ชัยธวัช เผยหลังคุยอนุฯ เห็นพ้องรบ. ทำประชามติ 3 ครั้ง ด้านนิกร รับที่มาส.ส.ร. ยังมองต่างกัน

‘ก้าวไกล-อนุ คกก.แก้ รธน.’ เห็นพ้องทำประชามติ 3 ครั้ง ‘ชัยธวัช’ ย้ำ 3 ข้อเสนอ ควรมีคำถามพ่วง เพื่อสร้างฉันทามติใหม่ ด้าน ‘นิกร’ ยันควรให้ ส.ส.ร.มาจากสัดส่วนอาชีพด้วย

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้นำคณะเข้าพบ นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ก.ก. เพื่อร่วมหารือรับฟังความเห็น เกี่ยวกับการจัดทำประชามติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ นายชัยธวัชเปิดเผยว่า การรับฟังเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนกันในรายละเอียดหลายเรื่อง เข้าใจเจตนาเนื้อหาซึ่งกันและกัน ซึ่งข้อเสนอของพรรค ก.ก.ก็คงจะมีประโยชน์พอสมควรกับการทำงานของอนุกรรมการและกรรมการชุดใหญ่ โดยพรรค ก.ก.มี 3 ข้อเสนอหลัก คือ 1.กระบวนการจัดทำประชามติควรจะมีกี่ครั้ง 2.คำถามในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร 3.ข้อเสนอในการแก้ไข

ซึ่งพรรค ก.ก.ได้เสนอว่า ควรจะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งหลังให้เป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของครั้งแรกควรจะต้องมีการจัดทำประชามติก่อน ก่อนที่สภาจะมีกระบวนการในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมด้วยเหตุผลสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.เพื่อทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีความชอบธรรมทางการเมือง 2.เพื่อแก้ปัญหาการตีความตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เนื่องจากการจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะสอบถามความคิดเห็นประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก 3.พรรค ก.ก.คิดว่าการทำประชามติตั้งแต่แรกจะเป็นกลไกที่สำคัญ ทำให้เราสามารถหาข้อยุติในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยกระบวนการทางประชาธิปไตยตั้งแต่ต้นที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความราบรื่น และประสบความสำเร็จ

Advertisement

สำหรับคำถามในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร จุดยืนของพรรค ก.ก.เราเห็นว่าการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะทำใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความกังวลและมีความเห็นที่ยังแตกต่างกัน ทั้งจากฝั่งรัฐบาล จากฝั่ง ส.ว. จากประชาชนหลายฝ่ายในบางประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องความคิดเห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีการแก้ไขหมวดหนึ่ง หมวดสองด้วยหรือไม่ หรือควรล็อกไว้ไม่ให้มีการแก้ไข หรือแม้กระทั่งความเห็นที่แตกต่างว่า แม้จะเห็นด้วยว่าควรจะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. แต่ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดหรือไม่

ดังนั้น ข้อเสนอทางเลือกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้สามารถที่จะกลายเป็นเวทีที่สำคัญ ที่ทำให้เราใช้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทยได้ แก้ไข คลี่คลาย ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราจึงคิดว่าควรจะออกแบบคำถามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงนั้น โดยที่ไม่ทำให้มีใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น และสามารถทำให้เกิดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เกิดการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในที่สุด แม้ว่าแต่ละฝ่ายไม่สามารถที่จะผลักดันเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตามต้องการทั้งหมด

Advertisement

พรรค ก.ก.จึงได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการว่าควรจะออกแบบคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก โดยมีคำถามหลักหนึ่งคำถาม แล้วจึงมึคำถามพ่วงสองคำถาม ซึ่งคำถามหลักควรจะเป็นคำถามที่กว้างที่สุด และสามารถสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด คือ “เห็นชอบหรือไม่ที่ควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.” ซึ่งเราคิดว่านี่จะเป็นคำถามที่เราสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และไม่ทำให้มีเงื่อนไขปลีกย่อย ที่ทำให้เกิดการเห็นแตกต่างกันในการคัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น ในส่วนของคำถามพ่วงอีกสองคำถามคือ ”เห็นด้วยหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคงไว้ในหมวดหนึ่ง หมวดสอง” และคำถามพ่วงที่สองคือ “เห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด”

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอของพรรค ก.ก.ในการตั้งคำถามจัดทำประชามติในครั้งแรก เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บรรลุผลและมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

ส่วนข้อเสนอที่สามที่ฝ่ายรัฐบาลยังมีความกังวลในเงื่อนไขตามหลักเสียงข้างมากสองขั้นตอน (double majority) ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการทำประชามติในปัจจุบัน ที่อาจไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการทำประชามติในครั้งนี้ แต่เป็นอุปสรรคของทุกๆ เรื่องในอนาคต เราจึงเห็นว่าหากมีความกังวลเรื่องนี้ก็ควรจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ประชามติฯ อย่างรวดเร็วเร่งด่วน เพื่อยกเลิกเงื่อนไขในเรื่องที่รัฐบาลกังวลข้างต้น ซึ่งพรรค ก.ก.ได้เสนอด้วยว่า ควรให้คณะอนุกรรมการและกรรมการชุดใหญ่ของรัฐบาลหาข้อยุติในประเด็นนี้ให้ได้ก่อน เพราะหากได้ข้อยุติร่วมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล เราก็จะสามารถร่วมมือกันเพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมได้ทันทีหลังเปิดสมัยประชุมสภา

ด้านนายนิกรกล่าวว่า ผลการหารือเป็นไปตามที่คาดหวัง ได้รับฟัง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้จะยังมีประเด็นที่ยังเคลือบแคลงว่า ยังมีความเห็นต่าง แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นตรงกันว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รวมถึงกรณีที่พรรค ก.ก.ไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการของรัฐบาล ก็ได้คลี่คลายหลักการกันเป็นที่เข้าใจ สำหรับข้อเสนอ 3 ข้อของพรรค ก.ก.นั้น ในเรื่องจำนวนครั้งของการทำประชามติ มีความเห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการ โดยประชามติ 2 ครั้งท้ายมีสภาพบังคับตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่การทำครั้งแรกมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเริ่มนับหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายนิกรกล่าวต่อว่า คำถามประชามติเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีความรวบรัด ชัดเจน ไม่ซับซ้อน ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย อีกทั้ง รัฐบาลก็มีภารกิจกับคำแถลงของตัวเอง เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะหมวด 2 เป็นทั้งนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาและเป็นมติ ครม.

สำหรับข้อเสนอเรื่องการคัดเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 100 เปอร์เซ็นต์นั้น พรรค ก.ก.ยังมองต่างจากฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่าควรมีสัดส่วนอาชีพอยู่บ้าง เช่น นักวิชาการ โดยอาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคงต้องพูดคุยกันต่อไปในรายละเอียด

ส่วนประเด็นหลักเกณฑ์การใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 ชั้นนั้น นายนิกรกล่าวว่า ยังมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ทาง คือจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิยังคงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ คือ 26 ล้านเสียง ซึ่งทางพรรค ก.ก.มองว่ายังมากเกินไป และเสนอว่าลดให้เหลือเป็นผู้ใช้สิทธิต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง หรือจำนวนประมาณร้อยละ 40

นายนิกรกล่าวทิ้งท้ายว่า คณะอนุกรรมการและพรรค ก.ก.เห็นตรงกันว่า จำนวนผู้เห็นชอบควรต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ เนื่องจากเกรงว่าจำนวนผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิจะมารวมกับจำนวนผู้ไม่เห็นชอบ จนเป็นผลให้เสียงข้างน้อยพลิกกลับมาชนะได้ โดยถ้าทำเรื่องนี้สำเร็จ จะได้กฎหมายดีๆ มา 2 ฉบับ จึงฝากนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรค ก.ก. ให้หารือกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน และตนเองจะหารือกับฝ่ายรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image