9.00 INDEX ความหงุดหงิด ของ นายกรัฐมนตรี กระบวนการทำงานของ “นักข่าว”

เห็นใจใน “ความหงุดหงิด” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีอันเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ
เห็นใจ และ เข้าใจ
เห็นใจเพราะเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน”และมากด้วย”ความเปราะบาง”ในทางการเมือง
ละเอียดอ่อนเพราะเป็นเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ”
เปราะบางเพราะว่าเป็น “ความเห็น” อันมาจาก “องคมนตรี” หากดำเนินการไม่ราบรื่น
ก็มากด้วย “แรง” สะเทือน
กระนั้น จะไปตำหนิบทบาทและการทำงานของ “สื่อ” โดยเฉพาะสื่อ “หนังสือพิมพ์”
ก็อาจจะไม่เป็นธรรม
เพราะที่ปรากฏใน “สื่อ”ก็ล้วนแต่มาจาก “คำพูด” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น
ที่สร้างความหงุดหงิด มิได้มาจาก “การรายงานข่าว”
ตรงกันข้าม มาจาก”การตีความ” มากกว่า

อะไรคือเหตุปัจจัยให้ลงความเห็นว่า “ปัญหา” มีมูลฐานมาจากกระบวนการของ “การตีความ”
ขอให้ศึกษาจากการเคลื่อนไหวที่”ทำเนียบรัฐบาล”
ระหว่างจะเดินไปยังห้องทำงานบนทางเชื่อมระหว่างตึกสันติไมตรีกับตีกไทยคู่ฟ้า นายกรัฐมนตรีได้หันกลับมายังผู้สื่อข่าวเปิดหน้าเพจข่าวบนโทรศัพท์มือถือให้ดู
“เป็นอย่างไร เห็นหรือไม่ สื่อต่างประเทศเขาไปนำเสนอ เสียหาย”
เด่นชัดว่าเป็น “รายงาน”อันมาจาก “สื่อต่างประเทศ”
เด่นชัดยิ่งกว่านั้น เมื่อบรรดา “ผู้สื่อข่าว” ที่ร่วมดูหน้าเพจข่าวบนโทรศัพท์มือถือ คือคำถามที่ว่า
“ในการแถลงข่าวของท่านนายกฯเมื่อวันที่ 10 มกราคม ท่านนายกฯพูดเองไม่ใช่หรือว่า มีพระราชกระแสลงมาว่ามี 3-4 รายการที่จำเป็นต้องแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์”
เท่ากับยืนยัน “แหล่งข่าว” และ “คำพูด”

ประเด็นจึงอยู่ที่ 1 กระบวนการทำงานอย่างที่เรียกว่า “รายงาน”ของผู้สื่อข่าว
และ 1 กระบวนการในการ”ตีความ”
กระบวนการ “ตีความ” สามารถสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านบทบาทของ “ต่างประเทศ”
ต้องยอมรับว่า “การตีความ” มาจาก”การวิเคราะห์”
ถามว่าไม่ว่าจะใช้ “วิธิวิทยา” ในการวิเคราะห์จากสำนักใดในทางความคิด แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ ดำรงอยู่บน”มูลฐาน”เดียวกัน
นั่นก็คือ ข้อเท็จจริงอันเป็น “ต้นตอ” หรือ”ราก”ที่มา
ต้องยอมรับว่า รากที่มาของ “ข่าว” มิได้เป็นการสร้างขึ้นเองของ “นักข่าว”อย่างแน่นอน
หากแต่มี “คนพูด” หากแต่มี”เสียงพูด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image