จับตาพรุ่งนี้ ศาล รธน.นัดถกคดี ‘พิธา’ ถือหุ้น itv-ก้าวไกลหาเสียงแก้ 112 แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัย

จับตาพรุ่งนี้ ศาล รธน.นัดถกคดี ‘พิธา’ ถือหุ้นสื่อ-ก้าวไกล เสนอนโยบายแก้ ม.112

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมประจำสัปดาห์ตามปกติ โดยมีวาระที่น่าสนใจคือการนัดพิจารณาคดีต่อกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 และนายพิธา ผู้ถูกร้อง ได้ยื่นขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตตามคำขอนายพิธายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนพิจารณามาแล้ว 11 ครั้ง เรียกให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งเอกสารหลักฐาน จำนวน 12 ราย

รวมทั้งคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพุทธะอิสระ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 และดำเนินกระบวนพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว 37 ครั้ง และผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีระบุพยานบุคคลฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2566

Advertisement

มีรายงานว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการนัดประชุมเพื่อวางแนวทางและหลักเกณฑ์ของการพิจารณาคดีเท่านั้น ยังไม่ได้นัดลงมติหรือวินิจฉัยคดี ส่วนจะมีการเรียกพยานเอกสารเพิ่มเติม หรือออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานเพื่อประกอบการพิจารณาคดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเอกสารและข้อมูลที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image