‘ไอติม’ ชี้ เสียงข้างมาก 2 ชั้น เปิดช่องคนเห็นต่าง คว่ำประชามติ

‘พริษฐ์’ ชี้ กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้นเป็นอุปสรรคทำรธน.ฉบับใหม่ เหตุมีช่องโหว่อาจทำให้คนไม่เห็นด้วยคว่ำประชามติได้ มอง หากรบ.เห็นด้วยสามารถยื่นร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติเข้าสภาฯ กลาง ธ.ค. นี้ได้

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่ผ่านเกณฑ์การทำประชามติ และคาดว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายประชามติเพื่อให้เกณฑ์ประชามติผ่านได้ง่ายขึ้น ว่า เป็นข้อกังวลจากหลายฝ่าย คือ กังวลว่ากติกาเสียงข้างมากทั้ง 2 ชั้น อย่างพระราชบัญญัติประชามติ อาจทำให้การทำประชามติไม่เป็นธรรมได้

กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้น กำหนดว่า หากประเด็นที่ถูกถามโดยประชามติจะมีผล ต้องผ่านเสียงข้างมากทั้ง 2 เกณฑ์ คือ 1. ต้องมีคนออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง 2. ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ต้องมีคนที่เห็นด้วยเกินครึ่ง เมื่อออกหลักกติกาเช่นนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามที่ถูกถามในประชามติ อาจจะใช้วิธีการนอนอยู่บ้าน เพื่อทำให้สัดส่วนของคนที่ออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นแรก

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ข้อกังวลขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อออกแบบกติกาเช่นนี้ ไม่ว่าจะจัดทำหัวข้อทำประชามติในเรื่องใดก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามในการทำประชามติก็จะได้เปรียบเสมอ เพราะมีช่องทางในการคว่ำเพื่อไม่ให้ประชามติสามารถผ่านไปได้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขมีอยู่หลายแนวทาง คือ 1.คือการยกเลิกกติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้น 2. การปรับแนวทางการเขียนกติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้น ป้องกันไม่ให้มีช่องโหว่ในการคว่ำประชามติ

Advertisement

ตนจึงนำประเด็นนี้มาหารือกับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองในช่วงบ่ายวันนี้ โดยจะมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมพิจารณาด้วย หากเรื่องนี้เป็นข้อกังวลของรัฐบาล ตนมองว่าทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านสามารถร่วมมือกันในการยื่นร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสู่สภาฯ ได้ทันทีที่เปิดในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ จะทำให้เราแก้ไขเรื่องนี้สำเร็จ โดยไม่กระทบกรอบเวลาในการจัดทำประชามติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกล ยังยืนยันข้อเสนอให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และมี 3 คำถาม เพื่อถามประชาชนในการทำประชามติใช่หรือไม่ หรือจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติม นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรายังยืนยันตามข้อเสนอ และได้ยื่นข้อเสนอนี้ให้กับรัฐบาลอย่างเป็นทางการในที่ประชุมเมื่อสองวันที่แล้ว

“เราเชื่อว่าข้อเสนอของเราเป็นข้อเสนอที่เข้าใจถึงความคิดเห็นแตกต่างที่ยังมีอยู่ เรามองว่าจะเป็นการสร้างกระบวนการที่มีความชอบธรรมกับประชาธิปไตย โอบรับทุกจุดยืนที่มีความแตกต่างกัน และจะประสบความสำเร็จในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จริง” นายพริษฐ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image