วิโรจน์ เผย 3 คำถาม ให้สุทิน-ทร. มาแจงกมธ.ทหาร แย้มภารกิจ ‘Saving Private Sutin’

วิโรจน์’ ขอเป็นกัลยาณมิตร ตั้งภารกิจ ‘Saving Private Sutin’ แนะ ‘สุทิน’ กมธ.ทหาร พร้อมหนุนหากไม่มีอิสระในการตัดสินใจ ถาม ก่อนเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือ ‘ฟริเกต’ ควรเช็กสัญญา-คืนเงินได้หรือไม่ ย้ำ กองทัพอ้างความมั่นคง หวังปิดรายละเอียดไม่ได้ พร้อมหนุนกู้เรือหลวงสุโขทัยหาต้นตอเรือล่ม

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเชิญผู้บัญชาการกองทัพเรือแจงเรื่องการกู้เรือหลวงสุโขทัย และการจัดซื้อเรือดำน้ำ ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ว่า กองทัพเรือ จะอ้างเรื่องความมั่นคง แล้วไม่เปิดเผยรายละเอียดปัญหาไม่ได้ เพราะเป็นเงินภาษีประชาชนที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว ตนเชื่อว่า ประชาชนต้องการทราบว่า โครงการที่เกี่ยวกับค่าจอด การฝึกอบรม โรงเก็บทุ่นระเบิดสนับสนุน โรงเก็บตอร์ปิโด ที่ตั้งงบประมาณไว้ 11,000 ล้านบาท มีการเบิกใช้ไปแล้วเท่าไหร่ รวมถึงเรือหลวงช้าง ที่เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำมีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เกิดความเสียหายมูลค่าเท่าไหร่

“มีหลายคำถามต่อกองทัพเรือ ประเด็นแรกที่สหภาพยุโรป หรือ อียู มีข้อตกลงห้ามส่งยุทโธปกรณ์ให้กับประเทศจีน ก่อนลงนามปี 2560 มีการทำหนังสือขอการยืนยันจากประเทศจีนหรือ CSOC ว่ามีปัญหาหรือไม่ หรือ การลงนามสัญญามีความหละหลวม สองคือความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ใช่แค่ 7,000 ล้าน แต่เสียหายไปเท่าไหร่ สาม ต้องคุยในรายละเอียดสัญญาขอคืนเงินได้หรือไม่ วันนี้นายสุทินให้สัมภาษณ์ว่า จะเปลี่ยนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เดิมเปลี่ยนเป็นแม่ปุ๋ย ล่าสุดเปลี่ยนเป็นฟริเกต ก่อนที่จะรู้ไปแลกกับอะไร ในสัญญาขอคืนเงินได้ไหม เรื่องนี้กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือต้องบอกประชาชนก่อน และค่าปรับในรายละเอียดสัญญาเป็นอย่างไร ขอแนะในฐานะกัลยาณมิตรให้พูดตรงๆ” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า หากไทยเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตสามารถทำให้ไทยไม่เสียเปรียบในสัญญาได้ และเชื่อว่า ทางจีนไม่มีแนวคิดที่จะเอาเปรียบไทย สเปกเรือฟริเกตมีหลายรุ่น ดาต้าลิงก์กับฟริเกตลำอื่นๆ มีอุปสรรคหรือไม่ สำหรับเรือต่างสัญชาติต่างรุ่น และที่สำคัญการสำรองอะไหล่ในการบำรุงรักษา จากมีเรือรบหลายรุ่นหลากผู้ผลิต ขอฝากถามนำไปยังนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าได้อ่านหนังสือปกขาวยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือหรือยัง ที่กำหนดไว้ในหน้า 17 ข้อ 36 ว่าจะสร้างกองทัพเรือที่กะทัดรัดทันสมัย ขอกองทัพเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เชื่ออาจมีโอกาสได้พูดคุยกับนายสุทินนอกรอบเรื่องเรือดำน้ำ

Advertisement

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า หากไทยจะสรุปเปลี่ยนเป็นเรือรบฟริเกต เชื่อว่า สามารถใช้อู่ต่อเรือของไทยร่วมกับเอกชนได้ ซึ่งเป็นโอกาสการสร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หรือเศรษฐศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

“มันละเอียดอ่อนเหลือเกิน เขาไม่ได้ผิดสัญญา แต่แค่ทำตามข้อตกลงไม่ได้ อันนี้ต้องใช้วง Getsunova อีกแล้ว ไม่ผิดสัญญา แต่ทำตามข้อตกลงไม่ได้ ไม่สังคายนา แต่ขอแก้ไปทีละเรื่อง พอกันทีกับการปฏิรูปขอพัฒนาร่วมกัน แล้วอนาคตมันจะมีการประดิษฐ์ประดอยคำอย่างนี้ขนาดไหน อย่าเปราะบางเลย ผิดสัญญาก็คือผิดสัญญา หาทางออกร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวย้ำว่า ในอนาคตคงจะได้มีโอกาสพูดคุยกับนายสุทิน และเมื่อใดก็ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เป็นอิสระในการตัดสินใจ คณะกรรมาธิการการทหารก็จะเข้าไปสนับสนุนการทำงาน ตนจึงเรียกภารกิจนี้ว่า “Saving Private Sutin”

Advertisement

นายวิโรจน์ยังกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องกู้เรือหลวงสุโขทัย เพื่อได้รับทราบถึงสาเหตุเรือล่มเกิดจากอะไร เช่น ปัญหาในการบำรุงรักษาผิดพลาด การออกแบบ เพื่อหาทางแก้ไขป้องกันเหตุเกิดซ้ำรอยในเรือลำอื่น และกรรมาธิการขอดูงบประมาณในการกู้เรือ หากไม่ได้สูงเกินจริง กรรมาธิการพร้อมสนับสนุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image