‘สุรชาติ บำรุงสุข’ ชี้ทางออกเรือดำน้ำจีน

‘สุรชาติ บำรุงสุข’ ชี้ทางออกเรือดำน้ำจีน

การแก้ปัญหา เรือดำน้ำS26T วงเงิน 13,500 ล้านบาทของกองทัพเรือ ที่จีนไม่สามารถนำเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนีมาติดตั้งได้ตามสัญญาจนยืดเยื้อมานานร่วม 2 ปี กลายเป็นประเด็นที่กลับมาเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง หลังรัฐบาลไทย-กองทัพเรือมีความชัดเจนแล้วว่าจะชะลอโครงการเรือดำน้ำ เปลี่ยนเป็นเรือ ฟริเกต เรือรบ 3 มิติ บนน้ำ ใต้นำ อากาศ

ในมุมของนักวิชาการด้านความมั่นคง ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้มุมมองและทางออกเรื่องนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ในรายการ The Politics ว่า สิ่งที่ขาดตอนนี้คือเรือคอร์เวต ไม่ใช่ฟริเกต

ที่เป็นเรือที่ใหญ่กว่า ถ้าแลกเอาฟริเกตจะมีมูลค่ามาก อาจจะด้วยเงื่อนไขระบบอาวุธ แต่ตอนนี้สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ ถ้ากู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาคงจะซ่อมไม่ไหว ข้อเสนอส่วนตัวคือ ให้เอา เรือคอร์เวต มาทดแทน แม้จะไม่ใช่เรือคู่แฝดกับเรือรัตนโกสินทร์ ทางออกที่ดีที่สุด แลกเรือที่อยู่ในมูลค่าประมาณเดียวกัน เพราะหากไปเพิ่มเงินอีกสัก 1 พันล้านบาท

Advertisement

คนไทยหลายส่วนรู้สึกรับไม่ได้ ภาพที่ปรากฏออกมาตอนนี้หลายคนรับไม่ได้ แล้วตั้งคำถามว่าไทยไม่ใช่ฝ่ายผิดแล้วพอไปแลกทำไมต้องแถมเงิน ที่จริงเป็นปัญหาเรื่องมูลค่าด้วย

เฉพาะหน้านี้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องทำความเข้าใจ โจทย์ใหญ่วันนี้ มีทั้งโจทย์ทางการทหาร และโจทย์การเมืองคู่ขนาน โจทย์การทหารต้องตอบให้ชัดว่า วันนี้ เอาเรือดำน้ำแลกเรือคอร์เวตก่อน เพื่อแก้ปัญหาเรือหลวงสุโขทัย น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติย้ำว่า ยังยืนยันว่าการเอาเรือดำน้ำที่มีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ อย่างไรก็ไม่ได้ เอาเครื่องยนต์จีนมาใส่น่าจะมีปัญหา ทางออกที่ดีที่สุดคือการแลกเรือในระดับที่มูลค่าใกล้เคียงกัน และเป็นเรือที่อาจตอบโจทย์ความต้องการทางยุทธศาสตร์ทางทะเลของไทย โจทย์เฉพาะหน้าเราต้องการเรือคอร์เวต เพื่ออุดปัญหากรณีเรือหลวงสุโขทัยล่ม ที่วันนี้ยังไม่มีกระบวนการการกู้เรือเลย ต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร กู้มาแล้วซ่อมคุ้มหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่คุ้มแน่นอน

Advertisement

การขอเปลี่ยนเป็นเรือคอร์เวตจากจีน น่าจะเป็นทางออก เพราะในทางการทหาร ถ้ากองทัพเรือบอกว่าขอแลกแต่ขอเพิ่มเงิน จะกลายเป็นปัญหาการเมืองไม่ใช่ปัญหาทางทหาร เป็นโจทย์อีกชุด เหมือนว่าเป็นกำลังมีการจัดซื้อซ้อนอีกแบบหนึ่ง ต้องขอเรียนตามตรงถึงกองทัพเรือว่ากรณีนี้ไม่น่าจะเป็นอะไรที่ดี ต้องบอกถึงนายสุทิน คลังแสงว่าอย่าตัดสินใจแบบนั้น ไม่อยากเห็นนายสุทินเอาเรื่องเรือฟริเกตที่ต้องเพิ่มเงินอีกมหาศาลไปโยนให้คณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นคนตัดสินใจ

รมว.กลาโหมมีหน้าที่กลั่นกรองเรื่อง ความเห็นจากกองทัพเรือไม่ใช่ข้อยุติ แต่เป็นความเห็นของเหล่าทัพที่นำเสนอเพื่อให้ รมว.กลาโหมต้องตัดสินใจ ถ้าดำรงตำแหน่งเป็น รมต.แล้วไม่สามารถมีวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจที่จะตัดสินใจข้อเสนอของเหล่าทัพได้ จะทำให้เกิดปัญหาไปเรื่อยๆ แล้วจะกลายเป็นปัญหาทางการเมือง ข้อถกเถียงวันนี้ต้องตระหนักว่า ข้อเสนอของกองทัพเรือเป็นเพียงข้อเสนอ ถ้าเอาเข้า ครม.จะมีอย่างเดียวคือขอเปลี่ยนทีโออาร์เพื่อปรับความต้องการของรัฐบาลไทย ตรงนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน

ส่วนที่หลายคนออกมาสะท้อน ออกมาโพสต์ว่าถ้าจะเปลี่ยนนั้นไม่ง่าย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ เห็นว่า แน่นอนว่าเปลี่ยนไม่ง่าย แต่ไม่เปลี่ยนยุ่งกว่า ฝ่ายค้านเองต้องตอบเหมือนกันว่าตกลงที่ไม่เปลี่ยน คนที่ออกมาค้านแปลว่า ยืนยันให้รัฐบาลไทย กองทัพเรือไทย รับเรือดำน้ำที่เป็นเครื่องยนต์จีนหรือ ตรงนี้ต้องตอบกัน เห็นหลายคนโพสต์ รวมทั้งคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ต้องตอบเหมือนกัน ระบอบประชาธิปไตย คงต้องตั้งหลักมากกว่าที่จะคิดว่าทุกอย่างต้องชนกับทหาร แต่คิดว่าการชนกับทหารต้องชนในมิติทหาร และมีเหตุผลในมิติทางยุทธศาสตร์ ทหารเองต้องยอมรับว่าโจทย์เรือดำน้ำวันนี้ ไม่ใช่โจทย์ทางทหารแบบเดียว แต่เป็นโจทย์ที่ซ้อนกับปัญหาทางการเมืองด้วย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติได้ให้ความเห็นกรณีสัญญาณแนวโน้มจะเปลี่ยนจากเรือดำน้ำไปเป็นเรือผิวน้ำ โดยมีการพูดถึงแค่เรือฟริเกต และนายกฯยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เสียเปรียบแน่ๆ ว่า วันนี้ข้อถกเถียงที่ออกมาไม่ใช่ข้อถกเถียงทางยุทธศาสตร์ทางทะเล แต่ข้อถกเถียงที่ออกมากลายเป็นปัญหาเรื่องเงินที่ไทยต้องจ่ายเพิ่ม เรายังไม่ได้ยินข้อถกเถียงเลยว่า ตกลงกองทัพเรือไทยต้องการคอร์เวต หรือฟริเกตกันแน่

เพียงแต่ตนเป็นผู้เสนอเรื่องนี้มานานแล้วยังยืนยัน แปลว่าโจทย์นี้ มาถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่าจะไปถึงขั้นแตกหักเลยคงไม่ได้ ปัญหาคือจะประนีประนอมเพื่อให้ไทยเองไม่เสียผลประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร

เมื่อถามว่าถ้าเปลี่ยนเป็นเรือคอร์เวต ไทยไม่ต้องจ่ายอะไรมากไปกว่านี้ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวว่า ยังไม่รู้ราคาเรือจีน แต่รู้ราคาเรือดำน้ำที่จ่ายประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นจะต้องทำเรื่องราคากันให้เกิดความชัดเจน แต่สิ่งที่ได้ยินคือ ถ้าจะซื้อฟริเกตต้องเพิ่มเงินอีก 1 พันกว่าล้านบาท จะมีปัญหาทันที ตกลงยุทธศาสตร์ทางทะเลของไทยถกกันแค่มิติสตางค์อย่างเดียวใช่ไหม วันนี้สังคมไทยถกกันแค่เรื่องเงิน อาจจะแลกก็ได้ถ้าไม่จ่ายมูลค่าเพิ่ม แต่พอถึงจุดจะแลกบอกไม่ได้หรอกเพราะการเปลี่ยนสัญญาเป็นเรื่องยาก แน่นอนการเปลี่ยนสัญญาจะเป็นปัญหา เพราะทีโออาร์เขียนไว้อีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้สังคมไทยต้องตั้งสติคิด อย่าคิดเพียงเพราะเรื่องนี้ด้านหนึ่งเป็นเรื่องเงิน โจทย์ที่ใหญ่กว่า คือปัญหาเรื่องเรือดำน้ำของจีน

เมื่อต้องหาทางออกกองทัพเรืออย่าตัดสินใจฉวยโอกาส เพราะการเพิ่มเงินอีกพันกว่าล้านนั้น คิดว่าสังคมรับไม่ได้ กองทัพเรือบอกเป็นเรือฟริเกต แต่ต้องเพิ่มเงินอีก 1 พันกว่าล้านบาท แต่ยังไม่เคยตอบว่าหากเป็นเรือคอร์เวต ราคาอยู่ประมาณไหน

เรื่องนี้ต้องแฟร์กับปัญหาประเทศ ในกรณีอาจต้องตัดสินใจว่า อาจต้องขอดูคอร์เวต วันนี้เรามีฟริเกตจากเกาหลีเฉพาะหน้าลองตัดสินใจก่อนว่าจะมีเรือทดแทนเรือหลวงสุโขทัยไหม อยากให้กองทัพเรือทำราคาคู่ขนานนอกจากราคาของฟริเกต แต่ราคาของคอร์เวตละเท่าไร 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image