นานาทรรศนะ มองสถานการณ์ ‘เหลื่อมล้ำ’

นานาทรรศนะ
มองสถานการณ์ ‘เหลื่อมล้ำ’

หมายเหตุจากผลโหวตโพลมติชน-เดลินิวส์หัวข้อรัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? ปรากฏว่านักวิชาการได้แสดงความคิดเห็นหลังจากดูรายละเอียดแล้ว เห็นว่าประชาชนมีความปรารถนาอยากให้รัฐบาลแก้ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งผลโพลยังสะท้อนว่าประเทศไทยต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

มติชนได้สอบถามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขต่อไป

Advertisement

อดิศร เนาวนนท์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

โพลมติชน-เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? ที่สื่อมติชน เดลินิวส์ และนักวิชาการ เปิดเวทีสรุปโพลและวิเคราะห์ผล ซึ่งนักวิชาการแนะรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทั้งการเมืองและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ จะเห็นว่ารายได้ต่อหัวของประชาชนในประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด เพราะความเจริญทางเศรษฐกิจยังกระจุก ไม่ได้กระจาย ทำให้ความเหลื่อมล้ำแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินที่เป็นรายได้ และโอกาส ทั้งโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรม-องค์ความรู้ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก รวมไปถึงเรื่องการจ้างงาน แม้จะมีกฎหมายมาดูแลกำกับ และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำจะมีคณะกรรมการร่วมพิจารณา แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่

นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ อีก เช่น ด้านการศึกษา ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมโหฬารระหว่างคนในชนบทกับคนเมือง ส่วนด้านสุขภาพ ก็มีความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ในเมืองกับชนบทจะแตกต่างอย่างชัดเจน และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรม ซึ่งประชาชนจะเห็นได้ชัดเจนมากๆ อย่างเช่นหลายกรณีที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้ จนอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เกิดการต่อต้าน หรือเกิดความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่เชื่อมั่นในการเมืองไทย หรือไม่เชื่อมั่นในราชการ เพราะมีตัวอย่างที่ไม่ดีให้เห็นจากผู้มีอิทธิพลในสังคม ที่เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงความยุติธรรม ไม่ว่าจะในระดับชั้นตุลาการ ตำรวจ หรือราชทัณฑ์ ซึ่งความเหลื่อมล้ำต่างๆ เหล่านี้มันหลอมรวมกัน จึงมองว่าอยู่ในขั้นวิกฤตทุกมิติ

Advertisement

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องแบ่งเป็นระยะๆ โดยระยะสั้น เมื่อรัฐรู้ Pain Point เรื่องความเหลื่อมล้ำในแต่ละมิติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และการศึกษา ฯลฯ รัฐจะต้องมาดูมาวิเคราะห์ว่า สิ่งที่รัฐจะทำได้เป็นลำดับต้นเพื่อจะใส่ไว้แนวทางแก้ไขระยะสั้นคืออะไร เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดเท่าเทียมเสมอภาค ถ้าทำไม่ได้จะเป็นปัญหาอย่างมาก จึงต้องหามาตรการหรือมิติอื่นๆ เข้ามาช่วยทำ เพื่อให้บรรลุผล ส่วนความเหลื่อมล้ำในเรื่องโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือเรื่องการเข้าถึงนวัตกรรม จะต้องใช้หลายภาคส่วนเข้ามาช่วย จะต้องวางเป็นแผนแก้ไขระยะยาว และเรื่องคุณภาพของคน

ด้านการศึกษา ก็ต้องวางแผนระยะยาวเช่นกัน ซึ่งมองว่าสิ่งแรกที่อยากให้ทำ คือต้องแก้เรื่องคุณภาพของคนก่อน รวมทั้งเรื่องการจัดการคุณภาพการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ควรจะเริ่มต้นที่การสร้างคนในชาติให้มีวินัยและมีความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า Civic Education การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ถือเป็นเครื่องมือปฏิรูปคนให้มีความเป็นพลเมือง ซึ่งจะแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เพราะการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เก่งเฉพาะด้านวิชาการ แต่จะต้องสร้างคุณภาพให้คนในชาติก่อน ให้เป็นพลเมืองไทยที่มีความรับผิดชอบและมีวินัยในตัวเอง เพื่อให้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศชาติ ก่อนจะบ่มเพาะด้านวิชาการ ซึ่งการสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพ สามารถขับเคลื่อนผ่านกลไกด้านหลักสูตร การทุ่มเทงบประมาณ และการพัฒนาครู ต้องวางเป็น Step ไปเรื่อยๆ แล้วประเทศจะอยู่รอด และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ได้ด้วย ถ้าประชากรมีคุณภาพและเป็นพลเมืองดี ซึ่งจะเป็นการไขปัญหาระยะยาว ที่ต้องใช้ระยะเวลาขับเคลื่อนนาน

สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่ฝ่ายการเมืองสร้างขึ้น หรือเกิดจากการรุกคืบทางการเมืองของคนที่มีต้นทุนสูง บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุน-แทรกแซงกับการวางระบบบริหารจัดการประเทศ เช่น เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าสุดท้ายเม็ดเงินไปตกอยู่ที่ใคร ซึ่งรัฐจะต้อง Declare แถลงชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจ และทราบว่าสิ่งที่ทำอยู่ เม็ดเงินไม่ได้เข้ากระเป๋าเจ้าสัว หรือเข้ากระเป๋าหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าสัว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน

ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลยังยึดติดตัวเองอยู่กับทุนนิยม ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าเงินมาจากไหนอย่างไร การที่จะหลุดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มันบิดเบี้ยวจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คงจะทำได้ยากเพราะจับคอกันมาตั้งแต่เลือกตั้งแล้ว

จึงคิดว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือการพัฒนาคนในชาติให้มีคุณภาพเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างที่เป็นปัญหาดังกล่าวนี้ จึงจะแก้ปัญหาภาพรวมในมิติอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น จำเป็นต้องอาศัยกลไกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จะต้องเล่นบทบาทด้วยการเข้าไปตรวจสอบเรื่องของการเอื้อประโยชน์ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ตรวจสอบเส้นทางเม็ดเงินให้ชัดเจน ฝ่ายค้านต้องเข้มแข็ง ขณะที่สถาบันการศึกษาและนักวิชาการทั้งหลายที่ไม่ตกเป็นส่วนหนึ่งในการรับใช้ในทางที่มิชอบ ก็ต้องเข้าไปชี้ให้เห็นว่า นโยบาย โครงการหรือมาตรการต่างๆ ที่ผลักดันออกมา ประโยชน์ตกถึงมือประชาชนแค่ไหน ทั่วถึง เท่าเทียม ได้ประโยชน์ กระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่

ต้องช่วยกันสะท้อนให้ประชาชนได้รับทราบอย่างตรงไปตรงมา

ธีรภัทร วรรณฤมล
คณบดี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีปัญหามาตั้งแต่อดีต จนถึงช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และปากท้องประชาชน ขณะที่รัฐบาลก็มีความพยายามเร่งแก้ไขและพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ตามแนวทางที่วางไว้ โดยเฉพาะการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้ประชาชน

ทั้งนี้หากมองประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประเด็นใหญ่ คือเรื่องความเสมอภาค ทั้งการเข้าถึงบริการของรัฐ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ปัญหาคอร์รัปชั่นและการสร้างระบบที่เอื้อต่อประชาชน รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ยอมรับว่าการแก้ปัญหาอาจเจอกำแพงหลายส่วน เพราะการเปิดทุกอย่างให้โปร่งใสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำก็อาจกระทบกับอำนาจเดิมที่มีอยู่ จึงต้องวางแผนให้ชัดเจนว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

ปัญหาความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในรูปแบบของอำนาจนิยม หรือเผด็จการ เรื่องความเท่าเทียมกันและความเสมอภาคเป็นเรื่องหายาก คนยากจนก็จนจริงๆ แทบไม่มีกิน ส่วนคนร่ำรวยก็มีเหลือกินเหลือใช้

ดังนั้น รัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนในสังคมเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การศึกษา ส่วนประเด็นด้านการศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่ระดับรากหญ้า เพราะเป็นการสร้างโอกาส ที่จะช่วยสร้างประเทศให้ก้าวสู่ความมั่นคง และผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และ 5.0 ในอนาคต จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจเรื่องการศึกษาให้มากขึ้น จัดสรรงบประมาณต่างๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพ

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยถือเป็นตัวกลางและเครือข่ายที่ดีในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ เพราะองค์ความรู้ต่างๆ อยู่ที่มหาวิทยาลัย จึงไม่อยากให้การจัดสรรงบประมาณและการแก้ไขปัญหาต่างๆ กระจุกตัวอยู่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะระดับชุมชนและรากหญ้า มีความต้องการเข้าถึงโอกาสทุกด้าน ทั้งเทคโนโลยี การศึกษาและองค์ความรู้ ที่จะนำไปพัฒนาและต่อยอดการทำงานและการประกอบอาชีพต่อไป

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
นักวิชาการด้านแรงงาน และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

คนไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ค่อยมากพอสำหรับการใช้จ่าย จึงเลือกอยากให้แก้ปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เขาอยากจะได้เงินมาใช้จ่ายแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็มีการโยงถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

หากเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องพูดถึงสวัสดิการว่าจะทำอย่างไรให้คนสามารถที่จะเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เขาก็จะหันไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง มากกว่าการแก้ปัญหาปากท้องคนจำนวนไม่น้อยเขามีหนี้มีสิน ก็อยากที่จะเพิ่มรายได้ตอนนี้เขาคงอยากให้แก้ปัญหาหนี้สินของเขา แต่ขณะเดียวกันปัญหาระยะยาว ก็มองไปถึงการกำจัดต้นตอของความเหลื่อมล้ำว่า ทำอย่างไรให้คนมีรายได้ที่มากพอยั่งยืน

เมื่อมองสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย ซึ่งเป็นประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆ เขาก็มีตัวชี้วัดจัดลำดับกัน จนเคยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก ด้วยปัญหาเรื่องการกระจายรายได้มันยังไม่ดีพอ มันก็สะท้อนว่าคนที่เขามีรายได้ต่ำ เขาก็อยากแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เขามองว่าดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ตอบสนองเขาได้ทันที แต่นโยบายแบบนี้มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบของการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เนื่องจากดิจิทัลวอลเล็ต มันเป็นแค่การกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินไปในโครงสร้างแบบนี้ต่อไป จะเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำบ้านเรามันน้อยมาก หลายประเทศเขาจึงส่งเสริมให้คนรวมตัวกันได้ และแรงงานมีสิทธิมีเสียงมากกว่านี้ รวมทั้งยังส่งเสริมเรื่องของการสร้างรายได้ หนุนการเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้น ซึ่งหากทำให้คนมีรายได้สูงขึ้น ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกอย่างเดียว จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ด้วย

ด้านค่าแรงที่ประชาชนเลือกอยากให้รัฐบาลแก้ไข ผมมองว่าเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ มันต้องมีเกณฑ์วัดที่ชัดเจน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เขาเสนอให้ดูค่าจ้าง เพื่อคนทำงานสามารถดูแลครอบครัวอีก 2-3 คนได้ด้วย ซึ่งจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งบ้านเราการเพิ่มค่าแรงมักเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง แต่มันควรจะมีเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่านี้ ต้องมีการปรับขึ้นทุกปี พิจารณาดูปัจจัยต่างๆ เช่น เรื่องเงินเฟ้อ ผลิตภาพรวมทั้งประเทศ ควรมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนสำหรับการขึ้นค่าแรง

เมื่อมองนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ ผมคิดว่าอย่างแรก คือ การหามาตรการที่ทำให้ค่าจ้างมีความเป็นธรรมขึ้น และอีกประการหนึ่ง คือ การเก็บภาษีที่เป็นธรรม เพราะแต่ละปีมักจะมีการประกาศว่า คนรวยเขารวยขึ้นตลอด เขารวยขึ้นเพราะเขาใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ร่วมกัน มันไปกระจุกอยู่ที่เขา เราอนุญาตให้เขารวย แต่ก็ต้องดึงมาแบ่งปัน โดยการเก็บภาษีมาแล้วจัดสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับสังคม เช่น การศึกษาฟรี การบริการสาธารณะราคาต่ำ คนสามารถเข้าถึงได้

ปัญหาบ้านเรา แรงงานเรารวมตัวกันได้น้อย เพราะมีข้อจำกัดสารพัด กฎหมายก็ไม่อนุญาตให้คนจำนวนมากรวมตัวกันได้ ถ้าจะจัดตั้งสหภาพแรงงานคุณต้องมีนายจ้างเท่านั้น ถึงจะไปจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ผมเคยทำวิจัยแล้วพบว่า พี่น้องบางกลุ่มเขาต้องทำงานหลายชั่วโมงมากขึ้นกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อที่จะให้ได้ค่าแรงเพียงพอ แต่เขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเขาไม่มีอำนาจ รวมตัวก็ไม่ได้ จะไปเจรจาต่อรองก็ไม่ได้ รวมทั้งสถานะกฎหมายของเราที่ยังล้าหลัง จนกระทั่งไม่สามารถรองรับรูปแบบการจ้างงานต่างๆ ที่มันเปลี่ยนไปได้ นายจ้างจึงลอยตัวจากความรับผิดชอบต่อลูกจ้างของตัวเอง

อีกทั้งประชาชนไม่ต้องการแจกปลา แต่ต้องการเครื่องมือหากิน เครื่องมือตรงนี้ต้องเอาไปสู้กับทุนใหญ่ ซึ่งต้องมองว่ามันมีโอกาสไม่เท่ากัน ถ้าเราไม่พยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดการผูกขาดลง เปิดช่องทางในการทำมาหากินมากขึ้น และสร้างอำนาจการต่อรองของคนตัวเล็กตัวน้อย ให้เขาสามารถมีเสียงได้ มันถึงจะเกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ถึงคุณจะยื่นแจกอะไรให้เขา เดี๋ยวมันก็หมดไป

ผมคิดว่ามันต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หาว่าอะไรเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย ต้องลิสต์มันออกมาเป็นข้อ แล้วค่อยแก้ไปทีละส่วน โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาด เป็นเรื่องที่คนจำนวนหนึ่งร่ำรวย การที่คนส่วนใหญ่เขาไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง เพราะเขารวมตัวกันไม่ได้ ก็ต้องส่งเสริมให้เขารวมตัวกัน เพื่อที่เขาจะสามารถส่งเสียงที่ดังขึ้น ถ้าเสียงดังก็จะได้เรียกร้องให้เขาได้รับผลประโยชน์ที่ดีพอ ไม่ให้เขาถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ

ทรัพยากรในโลกมีอยู่เท่านี้ แล้วถ้ามันไปกระจุกอยู่กับคนส่วนน้อย มันก็คือความเหลื่อมล้ำ แต่จะทำอย่างไรให้เสียงของคนส่วนใหญ่มันดังขึ้น เพื่อที่จะเอาทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่มาแบ่งปันให้ใช้ร่วมกันได้ อย่างน้อยก็เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน คนควรจะเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image