตั้งแต่ 2475, 14 ตุลา, 6 ตุลา และปี 2535 และต้องไม่ลืมอีกส่วนคือพฤษภา 2553 บริบทเหล่านี้ตอกย้ำว่าสังคมไทยยังฝันถึงประชาธิปไตย

“หากถามว่านกสีอะไร คนรุ่นผมบอกสีแดง คือ “พิราบแดง” วันนี้เราอยากเห็นนกที่สีสวยที่สุดสำหรับทุกชนชั้น แน่นอนสีที่สวยสำหรับทุกคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราตกลงกันว่าจะเห็นอนาคตร่วมกัน นกหลายสีมีสิทธิที่จะบินในสังคมไทยได้อย่างหลากหลาย

ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนยุคผม ที่เป็นพิราบแดง ที่เพื่อนหลายคนไม่ได้กลับ เราเห็นบทเรียนการเสียชีวิต มันตอกย้ำการเรียกร้องประชาธิปไตย เรากล้าละเลงเลือดเพื่อประชาธิปไตย แต่วันนี้อยากเห็นว่าประชาธิปไตยสร้างบนเงื่อนไขที่ดีที่สุด อาจจะไม่จำเป็นต้องสร้างด้วยรถถัง ไม่จำเป็นต้องสร้างด้วยสงคราม หรือปฏิวัติแบบคนรุ่นผมแล้ว” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image