แก้ รธน.-โรดแมปขยับ สัญญาณเข้ม เลือกตั้งต้นปี 2561

วันที่ 13 มกราคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเรื่องด่วนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่‚) พ.ศ. …

ใช้เวลาพิจารณา 2 ชั่วโมง 40 นาที ผ่าน 3 วาระรวด

เนื้อหาที่แก้ไข ประกอบด้วย 1.การเพิ่มข้อความใหม่ในวรรคสาม มาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี

2.การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯกลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้งหนึ่ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

Advertisement

เหตุผลการแก้ไข นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอต่อที่ประชุม สนช.ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติขึ้นทูลเกล้าฯวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 โดยอยู่ระหว่างในพระราชอำนาจที่ทรงพิจารณาภายใน 90 วัน

ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักราชเลขาธิการแจ้งมายังรัฐบาลว่า มีข้อสังเกตบางประการ สมควรที่รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ

เมื่อรัฐบาลพิจารณาข้อสังเกตร่วมกับ คสช.แล้ว เห็นเป็นข้อสังเกตที่สมควรดำเนินการในขณะนี้ หากผัดผ่อนรอดำเนินการ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วค่อยแก้ไข แม้กลไกทางกฎหมายจะทำได้ แต่จะเกิดปัญหายุ่งยาก เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมบางข้อความ บางมาตรา หรือบางหมวด ต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ จะเป็นภาระผูกพันต่อไปอีกยืดยาว และกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ตามมาหลายเรื่อง

Advertisement

หากสามารถปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จสิ้นขณะนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพิจารณาใหม่ น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง จะเป็นการเหมาะสม ไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น

รัฐบาลจึงขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่่วคราว พ.ศ.2557

ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 สุดท้ายมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 228 ต่อ 0 งดออกเสียง 3

การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ทำให้กระบวนการพิจารณาและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการไปได้ โดยขยับโรดแมปเลือกตั้งจากเดิมออกไปนิดหน่อย

ทั้งนี้ โรดแมปเดิม เมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ กรธ.ต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 8 เดือน แต่ขณะนี้ กรธ.ได้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็น 4 ฉบับเอาไว้แล้ว

หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กรธ.สามารถส่งร่างฯให้ สนช.พิจารณา ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน บวกอีก 30 วัน

จากนั้นให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน และต้องมีเวลาพิจารณารับรองผล ก่อนจะจัดตั้งรัฐบาล

คาดว่าจะเลือกตั้งได้ประมาณปลายปี 2560 แต่รัฐบาลอาจมีขึ้นในปี 2561

แต่เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 แล้ว ตามมาตรา 4 ระบุว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญ หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายใน 90 วัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน

แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ

เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ

เท่ากับว่า หากมีข้อสังเกตส่งให้นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีต้องขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมา

และแก้ไขแล้วทูลเกล้าฯใหม่ภายใน 1 เดือน

เมื่อทูลเกล้าฯขึ้นไปให้แล้ว พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาภายใน 90 วัน หากโปรดเกล้าฯประกาศใช้ก็เริ่มต้นใช้รัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าพ้น 90 วัน ร่างที่แก้ไขนั้นก็ต้องตกไป

ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามกำหนดการ เป็นไปได้ว่าโรดแมปใหม่อาจจะขยับออกไปไม่เกิน 1 เดือน

การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นต้นปี 2561

สําหรับทีมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้เตรียมคณะทำงาน ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธาน กรธ. นายอัชพร จารุจินดา กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแล้ว รัฐบาลก็พร้อมดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ทันที

การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ครั้งนี้ แม้จะทำให้โรดแมปเลือกตั้งขยับออกไป

แต่ก็เป็นการขยับที่สร้างความเชื่อมั่นว่า ไทยจะมีเลือกตั้ง

เท่ากับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องบริหารประเทศต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

ระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องแก้ไขปัญหาประเทศ

แต่มิใช่ปัญหาเรื่องโรดแมป หากเป็นปัญหาปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งภาคใต้กำลังเผชิญหน้ากับอุทกภัย และต่อไปมีแนวโน้มว่าภาคอีสานและกลางอาจต้องพบกับภัยแล้ง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาหลายปี

เกิดขึ้นและสั่งสมมาตั้งแต่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งรุนแรง ผนวกกับยุโรปและสหรัฐอเมริกาเผชิญวิกฤต

ยิ่งเมื่อไทยแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการปฏิวัติ การส่งออกและการลงทุนก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

เศรษฐกิจไทยซึมยาว

ในระยะเวลา 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจึงต้องทยอย “คืนความสุข” ให้ประชาชนในด้านต่างๆ

หาวิธีการและลงมือกระทำเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง

ทำให้ได้ตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ยึดอำนาจ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image