สามารถ แฉ นอตยึดแผ่นเหล็กรองรับรางแอร์พอร์ตลิงก์หลุด 159 จุด โชคดีตรวจพบทัน

วันนี้ (16 มกราคม) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แจ้งปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์ ระบุว่าน่าห่วง มีรายละเอียดดังนี้

แอร์พอร์ตลิงก์ยังน่าห่วง ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มาเป็นระยะๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความห่วงใยผู้โดยสาร มาถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นห่วงอยู่ จึงต้องเขียนบทความนี้ขึ้นมา
ผมไม่ต้องการให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ตื่นตระหนกตกใจ แต่ต้องการให้ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ หรือบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ตระหนักถึงการเข้มงวดกวดขันในการซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานทุกคน

เมื่อไม่นานมานี้ การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์บริเวณโค้งลาดกระบังมีการชะลอความเร็วจาก 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 30 และ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามลำดับ โดยมีการให้เหตุผลภายในองค์กรว่า แผ่นเหล็กประกับราง (หรือเหล็กรองรับราง) เคลื่อนตัวเนื่องจากน็อตยึดแผ่นเหล็กหลุด เพราะ Anchor Bolt (หรือพุก) ไม่ยึดติดกับคอนกรีต จึงจำเป็นต้องลดความเร็วลง หากไม่ลดความเร็วอาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้ ตามรายงานของฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาระบุว่าจะต้องซ่อมบำรุงแผ่นเหล็กประกับรางถึง 159 จุด แบ่งเป็นจุดวิกฤต 59 จุด ไม่วิกฤต 100 จุด ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่คนทำงานด้านบำรุงรักษาที่แอร์พอร์ตลิงก์มีดังนี้

1. เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดปัญหาวิกฤตขึ้น เพราะหากมีการซ่อมบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ปัญหาวิกฤตก็จะไม่เกิดขึ้น โชคดีที่มีการตรวจพบจุดวิกฤตเสียก่อน หากตรวจไม่พบก็อาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

Advertisement

2. มีการกล่าวหาว่า เหตุที่ปล่อยให้เกิดปัญหาวิกฤตก็เพราะเป็นความประสงค์ของผู้บริหารบางคนที่ต้องการว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งให้มาทำการซ่อมบำรุงรักษาโดยไม่มีการประมูล หรือไม่มีการแข่งขัน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายนั้นหรือไม่ โดยผู้บริหารเหล่านั้นอ้างว่าจำเป็นต้องเร่งซ่อมบำรุงรักษา มิฉะนั้น จะเกิดอุบัติเหตุรถไฟฟ้าตกราง ถึงเวลานี้มีการซ่อมจุดวิกฤตทั้ง 59 จุดเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว อนึ่ง การมุ่งจ้างเอกชนรายนั้นทำให้ดูเสมือนว่าพนักงานของแอร์พอร์ตลิงก์ไร้ความสามารถ เป็นผลให้พนักงานซ่อมบำรุงรักษาขาดขวัญและกำลังใจ จนทำให้พนักงานหลายคนรวมทั้งระดับวิศวกรอาวุโสต้องลาออก

3. มีการกล่าวหาอีกว่า เอกชนรายนั้นไม่มีประสบการณ์การซ่อมบำรุงรักษางานดังกล่าว เมื่อได้รับงานแล้วก็ไปว่าจ้างต่อ ที่สำคัญ มีการพูดกันหนาหูว่า ผู้บริหารบางคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอกชนรายนั้น ผมนำเสนอเรื่องนี้ก็เพราะเป็นห่วงผู้โดยสาร และไม่ต้องการให้มีการหากินบนความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image