สมัชชาคนจน ดาวกระจาย! บุกถาม ‘กรมชลฯ’ เรื่องเข้า ครม.ยัง? ตามนัด ‘แรงงาน’ หลังอ้างงานเยอะ

สมัชชาคนจน ดาวกระจาย! ถามหาน้ำใจจาก ‘กรมชล’ จี้ เรื่องเข้า ครม.ยัง? ตามวันประชุม ‘กระทรวงแรงงาน’ หลังอ้างงานเยอะ

สืบเนื่องการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งปักหลักบริเวณถนนลูกหลวง ริมคลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นเวลายานนานกว่า 1 เดือน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อย โดยที่ผ่านมาตัวแทนสมัชชาคนจน ได้เข้าหารือกับตัวแทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีการเร่งแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน สมัชชาคนจน ประมาณ 400 คน เคลื่อนขบวนกระจายตัวไปยังหน่วยงานราชการหลายจุด ได้แก่ กรมชลประทาน และกระทรวงแรงงาน เพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา หลังจากผลการเจรจาที่ผ่านมา กับกรมชลประทาน มีแนวทางให้ยกเลิกเขื่อนท่าแซะและเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งการนำผลการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะที่ สมัชชาคนจน ประมาณ 150 คน เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งรัดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน กรณีแรงงาน

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ถนนลูกหลวง สมัชชาคนจน ตั้งขบวนก่อนเดินมุ่งหน้าไปยัง กรมชลประทานเป็นที่แรก เพื่อทวงถามหลังจากมีการเจรจากับตัวแทนของภาครัฐเมื่อ 11 ตุลาคม ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

หนึ่งในผู้ชุมนุมเผยว่า กรมชลประทานแจ้งแนวทางแก้ปัญหากรณีสร้างเขื่อน ว่าเขื่อนท่าแซะและเขื่อนแก่งเสือเต้น ยินดีที่จะนำเสนอ ครม. เพื่อยกเลิกเขื่อนทั้ง 2 แต่หลังผ่านมา 1 เดือน ผู้ชุมนุมยังไม่เห็นตัวหนังสือที่กรมชลประทาน จะนำเสนอต่อ ครม.

ADVERTISMENT

“อีกเรื่องที่เรียกร้องให้กรมชลประทาน ดำเนินการให้แล้วเสร็จ คือการนำผลการศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอ กรมชลประทาน นำเรื่องแจ้งต่อที่ประชุม ครม. ซึ่งผู้ชุมนุมที่มาปักหลักยังไม่ได้รับการชี้แจ้งจาก กรมชลประทาน จึงนัดหมายเดินขบวนไปทวงถามความคืบหน้าในวันนี้” หนึ่งในผู้ชุมนุมเผย

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศระหว่างเดินขบวน ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนมากเป็นแรงงาน เกษตรกร ชาวประมงจากภูมิภาคต่างๆ ตั้งขบวนแถวตอนเรียง 2 พร้อมสวมหมวกป้องกันแดด โดยเดินบนทางเท้า เลี้ยวขวาที่แยกเทเวศร์ไปยังกรมชลประทาน ผ่านถนนสามเสน บางส่วนสวมผ้าพันคอสีเขียวและถือธงที่มีเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม โดยการเดินขบวนเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากถนนสามเสน มีการก่อสร้างและถนนบางช่วงมีน้ำท่วมขัง

ทั้งนี้ เมื่อขบวนเคลื่อนผ่านหอสมุดแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเจรจาโดยแนะนำให้ไปอีกเส้นทาง ไม่ผ่านวังสุโขทัย เนื่องจากทางแคบและผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก จึงแนะนำให้ทะลุผ่านถนนสามเสน ซอย 15 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกตลอดการเดินขบวน

บรรยากาศการชุมนุม หน้ากรมชลประทาน ผู้ชุมนุมชายรายหนึ่งกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงว่า พี่น้องเหนื่อยมากพอแล้ว เราอดทนมากพอแล้ว เราเดินมาระยะทาง 4-5 กิโลเมตร เหนื่อยพอแล้ว

“พอกันที กรมชลประทานที่เป็นคนที่ใหญ่ที่สุด บริหารจัดการน้ำ พี่น้องอยากใช้น้ำ อยากมีห้องน้ำ ถ้าไม่มาก็จะไม่ได้คำตอบ ตอนนี้ทางฝ่ายกฎหมายของกรมชลประทาน บอกว่าหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯ แล้ว แต่เราไม่เชื่อ เราจะยืนหยัดจนกว่าคนที่ได้รับหนังสือที่กระทรวงเกษตร เอาหนังสือมาให้เราดูที่นี่ เราถึงจะกลับ ต้องเอาร่างเอกสารมาให้เราดู ให้เราเห็น เราก็จะพาพี่น้องกลับ

เราจะพักที่นี่ ขอการอำนวยความสะดวกจากตำรวจและกรมชลประทาน ผมไม่ได้มาด่าพวกท่าน แต่มาด่านายท่าน มีเอกสารสั่งแล้วก็ทำ ไม่รู้ติดขัดอะไร ทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยทำตามได้ยาก เรามาวันนี้มีน้ำกินสักหยดไหม กรมชลประทานยังไม่มีเลย น้ำใจแม้แต่นิดเดียวก็ไม่มีเลย แต่ไปสร้างเขื่อน เอาน้ำไปจากที่ทำกินของพี่น้อง” ผู้ชุมนุมชายรายหนึ่งกล่าว

จากนั้น เวลา 14.30 น. หลังจากสมัชชาคนจนเคลื่อนขบวนไปทวงถามเอกสารจากกรมชลประทาน ต่อมา ตัวแทนกรมชลประทาน แจ้งกับสมัชชาคนจนว่า ได้นำส่งเอกสารเรื่องรายงานผลการศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนราษีไศล ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว โดยสมัชชาคนจน ขอให้มีการยืนยันจากกระทรวงฯ ว่าพรุ่งนี้จะเอาเรื่องเข้า ครม. และได้นำส่งเอกสารแจ้งเรื่องผลการเจรจาได้ข้อยุติว่า จะยกเลิกเขื่อนท่าแซะและเขื่อนแก่งเสือเต้น ไปที่รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน ที่หน้ากระทรวงแรงงาน สมัชชาคนจนอีกกลุ่มหนึ่ง เดินเท้ามาเรียกร้องในส่วนของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยต้องการให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมถึงไรเดอร์ส่งอาหาร ที่แม้เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานก็ไม่มีการคุ้มครองจากรัฐ รวมถึงกรณีที่ในหลายโรงงานฉกฉวยลดต้นทุน ด้วยการรับนักศึกษาเข้ามาทำงาน กดค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

“ไม่มีสวัสดิการอื่นใด ได้รับเพียงเงินที่นายจ้างจ่ายให้เพียงพอประทังชีวิต ทั้งที่ควรได้รับสิทธิคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 11 ฉบับ เป็นข้อเรียกร้องเชิงนโยบายที่เราต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้กับพวกเรา โดยที่กระทรวงแรงงานต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการเสนอเรื่องให้ ครม.วินิจฉัย ออกกฎหมาย หรือหาทางแก้ปัญหาต่อไป” หนึ่งในผู้ชุมนุมกล่าว

สมัชชาคนจนระบุว่า หลังจากนายกฯ เซ็นลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนทั้ง 7 คณะ ซึ่งคณะอื่นๆ มีกำหนดวันประชุมหมดแล้ว เหลือเพียงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน กรณีปัญหาแรงงานเพียงคณะเดียวที่กำหนดช่วงเวลาในการนัดประชุมไม่ได้ โดยกระทรวงอ้างว่างานเยอะ จึงขอนัดหมายอีกครั้ง เดือนมกราคม 2567 ในวันนี้จึงต้องมาตามวันประชุมกับกระทรวงแรงงาน

นอกจากนี้ เวลา 11.30 น. กลุ่มสมัชชาคนจนบางส่วน ประมาณ 200 คน ยังเดินทางไปเดินรณรงค์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเดินเท้าขึ้นไปยังฐานของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนชูป้ายผ้าข้อความ “หยุดร่าง พ.ร.บ.ทำลาย” “คนจนต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” เพื่อสื่อสารต่อสารธารณชนอีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image