นิกร คุยไอติม ชื่นมื่น หารือคำถามประชามติ ตั้งอนุฯหาคำตอบสุดท้าย ระบบเลือกตั้งส.ส.ร.

‘อนุทำประชาติแก้ รธน.’ พบ กมธ.พัฒนาการเมือง สภาหารือออกแบบคำถามประชามติ ‘ไอติม’ เผย ตั้งอนุฯศึกษาระบบเลือก ส.ส.ร.ด้าน ‘นิกร‘ พอใจสองฝ่ายเห็นตรงกัน

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มี นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นประธาน กมธ. โดยใช้เวลาในการหารือ 2 ชั่วโมง เพื่อหารือเกี่ยวกับการออกแบบคำถามในการทำประชามติ แบบใด และครอบคลุมทุกประเด็น

จากนั้น เวลา 15.15 น. นายพริษฐ์กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ เนื่องจากทางคณะอนุฯต้องการเดินสายในการรับฟังความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนเกี่ยวกับกระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำประชามติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขอย้ำว่า การพูดคุยครั้งนี้ เป็นการพูดคุยกับตน และกรรมาธิการไม่ใช่พูดคุยกับสมาชิกพรรคก้าวไกล เพราะทางอนุฯจะเข้าพูดกับพรรคก้าวไกลในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้อยู่แล้ว โดยทางคณะอนุฯได้แจ้งว่าต้องการจะทำแบบฟอร์มเพื่อสอบถามความเห็น ส.ส.ทั้ง 500 คนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เห็นด้วยหรือไม่กับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเห็นอย่างไรกับการทำสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงปัญหาที่ ส.ส.มองว่า รัฐธรรมนูญปี 60 สมควรที่จะแก้ไข โดยการออกแบบคำถามจะต้องมีการเปิดกว้างเพียงพอให้ ส.ส.สามารถแสดงความเห็นและเจตนารมย์ของตัวเองได้ ซึ่งทางอนุฯก็จะนำความเห็นที่ได้แลกเปลี่ยนกันวันนี้ไปพิจารณา และปรับปรุงชุดคำถามเพิ่มเติม

นายพริษฐกล่าวต่อว่า ทาง กมธ.ได้มีการตั้งอนุกรรมาธิการ 1 ชุดจำนวน 10 คน ประกอบด้วยฝ่ายการเมือง 4 คน โดยแบ่งเป็น 2 คนจากฝ่ายค้านรวมตนด้วย และอีก 2 คนจากฝ่ายรัฐบาล อีก 3 คนเป็นนักวิชาการ และอีก 3 คนเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน 3 กลุ่ม ที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 3 พฤศจิกายน ทั้งนี้ อนุ กมธ.จะมาศึกษาระบบเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากอยู่ภายใต้กรอบของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้ง และทางเลือกอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เป็นระบบเลือกตั้งตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความนิยมของประชาชน เรื่องความหลากหลายทางวิชาชีพ กลุ่มสังคม รวมถึงมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และเมื่ออนุฯศึกษาระบบเลือกตั้งเสร็จทั้งหมดก็จะนำรายงานและข้อเสนอส่งไปให้กับคณะกรรมการศึกษาฯของรัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้มีข้อกังวลว่า หาก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อาจจะมีข้อกังวล ก็หวังว่ารายงานชุดนี้จะคลายข้อกังวลดังกล่าวได้ และทำให้รัฐบาลมีข้อมูลครบถ้วนมากขึ้นว่าจะเดินหน้าด้วยการมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่

Advertisement

ด้าน นายนิกรกล่าวว่า การหารือในวันนี้ได้ความเห็นที่ดีมากจาก กมธ. แต่จะมีประเด็นที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่หลายส่วน ซึ่งในแต่ละข้อที่อาจเป็นคำถามเฉพาะของ ส.ส.ก่อน เพราะเป็นโหวตเตอร์ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงเล็กน้อย เช่นเดิมเรามีการตั้งคำถามว่า ตามนโยบายของรัฐบาล การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเว้นหมวด 1 หมวด 2 แต่ทาง กมธ.ให้ความเห็นว่า ถ้าไม่เว้นหมวด 1 หมวด 2 จะมีคำถามหรือไม่ ซึ่งเราก็รับไป และจะต้องไปคุยในคณะกรรมการฯอาจจะต้องมีคำถามขึ้นมากก็เป็นได้ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่เห็นแย้งกันอยู่คือเรื่อง ส.ส.ร. วันนี้ได้ข้อสรุปว่า โดยจะถามว่า มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ และให้มีหรือไม่ ส่วนจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ก็อาจจะต้องยกไว้ก่อน เพราะมีคำถามในเชิงลึก อาจจะให้คณะ กมธ.ที่ตั้งโดยสภาในอนาคตเป็นผู้พิจารณาว่า จะทำอย่างไร

นายนิกรกล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพูดถึงแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า อยากจะแก้ทั้งสองฝ่ายที่เห็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งก็จะพยายามและได้มีการพูดคุยที่นอกเหนือจากคำถามคือความเป็นไปได้ หลักการในทางการเมือง ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจกัน โดยทางคณะ กมธ.จะตั้งคณะอนุ กมธ.เพื่อที่จะทำงานกันอย่างใกล้ชิด จะได้หารือกันในคำตอบสุดท้าย ที่จะนำไปสู่คำถามที่มีต่อประชาชน

นายนิกรกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีความกังวลเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีการพูดคุยกันโดยส่วนตัวเห็นด้วย เพราะรู้อยู่แล้วว่า การใช้เสียงกึ่งหนึ่งของทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแรงจริง หากเสียงไม่ถึงแต่ทุกคนหวังจะแก้ก็แก้ไม่ได้เลย เพราะประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งทางคณะอนุ และชุดที่ศึกษาเห็นว่า เราจะแก้ไปก่อนโดยใช้กฎหมายปัจจุบัน เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเตะถ่วง แต่เห็นด้วยที่จะให้ทาง กมธ.พัฒนาการเมืองไปยกร่าง เพราะอาจจะต้องปรับปรุงกฎหมายประชามติ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ใช้เกี่ยวกับสัดส่วนการถามว่า จะต้องถามกี่ครั้ง เพราะครั้งหนึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาท ซึ่งการทำประชามติอาจจะมีเรื่องอิเล็กทรอนิกส์มาด้วยหรือไม่ อาจจะต้องฝาก กมธ.ไปพิจารณา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image