อาจารย์ มองสถานการณ์ สู้รบในพม่าล่าสุด สะท้อนชัดรัฐทหาร เจอทัพชาติพันธุ์รุกคืน

อาจารย์ มองสถานการณ์ สู้รบในพม่าล่าสุด สะท้อนชัดรัฐทหาร เจอฝ่ายต้าน-ทัพชาติพันธุ์รุกคืน  

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง “พม่ากำลังเผชิญกับการสร้างรัฐและการสลายรัฐผ่านยุทธสงคราม” วิเคราะห์สถานการณืการสู้รบในประเทศเมียนมา โดยมีเนื้อหาดังนี้

ข่าวสู้รบในรัฐฉานภาคเหนือและในส่วนอื่นๆ ของพม่า สะท้อนเรื่องสงครามกับการสร้างรัฐและการสลายรัฐ สมัยที่นายพลเนวินเรืองอำนาจไปถึงห้วงก่อนรัฐประหาร 2021 ค่อนข้างแน่ชัดว่า ทหารพม่าได้สะสมกระบวนการสร้างรัฐทหารผ่านการทำสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายตรงข้าม ทหารพม่าขยายเส้นทางส่งกำลังบำรุงและโครงข่ายเมืองยุทธศาสตร์ รบพุ่งไล่ล่าทัพชาติพันธุ์ตามจังหวะโอกาส เช่น การโจมตีเล้าก์ก่ายของโกก้างเมื่อปี 2009 ผลที่ตามมา คือ อำนาจรัฐทหารพม่าแผ่จากพื้นราบภาคกลางตรง “Burman Heartland” ขึ้นไปสู่ที่ราบสูงฉาน หรือแม้แต่เขตภูเขาคะฉิ่น เขตภูเขาชินและเขตป่าเขาสาละวินได้มากขึ้น

แต่หลังรัฐประหารรอบล่าสุด ทั้งฝ่ายต่อต้าน PDF และทัพชาติพันธุ์ เช่น โกก้าง ปะหล่อง ฯลฯ ต่างทยอยก่อสงครามเพื่อขยายอาณาเขตและคุมเส้นทางการค้า เส้นทางยุทธศาสตร์สายสำคัญ พันธมิตรฝ่ายเหนือในรัฐฉาน เริ่มจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทัพชาติพันธุ์กำลังก่อสงครามเพื่อสร้างรัฐ/สร้างพื้นที่ปกครองตนเองในแบบที่แผ่กว้างแข็งแรงมากขึ้น ผลที่ตามมา คือ อำนาจรัฐทหารพม่าในเขตฉานเริ่มเจือจางลง

Advertisement

ครับ สงครามที่ระเบิดเป็นระลอกๆ ในรัฐฉานและในส่วนอื่นๆ ของพม่า สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง War Making กับ State Making

สงครามกลางเมืองอาจทำให้รัฐ หรือหน่วยดินแดนจำนวนมากที่ซ้อนอยู่ในรัฐพม่า เกิดอาการระส่ำระส่ายจนอาจส่งผลต่อทั้งการสลายตัวและการเกิดรัฐใหม่ สงครามเป็นเครื่องคัดสรรความแข็งแกร่งของรัฐ รัฐที่อ่อนแอ แพ้สงคราม ย่อมมีอำนาจลดลง มีอาณาเขตลดลงหรือแม้แต่เสี่ยงต่อการล่มสลาย ส่วนรัฐที่เข้มแข็ง ย่อมอยู่รอดได้และอาจได้ดินแดน/ประชากรที่เพิ่มขึ้น จนทำให้รัฐขยายตัว สงครามอาจทำให้เกิดรัฐใหม่ๆ ขึ้นมาได้เรื่อยๆ หรืออาจทำให้รัฐดั้งเดิมหดตัวลดบทบาทลงเรื่อยๆ ได้เช่นกัน พม่ากำลังอยู่ในจุดตัดหรือจุดพลิกผันนี้

ประเด็นนี้ ถือว่ามีน้ำหนักน่ารับฟังในเชิงวิชาการ หลักวิเคราะห์ที่ผมยกมาเมื่อครู่นี้ ก็เคยใช้อธิบายพลวัตการเมืองการทหารของรัฐพม่ามาแล้วในทางวิชาการ ดังที่ งานนิพนธ์ของ Mary Callahan เล่มดังเรื่อง Making Enemies: War and State Building in Burma นำตัวแบบของ Charle Tilly ที่ว่าด้วย War Making and State Making เข้ามาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การรบพุ่งระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์จนมีผลต่อกระบวนการก่อรูปรัฐผ่านยุทธสงคราม

Advertisement

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image