มท.2 ลงพื้นที่นครศรีฯ-สุราษฎร์ฯ ติดตามความพร้อม รับมืออุทกภัย ช่วงฤดูมรสุมใต้

รมช.มท. เกรียง กัลป์ตินันท์ ลงพื้นที่นครศรีฯ-สุราษฎร์ฯ ติดตามการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยช่วงฤดูมรสุมภาคใต้

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหาร ปภ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลร่วมกับ 14 จังหวัดภาคใต้

รวมถึงจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ กำชับทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมตามแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือ และดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนได้อย่างทันทีท่วงที ด้าน ปภ.เตรียมความพร้อมทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ ปภ.เขตภาคใต้ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยไว้ล่วงหน้าแล้ว รวมถึงได้ร่วมกับกองทัพบกนำเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 เข้าประจำการในพื้นที่ภาคใต้ ณ ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ถือเป็นช่วงที่พื้นที่ภาคใต้ของประเทศเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม โดยบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทยทางภาคตะวันออกและต่อเนื่องลงมาจนถึงอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดนำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการสาธารณภัยและรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า จึงได้สั่งการให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนสถานการณ์น้ำ และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย

Advertisement

พร้อมทั้งกำชับให้จังหวัดบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครมูลนิธิ ในการเตรียมความพร้อมและแผนเผชิญเหตุรองรับกรณีที่สถานการณ์ภัยในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันทีจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งให้แจ้งเตือนประชาชน นักท่องเที่ยวให้ทราบสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ และวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย โดยใช้การสื่อสารทุกช่องทาง เพื่อให้ข้อมูลไปถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

“ขอให้ ปภ.ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำพื้นที่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมสำหรับออกปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการเร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งการดำรงชีพ การจัดตั้งโรงครัวเลี้ยงผู้ประสบภัย การแจกจ่ายถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ” รมช.มท.กล่าวเน้นย้ำ

Advertisement

ด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช) ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และกำชับให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยให้เร่งคลี่คลายสถานการณ์และมุ่งดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่การดำรงชีพของประชาชน และระบบไฟฟ้าและสาธารณูปโภคให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มกำลัง ซึ่ง ปภ.ได้เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเครื่องจักรกลสาธารณภัย โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา จัดตั้งจุดระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย (Staging Area) ซึ่งจะได้ประสานให้จังหวัดชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อจะได้จัดสรรและกระจายเครื่องจักรกลเข้าติดตั้งประจำพื้นที่ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรด้านสาธารณภัยของ ปภ. เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล รถสูบน้ำท่วมขัง รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถปฏิบัติการอุทกภัย ได้เข้าสแตนด์บายในแต่ละพื้นที่แล้ว นอกจากนี้ ปภ.ได้ร่วมกับกองทัพบกนำเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย (KA-32) จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งนักบิน ช่างประจำอากาศยาน เจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ. 32 รวมถึงอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานประจำเครื่อง เข้าประจำการในพื้นที่ภาคใต้ ณ ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

“ปภ.จะได้ประสานจังหวัดดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกก่อนเกิดภัยตามแผนเผชิญเหตุอุทกภับของจังหวัด และข้อสั่งการเน้นย้ำของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยเฉพาะการติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำและเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ ตลอดจนสร้างการรับรู้กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการเผชิญเหตุและดูแลความปลอดภัยของประชาชน” อธิบดี ปภ.กล่าว

สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอพพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image