รุ่งเรือง พิทยศิริ แจมไอเดีย‘เงินดิจิทัล’ ‘ลงทุน’ VS ‘อุปโภคฯ’

รุ่งเรือง พิทยศิริ แจมไอเดีย‘เงินดิจิทัล’ ‘ลงทุน’ VS ‘อุปโภคฯ’
รุ่งเรือง พิทยศิริ

หมายเหตุ – รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

⦁นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตผ่านระบบบล็อกเชนของรัฐบาล ควรเดินหน้าด้วยแนวทางใด
ส่วนตัวมองว่า การกระตุ้นโดยการใช้จ่ายของภาคประชาชนอาจแตกต่างกับการกระตุ้นโดยเน้นเรื่องของการจ้างงานกับการลงทุน เพราะถ้ากระตุ้นในเรื่องของการจ้างงานและการลงทุนจะได้ผลทางเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนการกระตุ้นการใช้จ่ายแบบอุปโภคบริโภคเป็นเพียงส่วนต่างจากที่เราอุปโภคบริโภค ในช่วงก่อนที่จะมีการกระตุ้นกับหลังกระตุ้น ผลประโยชน์ที่ได้กับระบบเศรษฐกิจจะได้เพียงแค่ส่วนต่าง เพราะการกระตุ้นโดยให้ประชาชนไปใช้เงิน ถึงแม้ไม่กระตุ้นเขาก็ใช้อุปโภคบริโภคอยู่แล้ว เพียงแต่พอไปกระตุ้นแล้วเขาก็อาจใช้อุปโภคบริโภคมากขึ้น หรือใช้ของที่มีราคาสูงขึ้น แต่ถ้าเรากระตุ้นในลักษณะที่ทำให้มีการจ้างงานใหม่ หรือการลงทุนใหม่ ตรงนี้จะเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาเต็มๆ 100% ซึ่งผลประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจก็แตกต่างกัน

หากเราเลือกที่จะกระตุ้นในลักษณะของการใช้จ่ายตรงนี้ ก็ต้องยอมรับว่าผลประโยชน์อาจจะไม่มากเท่ากับการทำเมกะโปรเจ็กต์ ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน ส่วนการกระตุ้นการใช้จ่าย ต้องดูว่าการใช้จ่ายแบบใดที่ดูจะมีแนวโน้มดีที่สุด ระหว่างใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค ซื้ออาหาร เครื่องใช้ไม้สอย กับใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในครัวเรือนซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก อย่างนี้ผลประโยชน์จะแตกต่างกัน

ถ้ารัฐบาลจะเลือกการกระตุ้นแบบใช้จ่ายของภาคประชาชนจริงๆ ไม่นำเงินนี้ไปทำเมกะโปรเจ็กต์ ควรให้เงินนั้นตกไปสู่การลงทุนในครัวเรือน หรือการนำไปใช้ในการประกอบอาชีพอิสระให้มากที่สุด เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก รวมถึงสตาร์ตอัพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เอสเอ็มอี(SME) ลดน้อยลง ฉะนั้น ถ้าเรากระตุ้นโดยเดินไปตามเทรนด์ เราก็ควรจะเดินไปตามเทรนด์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระกับพวกสตาร์ตอัพ แน่นอนถ้าไปกระตุ้นพวกผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือพวกสตาร์ตอัพเขาก็ลงทุนต่อ คือ ถ้าเงินไปช่วยในเรื่องของการประกอบอาชีพ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจมากกว่าแน่นอน

Advertisement

แต่ถ้าให้เงินไปเหมือนกับโครงการคนละครึ่ง ร้านค้าครึ่ง ประชาชนใช้ครึ่ง ส่วนใหญ่คนก็ไปซื้ออาหาร ของกินของใช้ เงินจะหมุนไม่เท่ากับการที่นำเงินเอาไปลงทุนเพื่อการประกอบอาชีพอยู่แล้ว เพราะเวลาที่เราไปบริโภค เราซื้ออาหารมันจบที่ตัวเราขึ้นอยู่ที่ตัวเราว่าจะไปต่ออย่างไร บางทีตัวเราก็ไม่ไปต่อ ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพราะเป็นลูกจ้างอะไรอย่างนี้

แต่ถ้าไปกระตุ้นแล้วไปซื้อปุ๋ย ซื้อหัวรถไถ แล้วสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวของเขาได้ รู้วิธีจัดการผลิตผล ไปช่วยในเรื่องของการแปรรูปสินค้าเขา เพราะวันนี้วัตถุดิบทางการเกษตรหลายอย่าง เช่น ข้าวที่ใช้กันถึงแกลบเลย แปรรูปได้ทุกอย่าง สินค้าเดี๋ยวนี้คือถ้าคนปลูกสามารถมีทุน แล้วเดินหน้าไปสู่การแปรรูปได้ เศรษฐกิจโตมันอยู่ที่มูลค่าเพิ่ม ถ้าเศรษฐกิจมีมูลค่าเพิ่มมากเท่าไหร่ เศรษฐกิจยิ่งโตมากขึ้นเท่านั้น

ถ้ารัฐบาลบอกว่ากระตุ้นด้วยดิจิทัลวอลเล็ตแล้วอยากให้เศรษฐกิจโต ต้องถามรัฐบาลว่า แล้วมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ไหน ถ้าประชาชนใช้เงินแล้วไม่เกิดมูลค่าเพิ่ม เศรษฐกิจก็โตน้อย อาจจะลงทุนไป 560,000 ล้านบาท แต่เศรษฐกิจอาจจะได้อานิสงส์เพียงแค่ 300,000 ล้านบาท ถ้าอย่างนี้ก็เอาเงินไปลงทุนกับเมกะโปรเจ็กต์ดีกว่า

Advertisement

แต่ในทางการเมือง รับปากชาวบ้านแล้ว และชาวบ้านไม่มีใครไม่ชอบเงิน เราจะเอาเงินไปให้ ใครๆ ก็ชอบ ถ้าเกิดมีใครมาพูดให้ความเห็นที่ไปขัดขวางกับการได้เงิน การแจกเงินตรงนี้ชาวบ้านก็คงไม่ชอบ

แต่หากมองอย่างภาพรวมกับระบบเศรษฐกิจ ก็ควรมองอย่างเป็นธรรม คือ อยากให้เศรษฐกิจโต เศรษฐกิจจะโตได้มันอยู่ที่มูลค่าเพิ่ม เวลาคุณไปซื้อของแล้วคนที่ได้รับเงินเขาไปซื้อวัตถุดิบมาทำอะไรต่อ แล้วนำมาขายมีกำไร ถ้ามีกำไรคือมีมูลค่าเพิ่ม และถ้ามีมูลค่าเพิ่มคือ ทำให้เศรษฐกิจโต ซึ่งการคำนวณจีดีพีคำนวณได้ในเชิงการวิเคราะห์กำไรด้วย เพราะจีดีพีที่โตขึ้นนั้นมาจากกำไร
โดยระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าทุกคนกินใช้อย่างเดียวและจบที่คนนั้นไม่ไปต่อเงิน มันก็หมุนน้อย แต่จะบอกไม่ไปต่อเลยมันก็คงไม่ใช่ มันมีไปต่ออยู่แล้ว เพียงแต่มันมีไปต่อแบบน้อยกว่าการทำเมกะโปรเจ็กต์

ถ้าถมทะเลทำท่าเรือ จ้างคนงานเท่าไหร่ คุณซื้อเหล็ก ปูนนำเข้าเครื่องจักรเท่าไหร่ พวกนี้เป็นต้นทางของอุตสาหกรรม มันหมุนเยอะกว่ากันเยอะเลย

ฉะนั้นต้องแยกกันระหว่างการกระตุ้นให้เกิดผลสูงสุดกับการบรรเทาผลกระทบของประชาชน เพราะถ้าเกิดสมมุติรัฐบาลบอกว่าไม่เป็นไรทำอันนี้เพราะต้องการบรรเทาผลกระทบของประชาชน อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นั่นหมายความว่าประชาชนเดือดร้อนมากจากภาวะต่างๆ หลายประเทศก็แจกเงินกันแบบตรงๆ ยิ่งกว่าดิจิทัลวอลเล็ต

⦁การแจกเงินไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับประชาชน
มองว่าไม่ได้ระยะยาวอยู่แล้ว คือ การแจกเงินหนหนึ่ง ประชาชนซื้อของกินของใช้หนหนึ่ง ถ้าไม่ได้เป็นขั้นต้นของวงจรเศรษฐกิจก็หนเดียว แต่ถ้านำไปใช้จ่ายในลักษณะที่เป็นขั้นต้นของวงจรเศรษฐกิจมันก็จะหมุนไปในขั้นต่อๆ ไป

⦁นี่แสดงว่าการแจกเงินให้ประชาชนนำไปใช้ลงทุนดีกว่าให้นำไปอุปโภคบริโภคเฉยๆ ใช่หรือไม่
ผมมองว่า แน่นอน ดีกว่าเยอะเลย จริงๆ ควรจะมานั่งไล่ดูว่าตกลงแล้ว เราจะจัดกลุ่มอย่างไรดี เขาประกอบอาชีพอะไร คุณจะใช้บล็อกเชนในการเป็นองค์ประกอบของแอพพ์ที่จะใช้จ่ายตรงนี้ คุณก็สามารถเขียนได้ ถ้าลงทะเบียนว่าเป็นกลุ่มอาชีพอะไร จะมีร้านค้าอะไรที่อนุญาตให้ใช้

ถ้าสามารถทำแอพพ์ที่ให้ลงทะเบียนและแจ้งความจำนงในการประกอบอาชีพ ต้องการอะไรแล้ว บล็อกเชนก็สามารถบอกได้ว่าให้ไปซื้อร้านเหล่านั้น เพราะร้านที่ลงทะเบียนเรารู้อยู่แล้วว่าร้านเหล่านี้ขายอะไร เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพอะไร อย่างนี้คือไปช่วยประชาชนในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

⦁อย่างนี้จะเป็นการลดกลุ่มคนที่จะได้รับเงินตรงนี้ด้วยหรือไม่
ส่วนตัวมองว่า ลดอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่พูดกันตรงนี้คือแจกแบบเหวี่ยงแห แต่ถ้าเกิดต้องการลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ เช่น โควิด ก็แจกแบบเหวี่ยงแหทั้งประเทศเลย แต่ตอนนี้จบไปแล้ว โควิดจบไปแล้ว ประเทศเปิดแล้วจะเหวี่ยงแหไปเพื่ออะไร ตกลงจะต้องการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือต้องการกระตุ้น ถ้าต้องการกระตุ้น แนะนำว่าควรจะเน้นในเรื่องการจ้างงานกับการลงทุนภาคครัวเรือน

⦁ประเมินผลกระทบระหว่างช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศอย่างไร
มองว่าอย่างไรก็ต้องกู้ มองเพียงแต่การกู้เงินตรงนี้ ตอนนี้เพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 70 ตอนนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ62 เหลืออีก 8% เงิน 5 แสนกว่าล้านบาทนั้นเป็นแค่ 3% ฉะนั้น ถ้าจะว่ากันตามเพดานการคลัง เพดานหนี้สาธารณะ กู้ได้อยู่ เพียงแต่ว่าจะไปใช้งบประมาณปี 2567 คงไม่ไหว เพราะว่าเพดานการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้านบาท ก็คงเจียดได้ไม่เท่าไหร่ คงต้องมีการออกกฎหมายขอกู้เงิน อย่างไรก็ต้องกู้ ยิ่งกู้เข้ามาใช้ก็ต้องยิ่งคาดหวังว่าเศรษฐกิจยิ่งโตเยอะ ไม่อย่างนั้นฐานะการคลังจะยิ่งขาดทุน

⦁นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรที่จะเดินหน้าอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ผมเห็นว่าควรเดินหน้าไป ผมคิดว่าการกระตุ้นมีประโยชน์เพียงแต่อาจจะต้องไปจัดกลุ่มผู้รับประโยชน์ใหม่ รัฐบาลอาจจะต้องประเมินออกมาให้ชัดเจนว่าตกลงแล้วแหล่งเงินคืออันไหน ถ้าแหล่งเงินเป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมาก ควรใช้ให้มันเกิดมูลค่าเพิ่มจากการใช้เงินตรงนี้มากที่สุด ตรงนี้ควรต้องชัดเจนก่อนว่าจะกระตุ้นหรือบรรเทาผลกระทบ ถ้าบรรเทาผลกระทบก็แจกเงินได้เลย ไม่มีปัญหา แต่ว่าตอนนี้โควิดมันจบแล้ว จะเป็นเรื่องอะไร น้ำก็ไม่ได้ท่วม ตอนนี้ก็ยังไม่ได้แล้ง แล้วจะบรรเทาผลกระทบอะไร

แจกเงินใครๆ ก็ชอบ ถ้าเกิดมีใครไปพูดแล้วขวางไม่ให้เขาแจกคนคงไม่พอใจ แต่ถ้ามองในภาพรวม อยากให้รัฐบาลลงทุนแล้วมีความคุ้มค่า ต้องดูใช่หรือไม่ว่าจะนำเงินไปใช้ทำอะไร แต่การลงทุนในลักษณะของการแจกเงิน เรื่องนี้ไม่ได้ผิด ถ้าเป็นเรื่องของการเยียวยาหรือเป็นเรื่องของการบรรเทาผลกระทบก็แจกทุกคนได้เลย แจกทุกคนในกลุ่มที่คิด หรือมีเหตุผลว่าควรจะต้องแจก หรือหากแจกทุกคนก็ต้องหาเหตุผลมา

⦁การแจกเงินตรงนี้เป็นการช่วยกระตุ้นร้านเล็กร้านน้อย
ถ้าถามว่ากระตุ้นไหม ตอบว่ากระตุ้น แต่กระตุ้นได้น้อย แล้วอีกอย่างหนึ่งเรื่องการลงทุน เป็นการลงทุนในครัวเรือนร้านเล็กร้านน้อยก็ได้รับประโยชน์ เพราะสินค้าเกษตร วัตถุดิบการเกษตร หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพอิสระหลายอย่าง ร้านเล็กร้านน้อยก็ขาย

ส่วนกรณีที่ว่ายังมีหลายพื้นที่ที่รัศมีการใช้งานอยู่ ไม่เหมือนกับพวกคนละครึ่งที่ใช้ที่ไหนก็ได้ ส่วนตัวมองว่า อันนี้เราเริ่มมีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ถ้ากำหนดแคบมากอาจจะไม่มีร้านค้าตามที่ผมบอกอยู่ในโซนที่ต้องการ ตรงนี้อาจจะต้องแก้ไข

ถ้าคุณประกอบสินค้าเกษตร อยากได้ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ย อยากได้ รถไถขนาดเล็ก อย่างนี้อาจจะไม่ได้อยู่ใน 4 กิโลเมตรก็ได้ เพราะเดิมทีไปโฟกัสกับการอุปโภคบริโภค พอไปโฟกัสเรื่องการอุปโภคบริโภคก็เลยไปขีดเส้นว่าจะเอา 4 กิโลเมตร

ผมคิดว่าถ้าเดินหน้าทำโครงการนี้ไป จุดหนึ่งที่จะต้องประเมินความเสี่ยงให้มาก คือ ฐานะการคลัง เพราะว่าผมยังมีความมั่นใจว่าการใช้เงินจากโครงการนี้จะต้องกู้ ไม่คิดว่าจะนำเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจมาใช้ได้ เพราะถ้ากู้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็กู้เหมือนกัน ถ้ากู้คิดว่าคงจะต้องกู้ด้วยการออก พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน การจะออก พ.ร.ก. ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน ส่วนตัวคิดว่าอาจจะทำไม่ได้ เพราะอาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ามันไม่ได้เร่งด่วนจริง

คิดว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น คือ ฐานะการคลังอ่อนแอลง มีภาระดอกเบี้ยเกิดขึ้นแน่นอน สิ่งที่จะต้องชัดเจน คือ รูปแบบของการใช้เงิน จะก่อให้เกิดการเติบโตได้คุ้มค่ากับที่ลงไปจริงหรือเปล่า เพราะถ้าไม่คุ้มค่าก็ไม่ใช่พายุหมุน แล้วพายุหมุนต้องหมุนหลายรอบ ถ้าคุณไปอุปโภคบริโภคมากก็หมุนน้อยรอบ และอีกอย่างที่พูดถึงฐานะการคลังที่จะถดถอยลง เพราะว่ารายได้ที่จะได้จากการใช้เงินแบบนี้ถ้าไปคิดถึงว่าจะได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) คืนมาเท่านั้นเท่านี้อย่าไปคิดเลย เพราะการใช้จ่ายแบบนี้ไม่รู้ว่าเปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่าย จะเป็นของสินค้าที่มี vat เพราะถ้าเป็นสินค้าอาหารการกินหรือว่าพวกสินค้าเกษตร พวกนี้ไม่มี vat อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นยิ่งให้ประชาชนอุปโภคบริโภคมากเท่าไหร่ยิ่งไม่สามารถเก็บ vat คืนมาได้มากเท่านั้น

ฉะนั้นจะไปบอกว่าเสียเงินมา 5 แสนกว่าล้านบาทจะได้ vat คืนมากี่แสนล้านบาท อย่าไปหวังตรงนั้นเยอะ

เราไปหวังว่า 1.ทำให้เศรษฐกิจโตคุ้มค่า 2.เก็บภาษีจากธุรกิจ โดยให้ธุรกิจเหล่านั้นเข้าระบบให้มากขึ้น ถ้าการทำงานตรงนี้ทำให้ธุรกิจเข้าระบบมากขึ้นอาจจะเป็นผลดีในการเก็บภาษีของ Corporate Income Tax มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image