‘ชัยธวัช’นำทัพก้าวไกล ค้านเชิงรุก-พร้อมนั่ง รบ.

‘ชัยธวัช’นำทัพก้าวไกล
ค้านเชิงรุก-พร้อมนั่ง รบ.

หมายเหตุ นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนบทบาทฝ่ายค้านเชิงรุก และเป้าหมายพรรค ก.ก.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

⦁ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก.ก.คนใหม่และว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน วางกรอบการทำงานและยุทธศาสตร์ไว้อย่างไร

พรรค ก.ก.กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ ภายหลังสถานการณ์ชัดเจนแล้วว่าพรรคไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล เรื่องสำคัญๆ แบ่งเป็น 4 ด้าน ด้านแรก การทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นงานพื้นฐานที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ต้องใช้ทุกกลไกในสภา ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สร้างสรรค์ ยืนอยู่บนข้อเท็จจริง รักษามาตรฐานเดิมที่เคยทำไว้ในสมัยที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีในด้านนิติบัญญัติ แม้จะเป็นฝ่ายค้านแต่ยังสามารถใช้สถานะฝ่ายนิติบัญญัติผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ได้

Advertisement

ด้านที่สอง ฝ่ายค้านเชิงรุก ภารกิจฝ่ายค้านของก้าวไกล เป้าหมายคือไม่ใช่การล้มรัฐบาล เป็นฝ่ายค้านไม่ใช่เป็นฝ่ายแค้น แต่เป้าหมายคือการเตรียมพร้อมการเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดให้ประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า การที่จะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ ต้องให้น้ำหนักในการใช้กลไกสภา ทำงานร่วมกับสมาชิกพรรค เครือข่ายพรรค และประชาชนนอกสภา ในการผลักดันวาระสำคัญในทางนโยบาย โดยไม่ต้องรอเป็นฝ่ายบริหารก็สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันนี้ จนไปถึงสิ่งไหนที่ไม่สามารถผลักดันให้รัฐบาลทำได้ก็เตรียมพร้อมให้ดีที่สุด ที่จะผลักดันเองเมื่อได้เป็นฝ่ายบริหารในการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่คือสิ่งที่อยากจะเห็นที่เรียกว่า ฝ่ายค้านเชิงรุก ไม่ใช่แค่การเตรียมความพร้อมในภาคปฏิบัติเท่านั้น ต้องเตรียมความพร้อมของทีมงานที่จะมาบริหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเห็นว่า พรรค ก.ก.มีความพร้อม

ด้านที่สาม คือการสร้างยุทธศาสตร์ในการทำให้พรรคเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกลไกพรรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นความเข้มแข็งในระดับฐานรากต่างๆ ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปีนี้จะต้องมีสมาชิกพรรคให้ถึงแสนคนให้ได้ หรืออย่างช้าในต้นปี 2567 และโครงสร้างพื้นฐานพรรคที่ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารพรรค มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น การประชุมวิสามัญที่ผ่านมาพรรคได้ปรับโครงสร้างใหม่ จะให้ความสำคัญกับโครงสร้างระดับอำเภอ พรรคจะต้องมีตัวแทนประจำอำเภอ และกรรมการพรรคระดับอำเภอที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงให้ได้ 400 อำเภอ เมื่อมีโครงสร้างระดับอำเภอแล้ว นี่จะเป็นส่วนต่อสำคัญที่ทำให้เรามีโครงสร้างคณะกรรมการแต่ละจังหวัด จากระดับอำเภอก็ลงย่อยไประดับตำบลให้ได้ โครงสร้างเหล่านี้ก็จะมีส่วนร่วมสำคัญ ในการตัดสินใจใช้งบประมาณของพรรคในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ มีส่วนอย่างมากในการสรรหาผู้สมัครระดับท้องถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้พรรคจะส่งผู้สมัครเฉพาะในพื้นที่ที่มีโครงสร้างดังกล่าวพร้อม เป็นงานที่สำคัญเพราะมองว่าความยั่งยืนของพรรคอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐาน อย่างสมาชิกพรรคและประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของพรรค

ด้านที่สี่ ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ต้องตรึงพื้นที่ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ ต้องสร้างการทำงานที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่ประชาชนเคยเลือก ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากพอ ต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายและขยายเข้าไปให้ได้ มีอย่างน้อย 100 เขต ที่ยังไม่ชนะในระดับ ส.ส.เขต แต่ชนะในระดับปาร์ตี้ลิสต์ ผมวางเป้าหมายไว้ว่า ต้องพร้อมเลือกตั้งตลอดเวลาภายใน 2 ปี

Advertisement

⦁ หมายความว่าภายใน 2 ปีนี้อาจมีเหตุหรือปัจจัยทำให้เกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้

คิดว่าสถานการณ์ทางการเมือง แม้ขณะนี้จะเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่โดยสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นจริง ไม่มีอะไรน่าวางใจได้ว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพได้ถึง 4 ปี ผมจึงขีดเส้นไว้ว่าภายใน 2 ปีต้องพร้อมเลือกตั้งตลอดเวลา

⦁ ที่ระบุว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาล

เราไม่ได้เป็นฝ่ายแค้น เป้าหมายไม่ใช่การล้มรัฐบาล เป้าหมายคือเตรียมพร้อมจะเป็นฝ่ายบริหารที่ดีที่สุดให้ได้ ใช้เวลาที่มีอยู่ทำนโยบายให้ประชาชนเข้าใจ เห็นภาพ และพร้อมในระดับปฏิบัติ พร้อมทั้งเนื้อหา กระบวนการ และทีมที่จะมาบริหารนโยบาย

⦁ รูปแบบที่พรรค ก.ก.จะนำเสนอ ต้องทำให้ประชาชนจับต้องได้ถึงความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นอย่างไร

ถ้านโยบายใดที่รัฐบาลทำแล้วเป็นเรื่องดี เราก็พร้อมสนับสนุน หากนโยบายใดที่รัฐบาลทำแล้วแต่ยังไม่ดีพอเราก็พร้อมนำเสนอ และในสมัยหน้าหากเราได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากพอ เราจะทำแบบของเราให้ดูว่า ข้อเสนอเวอร์ชั่นก้าวไกลเป็นอย่างไร เช่น รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับที่ดินทำกิน โดยเฉพาะในภาคเกษตร เรารอดูว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษาตรและสหกรณ์ ระบุว่าจะแปลงที่ดินส.ป.ก. เป็นโฉนด เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชน โดยหลักการเราพร้อมสนับสนุน แต่เราก็มีข้อเสนอเช่นกัน

วันนี้เรายังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรกับนโยบายเหล่านี้ เราพร้อมดู พร้อมเสนอแนะและผลักดันในสิ่งที่ควรจะเป็นควบคู่กัน เราจะใช้กรรมมาธิการที่ดินที่พรรคก้าวไกลนั่งเป็นประธานยกร่างประมวลกฎหมายที่ดินและป่าไม้ใหม่ทั้งระบบ เป็นการทำงานสืบเนื่องจากสมัยที่แล้ว เราใช้กรรมาธิการนี้ศึกษาปัญหาที่ดินอย่างเป็นระบบ ตอนนี้อยู่ในขั้นผลักดันแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เราจะทำอย่างนี้ควบคู่กันไปกับสิ่งที่รัฐบาลจะแก้ปัญหา รวมทั้งใช้กลไกต่างๆ พูดคุยกับประชาชนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายที่ต้องปรับปรุง แก้ไข เพื่อผลักดันในสิ่งที่เราทำได้ และสุดท้ายก็จะมีข้อเสนอแบบฉบับก้าวไกลที่พร้อมเพื่อรอการปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เรียกว่าฝ่ายค้านเชิงรุก

หากนึกถึงนโยบายในสมัยที่แล้ว คือ การผลักดันสุราก้าวหน้า ก็เป็นรูปธรรมของฝ่ายค้านเชิงรุก ในสมัยที่แล้วอาจมีไม่กี่ประเด็น ในครั้งนี้จะมีการกำหนดประเด็นเพิ่มจากกลุ่มนโยบายเรือธง ฝ่ายนโยบายที่นโยบายจะกำหนดแผนงานและวาระสำคัญ ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค จะมีบทบาทนำในงานส่วนนี้ เป็นบทบาทนำฝ่ายค้านเชิงรุกในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี ตามที่วางได้บทบาทไว้ว่า ระหว่างนี้ต้องรอนายพิธาจัดการเรื่องคดีถือหุ้นสื่อให้เสร็จสิ้นก่อน
แน่นอน หากมีกำหนดการโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้านเรียบร้อย คงต้องรับภาระนี้ในฐานะหัวหน้าพรรคแทนนายพิธา

⦁ หลายฝ่ายคาดหวังว่าบทบาทการตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้านรูปแบบใหม่ของก้าวไกล จะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสมัยที่แล้ว

คงอยู่ในทิศทางเดิม เพราะสมัยที่ผ่านมา ผมในฐานะเลขาธิการพรรค ก็เข้ามาดูแลงานเหล่านี้ ดังนั้นเรื่องความตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจใคร เกรงใจแต่ประชาชนยังคงเดินหน้าเช่นนี้ แต่ด้วยประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นของ ส.ส. และมีบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้นแน่นอน

⦁ ถือเป็นการบริหารความคาดหวังของประชาชนด้วย

จริงๆ แล้วโหวตเตอร์คาดหวังให้พรรค ก.ก.เป็นรัฐบาลมากกว่า แต่งานตรวจสอบฝ่ายค้านปกติก็ต้องทำไม่ให้น้อยกว่ามาตรฐานเดิม ได้มอบหมายให้ทีม ส.ส.รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อกระจายความรับผิดชอบการบริหารจัดการของพรรคให้ดีขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา

• ที่กล่าวว่า”เกรงใจแค่ประชาชน” แม้พรรคเพื่อไทยเคยเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน แต่รอบนี้มาเป็นฝ่ายบริหาร พรรคก้าวไกลก็จะตรวจสอบเช่นเดิม

แน่นอน ผมคิดว่าเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะจะมาลูบหน้าปะจมูกก็คงไม่ได้ อย่างที่เคยบอกว่าไม่ใช่เอาทุกอย่างมาเล่นการเมือง ไม่ได้ตรวจสอบ ถ่วงดุล อยู่บนพื้นฐานเรื่องที่จะล้มรัฐบาลอย่างเดียว ต้องอยู่บนพื้นฐานของเนื้อหาและหลักการ ในทางกลับกันสิ่งไหนที่รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วเราพร้อมสนับสนุน

⦁ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรค ก.ก.ไม่สามารถเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารได้ คือ กลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 พรรค ก.ก.จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร

จริงๆ กลไกสำคัญคือ การให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.จะมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯถึงแค่กลางปี 2567 เท่านั้น เลือกตั้งสมัยหน้าเฉพาะในส่วนนี้คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ที่ผมพูดหมายความว่า บางโจทย์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การมาตอบโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล เพราะไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่มีประเด็นนี้อยู่แล้ว

ยังมีวาระญัตติที่เสนอค้างในสภา คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 272 หากมีการเปิดประชุมร่วมสภา ญัตตินี้ต้องเข้า ต้องให้ชัดเจนว่าโจทย์ในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คืออะไร ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะบางพรรคการเมือง กลายเป็นจะคิดแค่จะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งน่าจะผิดทิศผิดทาง อย่าไปเอาโจทย์ของแต่ละพรรคมาเป็นเป้าหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญ โจทย์ใหญ่ในการทำรัฐธรรมนูญ คือ เราขัดแย้งทางการเมืองมาสองทศวรรษ จบกันไม่ได้เพราะตกลงกันไม่ได้ว่าระบบการเมืองที่เห็นร่วมกันคือแบบไหน ยังหาจุดร่วมกันในอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไม่ได้

พอมาถึงตอนนี้โจทย์เก่ายังไม่ถูกแก้ แต่ดูเหมือนว่าระบบการเมือง รัฐสภา ฝ่ายบริหารที่จะมีประสิทธิภาพยังห่างไกลมาก เราผ่านรัฐประหารมาทั้ง 2 ครั้ง ดูเหมือนรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ระบบการเมืองเข้มแข็ง คล้ายๆ อยากให้เกิดระบบรัฐบาลผสมที่อ่อนแอเพื่อแทรกแซงได้ง่ายหรือไม่ ความไม่ไว้วางใจต่อระบบเลือกตั้งของคนที่มาจากการเลือกตั้งยังมีอยู่ แม้คนจำนวนมากจะไม่เอารัฐประหาร ทำอย่างไรที่จะให้เกิดระบบกลไกการตรวจสอบ ควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมือง หรือระบบเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ สะท้อนเจตจำนงประชาชนอย่างแท้จริง

โจทย์ใหม่ คือ โจทย์เก่า ที่เคยเดินไปแล้ว อย่างการปฏิรูปกองทัพ ที่เคยคิดว่าทหารจะไม่ออกมารัฐประหาร แต่ก็เกิดมาแล้วทั้ง 2 ครั้งล่าสุด จะทำอย่างไรให้มีหลักการที่ทำให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะกลายเป็นอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในการบริหารราชการแผ่นดิน จะไม่ถูกกดทับหรือแทรกแซงโดยกองทัพ หรืออำนาจนอกระบบ หรือโจทย์ใหม่อย่างกลไกในการออกแบบว่าจะตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจ เรากลัวนักการเมืองจะฉ้อฉล แต่กลายเป็นว่าองค์กรที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบไม่ให้คนอื่นฉ้อฉล ดูเหมือนจะใช้อำนาจอย่างไม่โปร่งใสเสียเอง องค์กรเหล่านี้ถูกตั้งคำถามว่ากลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครหรือไม่

จริงๆ ต้องเรียกว่าเป็นโจทย์เก่าที่ปะทุขึ้นมาให้สังคมตระหนักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างจริงจัง เรื่องนี้ไม่ควรเป็นแค่ตัวหนังสือสวยๆ ในรัฐธรรมนูญอีกแล้ว นี่คือโจทย์ที่สำคัญ ผมไม่เชื่อว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อย่างที่อยากได้ทั้งหมด บางฝ่ายอาจจะไม่ได้เลย แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีพื้นที่ที่ถกเถียงได้ และเมื่อได้ข้อสรุปตามกลไกกระบวนการที่ออกแบบมาอย่างมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยแล้ว เชื่อว่าเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับว่านี่เป็นข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันและจะใช้กฎกติกานี้ร่วมกัน ผมจึงเห็นว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นโอกาสสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างฉันทามติใหม่ได้

⦁ ในส่วนพรรค ก.ก.และประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วม จะส่งข้อเสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร

พรรค ก.ก.ก็พร้อมเสนอ แม้ว่าวันนี้ในที่ประชุม ส.ส.ส่วนใหญ่จะเห็นว่ายังไม่ควรเข้าร่วมในฐานะกรรมการ เพราะไม่มีความชัดเจนใน 2 หลักการใหญ่ หากมีความชัดเจน ก็พร้อมที่จะไปช่วยผลักดันให้เป็นจริงในการปฏิบัติ การรักษาระยะห่าง อาจจะมีประโยชน์กว่าในฐานะฝ่ายที่มีบทบาทในการจำกัด หรือตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร พรรค ก.ก.ยินดีที่จะไปให้ข้อเสนออยู่แล้ว ไม่มีปัญหา

⦁ การสร้างฉันทามติร่วมกันเบื้องต้น คือส่วนหนึ่งที่พรรค ก.ก.เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นประตูแห่งโอกาสบานแรกๆ ที่ควรจะเปิด คือการนิรโทษกรรม เราต้องการให้สังคมไทยเป็นนิติรัฐจริงๆ มีกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนยอมรับ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานประชาชน ต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่ทำได้เลยคือการนิรโทษกรรมคดีการเมือง นับตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 เริ่มมีคดีความที่ประชาชนแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียจนถูกดำเนินคดี คดีที่ถูกแจ้งข้อหามีหลายข้อกล่าวว่า และมักเกี่ยวกับความมั่นคงร้ายแรง รวมทั้งข้อหาที่อาจจะดูไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย ปัจจุบันมีคนเกี่ยวข้องหลายพันคน ครอบคลุมทุกกลุ่มการเมือง เราถึงเสนอว่าให้เริ่มต้นนับกรอบเวลาที่จะนิรโทษกรรมทางการเมือง ตั้งแต่วันแรกที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมครั้งแรกในปี 2549 เรื่อยมาจนถึงกฎหมายบังคับใช้ แต่ปัญหาคือ ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมีหลากหลายข้อกล่าวหา หลายครั้งที่เราจะนิรโทษกรรมมักจะระบุเป็นกรอบความผิด หรือเป็นช่วงเหตุการณ์แคบๆ ไม่กี่วัน

แต่ของพรรคก้าวไกลเริ่มตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน มีหลากหลายความผิดเราจึงเสนอไปเช่นนี้ เพราะฝ่ายบริหารบอกว่า พอพรรคก้าวไกลบอกว่าให้นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยปิดกั้นถาวร ไม่มีนิยามที่ชัดเจน นี่คือปัญหา เราจึงเสนอให้ใช้ในรูปแบบของกลไก คือออกกฎหมายเพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยว่าคดีไหนบ้างควรเข้าข่ายเพื่อนิรโทษกรรม เพราะไม่มีนิยามที่ชัดเจนจึงต้องใช้กรรมการ เรานำโมเดลนี้มาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2489 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมคนไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นที่เป็นความผิดทางกฎหมายในขณะนั้น ทางรัฐบาลก็ใช้นิรโทษกรรมการมาพิจารณา เราก็นำมาดัดแปลงเพราะน่าจะตอบโจทย์ และได้วางกรอบไว้ว่า กรรมการก็ควรจะตั้งโดยสภาฯ

ซึ่งเราก็เสนอว่าให้มีกรรมการ 9 คน ประธานสภาฯ นั่งเป็นประธาน ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ มีบุคคลที่มาจากคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน มีรายชื่อผ่านการเสนอชื่อจากสภาฯ ศาลฎีกา ศาลปกครอง อัยการ ผู้พิพากษา เลขาสภาฯ กรรมการและเลขานุการ นี่เป็นข้อเสนอของเรา และจะดำเนินการให้เสร็จไม่เกิน 2 ปี หวังว่าเรื่องนี้ฝ่ายการเมืองต่างๆ และกลุ่มการเมืองที่เคยขัดแย้งจะสนับสนุน อาจจะไม่เห็นด้วยกันหมดในรายละเอียด ถ้าเห็นด้วยในหลักการใหญ่ ผมคิดว่าเราก็สามารถมาคุยได้ในรายละเอียด อยากจะเชิญชวนกลุ่มต่างๆว่า จะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมร่วมกับพรรคก้าวไกล เพื่อที่จะพิจารณาร่วมกัน จากนี้ผมต้องทำงานในการพูดคุยกับพรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้

• ยุทธศาสตร์ที่พรรคก้าวไกลจะส่งตัวแทนพรรคประจำอำเภอ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเจาะพื้นที่ต่างจังหวัดด้วยหรือไม่

ต้องเรียกว่าเป้าหมายคือการทำให้พรรคเข้มแข็ง ไม่ใช่การคิดบนฐานของหัวคะแนน เพราะตั้งแต่เราออกแบบพรรคตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ เรามองเห็นข้อจำกัดของพรรคการเมืองที่ผ่านมา มีแต่คนที่เป็นนักการเมืองของพรรคที่ลงเลือกตั้ง ในแต่ละพื้นที่ศูนย์กลางของพรรคคือคนที่มาลงเลือกตั้ง และดำเนินกิจการของพรรคผ่านเครือข่าย บริวาร หรือหัวคะแนนของคนที่มาลงเลือกตั้ง เวลาที่ไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ค่อยมีพรรค เราอยากทำพรรคการเมืองที่มีชีวิตตลอดเวลา เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่คนมาลงเลือกตั้ง

ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่เราถึงไม่ได้เริ่มต้นจากการหาคนมาสมัครลงเลือกตั้ง เราให้ความสำคัญกับการสร้างอาสาสมัครที่มาทำพรรคด้วยกันในแต่ละจังหวัด และมาบริหารจัดการงานของพรรค นี่เป็นการต่อยอด เราเคยมีการทดลอง มีกลไก โครงสร้าง และสรุปเป็นบทเรียนว่าอันไหนดีหรือไม่ดี และมาออกแบบใหม่ว่าสิ่งที่ดีที่สุด คือ การน่าจะมีโครงสร้างระดับอำเภอเพื่อให้มีพรรคจริงๆ โดยสมาชิกเข้ามาบริหารงานพรรค ไม่ใช่เข้ามาเป็นหัวคะแนนเลือกตั้ง จะทำกิจกรรมอะไรกัน จะขับเคลื่อนอะไรในแต่ละจังหวัด พอถึงช่วงเลือกตั้งกลไกเหล่านี้ต้องเป็นกลไกหลักในการสรรหาคนไปลงเลือกตั้ง นี่เป็นส่วนหลักที่จะมาคัดกรองด่านแรกของคนที่มาสมัครส.ส.

โครงสร้างพรรคตอนนี้ เริ่มขยับกระจายอำนาจในการบริหารจัดการพรรคได้มากขึ้น และทำให้ตัวแทนสมาชิกมีบทบาท มีอำนาจในความเป็นจริง แต่แน่นนอนว่าเขตไหนเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ต้องทำให้โครงสร้างนี้เข้มแข็งด้วย หากโครงสร้างเหล่านี้ไม่เข้มแข็ง ก็จะไม่สามารถสรรหาผู้สมัครที่มีคุณภาพได้ และต่อให้มีผู้สมัครที่มีคุณภาพอาจจะชนะเลือกตั้ง แต่ก็ต้องการกลไกที่เข้มแข็งในการติดตามกำกับการทำงานของนักการเมืองพรรคเช่นกัน

• ด้วยภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกลที่เข้าถึงคนชั้นกลาง และคนในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ตัวแทนในต่างจังหวัดจะสู้กลุ่มบ้านใหญ่ได้หรือไม่

ในการเลือกตั้งก็คงมียุทธศาสตร์หลายส่วน แต่เวลาพูดว่าสู้ได้ไหม มันอาจจะมองได้คนละกระบวนทัศน์ ถ้ามองว่าสู้ได้ไหมในแง่ของเครือข่าย หัวคะแนน ทรัพยากรในการขับเคลื่อนที่มาก หรือผู้มีอิทธิพล เราสู้ไม่ได้หรอกและก็ไม่ได้ไปสู้ในสนามแบบนั้น ผมคิดว่าข้อแข็งของเรากลับกลายเป็นทีมงานหรือประชนชน ที่ต้องการช่วยกันทำงานด้วยเป้าหมายที่เห็นร่วมกัน พร้อมที่จะเสียสละ คนที่ทำงานให้พรรคไม่ได้อะไรเลย เสียเงิน เสียเวลา มันดูเหมือนจะไม่แข็งแรงแต่มันกลายเป็นจุดแข็ง
ผมคิดว่าการที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและสามารถฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะมีคนที่รู้สึกจริงๆ ว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงไปกับเรา เห็นด้วยกับข้อเสนอ เห็นด้วยกับนโยบายของอนาคตใหม่และก้าวไกล และมาช่วยกันลงไม้ลงมือในแบบของตัวเอง นี่เป็นความยั่งยืนของพรรค เราอาจจะสู้ไม่ได้ในมิติเดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน เวลาวิเคราะห์การเลือกตั้งอย่างพื้นที่ช้างชนช้าง เวลาสื่อมวลชนวิเคราะห์พรรคก้าวไกลไม่เคยอยู่ในเรดาร์ แต่สุดท้ายชนะ ไม่ใช่เขตเมืองอย่างเดียวที่ชนะ แต่เขตชนบทก็ชนะ

เรายังเชื่อมั่นในการวางรากฐานแบบนี้ของพรรค คือ ทำให้อยู่ได้เพราะประชาชน มาร่วมกันสร้างและเสริมให้บทบาทกับสมาชิกพรรคให้มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับมีการพัฒนาศักยภาพในการทำงานของคนที่มาช่วยทำงานให้พรรค ถ้าวางเป้าหมายว่าอยากให้คนกลับมาศรัทธาในนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง คิดว่าเราต้องพยายามทำพรรคการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าทำเพื่อเขาจริงๆ ไม่มีวาระซ่อนเร้นที่ทำพรรคการเมืองเพื่อเอาอำนาจหรือผลประโยชน์ส่วนตน คิดว่าการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผมได้วางยุทธศาสตร์ไว้ในเชิงเป้าหมายที่สำคัญ คือพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นให้ได้ผ่านการเลือกตั้งปี 66 ว่าการเมืองแบบก้าวไกลมันไปต่อได้และเป็นไปได้

เพราะก่อนหน้าปี 66 เพดานทางการเมืองที่เราเจอ คือประชาชนอาจจะชอบพรรคอนาคตใหม่ ชอบนโยบาย ชอบสิ่งที่เราพูด แต่ประชาชนไม่เชื่อว่าการเมืองแบบอนาคตใหม่ หรือการเมืองแบบก้าวไกลจะชนะเลือกตั้งได้จริงๆ ผมคิดว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราได้ทำลายเพดานนี้ จะเป็นต้นทุนของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นตอนนี้เรามีหน้าที่ทำงานแข่งกับตัวเอง พิสูจน์จากการปฏิบัติให้ประชาชนเห็นว่าเรายังเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของเขา ยังมีความสามารถที่จะบริหารหรือเปลี่ยนแปลงประเทศได้ตามที่เราพูดและที่ประชาชนคาดหวังได้จริงๆ เราสามารถที่จะทำให้พรรคเติบโตแข็งแรงได้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วให้ได้

• กรณีขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ออกจากพรรค หลายคนมองว่าเป็นการเล่นการเมืองแบบเก่า และช่วงที่ผ่านมาส.ส.ในพรรคก็มีข่าวฉาวหลายครั้ง คิดว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อพรรคหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในพรรคและถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนแน่นอน ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของพรรคที่จะต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า การตัดสินใจของพรรคต่อเรื่องนั้นๆ มีประโยชน์มากกว่าโทษ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในกรณีของนายปดิพัทธ์ คงเป็นภาระของเขาเองในการพิสูจน์ตัวเอง ส่วนทางพรรคก็แถลงกับสาธารณะและตัดสินใจบนพื้นฐานที่มีเหตุผลและตรงไปตรงมาที่สุด ในเมื่อวันนี้พรรคตัดสินใจจะเป็นฝ่ายค้านอย่างเต็มรูปแบบ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีสมาชิกพรรคคนใดคนหนึ่งไปเป็นรองประธานสภาฯ แต่ถ้านายปดิพัทธ์พิสูจน์ตัวเองไม่ได้ อย่างที่บอกว่าประสงค์ที่จะทำงานในฐานะรองประธานสภาฯ อยู่ และไม่สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมายตามที่บอกประชาชนไว้ ก็เป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่ทุกฝ่ายต้องพร้อมแบกรับ

ส่วนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการคุกคามทางเพศหรือการก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศนั้น ผมคิดว่าปัญหานี้พรรคจะต้องเผชิญหน้าในการจัดการปัญหา เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เกิดขึ้นกับแทบทุกแวดวง เหตุผลที่แก้ไม่ได้เพราะเราไม่จริงจัง หรือเวลามีเรื่องเกิดขึ้นคนในองค์กรก็พร้อมที่จะปกปิดเพราะกลัวจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ผมคิดว่าเมื่อมีเรื่องราวเหล่านี้ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาและไม่ช่วยกันปกปิด หลายเรื่องในพรรคเมื่อมีการร้องเรียน เราไม่รีรอ หากมีมูลจะส่งเข้าคณะกรรมการวินัยในการตรวจสอบและเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการบริหาร และพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

⦁ ที่ผ่านมาพรรค ก.ก.และพรรคเพื่อไทย (พท.) จับมือสู้กับพรรคสองลุง เมื่อพรรค พท.มาเป็นรัฐบาล หากสามารถสร้างผลงานกอบกู้วิกฤตศรัทธาจากประชาชนได้ การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรค ก.ก.จะใช้ยุทธศาสตร์อะไรสู้กับพรรค พท.

ผมคิดว่าอย่ากลัวว่ารัฐบาลจะทำงานได้ดี เป็นฝ่ายค้านเชิงรุกไม่ใช่ฝ่ายแค้น ถ้าสิ่งไหนที่รัฐบาลคิดดี คงต้องสนับสนุนด้วยซ้ำ เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง สิ่งไหนที่รัฐบาลคิดดีแต่ยังทำได้ไม่ดีพอ เราก็พร้อมที่จะทำให้ดีกว่านี้ แน่นอนว่าอย่าไปคาดหวังว่าจะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าจากการที่รัฐบาลล้มเหลว ผมเคยบอกกับ ส.ส.ว่าอย่าไปกลัวว่า หากเสนอนโยบายอะไรดีๆ ไปแล้วรัฐบาลจะเอาไปทำ ถ้าเขาเอาไปทำก็ยิ่งดีกับประชาชน ผมคิดว่าต้องรักษามาตรฐานยุทธศาสตร์งานฝ่ายค้านในสภา งานยุทธศาสตร์พื้นที่ ถ้าเดินตามนี้เชื่อว่าจะได้รับความนิยมหรือยอมรับจากประชาชนมากขึ้นแน่นอน พิสูจน์ตัวเองจากการปฏิบัติและคุณภาพในการทำงาน

พรรค ก.ก.ไม่ประมาทคู่แข่งจากทุกพรรค แต่จะทำงานเพื่อแข่งกับตัวเองมากกว่าโดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image