“บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ถอดบทเรียน”ปรองดอง” ปัจจัยล้มเหลว-สำเร็จ?

หมายเหตุ – นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวทางการปรองดอง และมุมมองต่อการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุข ที่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้เสนอ

การจัดการปรองดองในความหมายของอาจารย์

ต้องกลับมาดูก่อนว่าความหมายการปรองดองเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม การตีความที่ไม่แน่ใจว่าตรงกันเพียงไหน ขอบเขตกว้างเพียงไหน ผมอาจจะพูดความปรองดองแบบนี้ แต่บางคนพูดความปรองดองกว้างแบบนี้ ซึ่งของเราแบ่งการปรองดองตามความเดือดร้อนเป็นภูเขาน้ำแข็ง กลุ่มชั้นบนสุดที่โผล่พ้นน้ำแข็ง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นฝ่ายแกนนำภาคการเมืองที่เขาทะเลาะกันจนเป็นความขัดแย้งในระดับบน ส่วนกลุ่มกลาง ผู้ชุมนุมทางการเมืองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ถูกจับกุม บาดเจ็บพิการ ญาติผู้เสียชีวิต และกลุ่มสุดท้ายที่ฐานล่างเยอะสุด คือกลุ่มคนในสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือกลุ่มที่ได้รับความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย กลุ่มนี้เป็นสาเหตุรากฐานความขัดแย้งในสังคมไทย ความขัดแย้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ปัญหาระหว่างป่าไม้ที่ดิน สัมปทานเหมืองแร่ กลุ่มดาวดินที่ออกมา

ดังนั้น 3 กลุ่มนี้ต้องใช้เครื่องมือต่างกัน โดยกลุ่มแรกเขาเรียกร้องกติกาทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นต้องมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของผู้ชนะ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กีดกันใคร ต้องตอบโจทย์ด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนกลุ่มสองแก้ด้วยการเยียวยา การพูดถึงการนิรโทษ ทำอย่างไรที่จะคืนความเป็นธรรมให้เขา ถูกฟ้องด้วยคดีเกินความเป็นจริงว่าเป็นการก่อการร้าย ทั้งที่มาร่วมชุมนุมด้วยใจจริงที่จะมาแก้ปัญหาข้างล่าง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่านิรโทษเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ส่วนกลุ่มสุดท้ายแก้โดยโจทย์การปฏิรูปที่ทำไว้ โดยการปรองดองต้องแก้ทั้งหมด จะแก้เพียงแต่นิรโทษไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะกลับมาอีก และที่ปะทุขึ้นมา เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่จัดการฐานที่ว่านี้ เมื่อวันหนึ่งโผล่พ้นขึ้นมาก็ยกม็อบมาบนถนน เพราะฉะนั้นจึงตอบได้ว่านิรโทษกรรมไม่เท่ากับการปรองดอง แต่เป็นการแก้ปัญหาในกลุ่มหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

มองคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสังคมสันติสุขฯ ที่ สนช.คิดจะตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการเรื่องนี้อย่างไร

ผมเคยให้ความเห็นไปว่าลำพังคณะใดคณะหนึ่งไม่สามารถที่จะแก้ปัญาได้ทั้งหมด โดยคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสังคมสันติสุขฯที่ สนช.จะตั้งขึ้นนั้น อาจจะมาเล่นกับกลุ่มคนที่เป็นชั้นบน กรธ.อาจจะช่วยด้วยในการสร้างกติกาใหม่ ส่วนต่อจากนั้นจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ ต้องดูกติการายละเอียดว่าแค่ไหน หากเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่ได้คำนึงถึงความยุติธรรมเรื่องรากฐานที่ควรจะมีอาจจะเป็นชนวนความขัดแย้ง อย่างนิรโทษกรรมสุดซอยไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่กลายเป็นการเติมเชื้อปัญหาลงไป แต่ถ้าทำได้ถูกเวลา ไม่เกินไปกว่าที่สังคมยอมรับได้ มันจะเป็นสิ่งที่ช่วยได้แน่

Advertisement

ส่วนกติกาคืออะไร ที่เราเคยคิดตอนทำร่วมกับ สปช. เริ่มต้นเอาเฉพาะผู้ที่เข้าไปร่วมทางการเมืองโดยเหตุปัจจัยทางการเมือง ไม่รวมคดีชัดๆ 4 ประเภท คือ 1.คอร์รัปชั่น 2.ผิดมาตรา 112 3.ฆ่าคนตาย และ 4.คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ หากรวมเหมานิรโทษกรรมก็จะไม่นำไปสู่ความปรองดอง แต่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และย้ำอีกครั้งว่าคณะใดคณะหนึ่งทำไม่ไหว อย่างชุดของนายคณิต ณ นคร เคยได้ชี้ประเด็นเหล่านี้ไว้นานแล้ว แต่ไม่มีอำนาจในการทำอะไร มีเพียงอำนาจในการศึกษา เราจึงต้องพยายามทำให้เรื่องขยับเดิน ไม่หยุดนิ่ง เช่น สนช.ในชุดคณะกรรมาธิการการเมืองก็เรียกเรามาถามเรื่องที่เราเคยศึกษา และตั้งเป็นคณะทำงานมาชุดหนึ่งเพื่อมาคัดกรองคดี มาดูว่าข้อมูลสถิติ การอำนวยความยุติธรรม มีคนที่เกี่ยวข้องกับคดีถูกฟ้องไปเท่าไหร่ อยู่ที่กรมราชทัณฑ์แล้วเท่าไหร่ หากจะขยับการอำนวยความยุติธรรมให้กับเขา และนี่คือความพยายามแต่ละจุดที่มองว่าตัวเองทำอะไรได้ ก็เริ่มทำ ข้อสังเกตคือหลายเรื่องต้องการคอนดักเตอร์เพื่อจะบอกได้ว่าคนไหนควรร้องเมื่อไหร่ คนไหนควรเล่น ซึ่งตรงนี้เป็นภารกิจที่หนีไม่พ้นของรัฐบาลที่ควรเข้ามา

เมื่อคนกลางที่คนไม่เห็นด้วยคือทหาร แล้วการปรองดองจะสำเร็จอย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้เพราะ คสช.ขอเข้ามาเพื่อฟื้นฟูความสงบ ขอสร้างบ้านเมืองกันใหม่ นั่นคือภารกิจที่ คสช.หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยความไม่ไว้วางใจของคู่ขัดแย้งที่ยังมีอยู่ แต่หากไม่ทำ ปฏิเสธ ก็เหมือนที่บอกเป็นความรับผิดชอบของ คสช. แต่ทั้งนี้วิธีที่จะทำงานไม่จำเป็นต้องเป็นทหารเข้ามาในการตั้งคณะกรรมการต่างๆ หาก คสช.จะตั้งคณะกรรมการอิสระมาตรวจสสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ 2 (คอป.2) มีองค์ประกอบเหมือน คอป.ที่เคยมีก็ทำได้ แต่จะต้องไม่เพียงศึกษา ไม่ใช่การค้นหาแสวงหาข้อเท็จจริงเหมือนชุดของนายคณิตที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย เจอปัญหาตรงหน้าก็ไม่มีอำนาจจะทำ

ทำไมการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง เกือบทุกคณะถึงถูกต่อต้านทุกครั้ง

เพราะประเด็นนิรโทษกรรมไม่ถูกอธิบายว่าคืออะไร เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ได้อย่างไร ถูกฝังใจนำมาสู่จินตนาการมากมาย ปัญหาทางการเมืองอีกเยอะ ดังนั้นเราเลยไม่ออกจากจุดเดิม เราต้องเหลียวหลังไปดูความขัดแย้งที่ผ่านมาว่ามาจากสาเหตุอะไร คนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับความยุติธรรมที่เพียงพอยังไม่ถูกเยียวยา แลหน้า คือมองไปข้างหน้า วางรากฐานแต่ละเรื่อง ไม่ให้ปัญหานี้กลับมา

Advertisement

ในส่วนของอาจารย์มองว่าเราต้องเร่งทำเรื่องนี้เลย แต่ของนายกรัฐมนตรีมองว่าเรื่องเหล่านี้ยังไม่ถึงเวลา

ยังไม่ถึงเวลาของนายกรัฐมนตรี ต้องดูว่ายังไม่ถึงเวลาคือเวลาอะไร ต้องขยายความให้สังคมเข้าใจมากขึ้น ท่านมีข้อมูลเชิงลึกที่หลายคนไม่รู้ แต่ท่านรู้แล้วบอกยังไม่ถึงเวลา เวลาอะไร มีสถานการณ์ใต้น้ำ ใต้ดินอะไรที่ท่านรู้แต่คนทั่วไปไม่รู้ ท่านต้องสื่อสาร ต้องคำขยายความของท่านว่าผูกโยงเรื่องอะไร เมื่อสังคมไม่ทราบก็มีคำถามตามมามากมาย อาจจะไม่ได้ติดเงื่อนไขเวลาอย่างที่ท่านว่ามากมาย โอเคแต่บางเรื่องติดอยู่รอเวลา บางเรื่องก็ขยับได้ ส่วนถ้าถามว่าจะใช้เวลากับเรื่องนี้นานเท่าไหร่นั้นไม่ทราบ แต่ต้องดูว่าอะไรที่เราทำได้ก็อำนวยความยุติธรรมเยียวยาไปก่อน อย่างรัฐบาลมีกฎหมายอยู่ในมือ ชุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ตั้งแล้ว การเยียวยาทำได้ทั้งเป็นตัวเงินไม่ใช่ตัวเงิน นอกจากนี้ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จัดการกลุ่มสุดท้ายจัดการรากฐานความขัดแย้ง อย่างการปฏิรูปที่ดินที่ไม่มีรัฐบาลไหนจัดการอย่างจริงจัง การเขียนในแผนยุทธศาตร์ชาติก็จะช่วยได้ โดยจะผูกโยงให้ทุกรัฐบาลต้องทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image