‘ไอลอว์’ เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘แดง-เหลือง’ ประสานเสียงหนุนล้างผิดตัวเอง แนะควรให้ปชช.ทั้งหมด

‘ไอลอว์’ เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘แดง-เหลือง’ ประสานเสียงหนุนล้างผิดตัวเอง ‘หมอเหวง’ ถาม รบ.พท. มอง ปชช.เป็นศัตรูหรือไม่ แนะ นิรโทษเฉพาะประชาชนในคดีการเมืองทั้งหมด เหตุแค่คิดต่างไม่ได้ทำผิด รธน.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน ที่อาคาร All Rise หมู่บ้านกลางเมือง รัชดา-ลาดพร้าว โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดงานเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีทางการเมือง” พร้อมแถลงข่าวเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …

โดย นายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มีจุดยืนในการตรวจสอบระบอบประชาธิปไตยที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำบริหารประเทศ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้เราพูดกันว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาก่อเกิดเป็นประเด็นความเห็นต่างในภาคประชาชน การที่เรานิยามว่ายุคทักษิณเป็นเผด็จการรัฐสภาทำให้นักเคลื่อนไหวมีมุมมอมที่แตกต่างกัน เป็นปัจจัยความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน เพราะมีบางกลุ่มคิดว่าหลักประชาธิปไตยต้องยึดหลักสากลที่ยึดเสียงข้างมากเท่านั้น เกิดการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนที่มีมุมมองแตกต่างกัน แพร่ขยายจนเกิดปรากฏการณ์กลุ่มที่เข้ามาร่วมตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนวันนั้นมองไม่เห็นทางออก รัฐบาลมีท่าทีแข็งขันไม่ยอมลงจากอำนาจ จนเกิดกระแสการตื่นตัวการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน นอกจากนี้ จากการเคลื่อนไหวในช่วงนั้น เราได้บทเรีบนว่าการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีแบบเปิดเผย ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทำให้นักเคลื่อนไหวบางส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในฝ่ายนิติบัญญัติ บางส่วนก็ถอนตัวออกไป

นายอมร กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารทำให้เกิดผลพวง คือ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ อ้างเอาเหตุผลการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมารัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญ และสร้างรัฐธรรมนูญ 50 ที่เราคิดว่าถอยหลังทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ สร้างค่านิยมว่าพรรรคการเมืองไม่ใช่ของประชาชน และนักการเมืองเป็นกลุ่มคนชั่วร้าย การที่ภาคประชาชนจะได้ตัวแทนเข้ามาจัดการอำนาจรัฐจะต้องผ่านกลไกพรรคการเมือง เป็นหนทางตีบตันที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้ามาสู่อำนาจได้อย่างแท้จริง เพราะกติกาเขียนมาเพื่อตอบอสนองกลุ่มการเมืองที่มีเบื้องหลังคือกลุ่มทุน

Advertisement

“ปัจจุบันหากย้อนหลังกลับไปพิจารณาด้วยเหตุผล ถ้าทุกคนหันมาเข้าใจข้อเท็จจริง และถอยออกจากจุดยืนของตัวเอง ช่วงจังหวะเวลานี้เหมาะสมที่สุดในการที่เราจะหาข้อเท็จจริงของแต่ละสี แต่ละเครือข่าย จุดยืนที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงอยู่ตรงไหน ส่วนคดีความของบรรดาผู้ที่เคยเคลื่อนไหวในอดีต คงต้องรอการติดคุกกันต่อ ซึ่งในทางคดีของกลุ่มพธม.โดนข้อหาหนักทั้งก่อการร้ายและกบฏ” นายอมร กล่าว

นายอมร กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยที่เราจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งหนทางเฉพาะหน้าคือการมีกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งเป็นความจำเป็น และตนค่อนข้างสนับสนุนแนวคิดพรรคก้าวไกล ที่ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่เกี่ยวข้องว่าใครบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ส่วนมาตรา 112 เห็นว่าเป็นหนึ่งในปัญหาร่วมในสังคม ตนจึงสนับสุนนว่าก่อนมีเนื้อหาของร่างจะต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ก่อน ส่วนระยะกลางต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่ได้ตัวแทนจากภาคประชาชนในการเลือกตั้งมาเขียน หากไม่ทำสองสิ่งนี้ การเมืองไทยคงวนเวียนอยู่แต่กับระบบอำนาจที่รับใช้ทุนแต่ไม่เคยทำประโยชน์ให้ประชาชน

ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การเกิดคดีทางการเมืองกับประชาชน เนื่องจากอำนาจรัฐมองประชาชนเป็นศัตรู หากเขาไม่มองประชาชนเป็นศัตรู เขาต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่แตกต่างของประชาชน ซึ่งกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลห้ามด้วยว่ารัฐห้ามกระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังนั้น ตราบใดก็ตามหากรัฐยังมองว่าประชาชนเป็นศัตรูก็จะหาเหตุต่างๆมายัดเยียดใส่ร้าย โดยที่หากยังเป็นแบบนี้คงไม่ต้องพูดถึงการนิรโทษกรรม ดังนั้น ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อน สำหรับตนวินาทีนี้ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการสนับสนุนจากพรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสว. และกลับตาลปัตรที่พรรคซึ่งประชาชนเลือกมากที่สุด 14 ล้านเสียง แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ สะท้อนว่าขณะนี้ ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ตนมีแนวคิดว่า ประเทศไทยต้องไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไป ต้องไม่มีการฆ่าคนโดยใช้ทหารใจกลางถนนอีกต่อไป

Advertisement

“ตราบใดที่รัฐบาลยังเห็นประชาชนเป็นศัตรู โอกาสที่จะนิรโทษกรรมนั้นยาก รัฐบาล 10 พรรคที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นโต้โผใหญ่ท่านเห็นประชาชนเป็นศัตรูหรือไม่ หากท่านไม่เห็นประชาชนเป็นศัตรูจขอให้ท่านเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม เพราะความผิดทางการเมืองมาจากความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันแค่นั้น หากไม่มีผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง ควรต้องปล่อยเขาให้หมด สิ่งที่ควรจะทำคือเชิญเขาไปแสดงความเห็นหรือปราศรัย หากไม่เห็นด้วยก็โต้แย้งกัน ผมจึงขอเสนอรัฐอย่างตรงไปตรงมา หากคิดว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ และผมเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน โดยที่ไม่นิรโทษเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ” นพ.เหวง กล่าว
นพ.เหวง กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นได้ ถ้าทุกพรรคการเมืองสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ตนจึงอยากฝากไปถึงพรรครัฐบาลทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนแสดงออกแล้วว่าประชาชนให้คะแนนใครมากกว่า จึงเป็นโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะสร้างคะแนนด้วยการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หากสนับสนุนคะแนนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มขึ้นมาอีกมาก รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่คล้ายกับฉบับ 40 ก็จะเป็นอีกหนทางที่พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเก็บใส่กระเป๋าเหมือนกัน” นพ.เหวง กล่าว

ขณะที่ น.ส.เบนจา อะปัญ ผู้ถูดำเนินคดีทางการเมือง กล่าวว่า ยุคปัจจุบันเป็นแฟลชม็อบ ดังนั้น การไปที่เราปรากฏตัวที่ไหนจะเท่ากับ 1 คดี ทำให้แต่ละคนต้องโดนหลายคดีส่งผลกระทบรุนแรงมาก เพราะหลายคนที่โดนหลายคดีต้องขึ้นศาลแทบทุกวัน การดำเนินคดีในยุคปัจจุบันจึงมีจำนวนมหาศาล และถูกตัดสินจำคุกอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวในอดีต สะท้อนว่าประเทศไทยไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลง ยังคงมีการชุมนุมต่อเนื่องทุกยุค เป็นภาวะที่ไม่ปกติที่เราคิดว่าปกติไปแล้ว จึงควรถึงเวลาสะสางปัญหาเพื่อให้เราไปต่อได้ ดังนั้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปลดล็อกเพื่อไปต่อ เราไม่ได้อยากดูการเมืองแบ่งขั้ว เราแค่ต้องการรัฐบาลที่สามารถทำให้คนในประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง รัฐบาลที่ดีจะทำให้ประชาชนที่ไม่ได้คิดเหมือนกัน 100% อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็ต้องมารับมือกับเจเนอเรชั่นใหม่ที่อาจจะเปรี้ยงปร้างมากกว่าปัจจุบันก็ได้ ซึ่งตนไม่ได้ขู่

น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เราอยู่ในความขัดแย้งมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 49 ทำให้สภาพเศรษฐกิจ สังคม บ้านเราหยุดชะงัก ทั้งที่เราสู้เพียงประเด็นเดียวว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งคู่ขัดแย้งคือรัฐกับประชาชน การนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรต้องเริ่มทำ เพื่อนำประเทศไปสู่ภาวะปกติที่เราพูดคุยได้ และถือเป็นก้าวแรก ทั้งนี้ อาจต้องมีพื้นที่ที่คนทุกรุ่นได้มาพูดคุยร่วมกันเพื่อผลักดัน และแก้ปัญหาต่อไป

น.ส.พูนสุข กล่าวด้วยว่า สำหรับสถิติปี 53 ประชาชนถูกดำเนินคดี 1,700 คน หลังรัฐประหารมีการใช้ประกาศให้พลเรือนไปขึ้นศาลทหารในความผิดของคดี 4 ประเภท มีคนถูกดำเนินดคีโดยศาลทหาร 2,400 คน ในยุคคสช.มีปัญหาตรงที่เขาออกประกาศคำสั่งเอง คนจับกุมคือทหาร ตำรวจ อัยการทหารดำเนินคดี คนพิพากษาคือศาลทหาร กระบววนการยุติธรรมตั้งแต่ตนจนปลายทหารควบคุมไว้ทั้งหมด คสช.ได้ทำลายหลักนิติรัฐที่ต้องเป็นการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่ แต่ปรากฎว่าเราได้เห็นความโอนเอนในการใช้กฎหมายแต่ละช่วง ซึ่งมาตรา 112 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ามีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง มีช่วงหนึ่งในต้นปี 61 – 63 อยู่ๆกฎหมายมาตรา 112 ที่เคยใช้อย่างรุนแรงกลับมีการยกฟ้อง เราเห็นความพยายามไม่ใช้มาตรา 112 แต่ใช้เครื่องมืออื่น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 63 – ปัจจุบัน มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ประมาณ 1,900 คน รวม 1,200 คดี เราจะกักขังอนาคตของประเทศไว้แบบนี้จริงหรือ เป็นที่มาของการนำมาสู่ข้อเสนอการนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งจะเป็นก้าวแรกที่จะชวนกันออกจากความขัดแย้งได้

“พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นแค่ก้าวแรกของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงควรมีมาตรการอื่นๆเสริมด้วย การออกพ.ร.บ.ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 คนที่กลัวว่าจะกระทบกระเทือนสถาบันจึงไม่ต้องกังวล เพราะมาตรา 112 ยังอยู่ แต่การผ่านร่างฉบับนี้ จะทำให้คนเห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และสถาบันการเมือง เป็นการนำประเทศไปสู่ทางออก” น.ส.พูนสุข กล่าว

ด้าน นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมในยุค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยึดหลักแน่วแน่ในการนำยุติธรรมสู่ประชาชน มีการใช้เงินกองทุนยุติธรรมจำนวนมากมาดูแลประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมเป็นปลายเหตุที่รับผลมาจากหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้น รัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังปัญหา และพร้อมปรับปรุงเรื่องที่ยังขุ่นข้องหมองใจ ยุคนี้เราต้อนรับประชาชน และกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ จึงเป็นยุคที่น่าจะสอดคล้องความต้องการของประชาชนในระดับหนึ่ง ส่วนความเห็นต่อร่างพ.รบ.นั้น รมว.ยุติธรรมเรียกตนไปพบว่าให้รวบรวมเพื่อเสนอความเห็นให้ท่าน วันนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลหรือกระทรวงยุติธรรมมีนโยบายอย่างไร เพราะเป็นช่วงที่รวบรวมประแด็นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก่อน และค่อยดูสิ่งที่รมว.ยุติธรรม จะดำเนินการต่อไปได้

จากนั้น เวลา 14.40 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน แถลงเปิดตัวร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … โดยน.ส.เบนจา กล่าวว่า คนที่จะได้รับโอกาสในการนิรโทษกรรมคือประชาชนเท่านั้น ยกเว้นการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ เนื่องจากหากเป็นกรณีของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติพอสมควรแก่เหตุ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ส่วนประชาชนไม่เคยได้รับการดูแลคุ้มครองตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเลย เราเสนอให้นิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 จนถึงปัจจุบัน โดยหลักเราไม่สามารถออกกฎหมายคุ้มครองไปยังอนาคตได้ ดังนั้น จึงคุ้มครองไปถึงวันที่พ.ร.บ.นั้นออกมาเท่านั้น การนิรโทษกรรมจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประเภทได้รับการนิรโทษกรรมเลยโดยไม่ผ่านคณะกรรมการ เช่น คดีเกี่ยวกับคำสั่งคสช. พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีศาลทหาร คดีความผิดมาตรา 112 คดีความผิดเกี่ยวกับพรก.ฉุกเฉิน ความผิดเกี่ยวกับประชามติ 2559 และความผิดจากคดีต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เพราะทั้งหมดเป็นคดีการเมือง และเป็นคดีที่ไม่สมควรถูกให้เป็นคดีตั้งแต่ต้น และ 2.คดีประเภทต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณามูลเหตุจูงใจทางการเมือง เพราะเราไม่สามารถกำหนดให้ความผิดบางอย่างเป็นคดีการเมืองได้ จึงต้องดูมูลเหตุจูงใจทางการเมืองด้วย ว่าที่กระทำไปเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่

น.ส.เบนจา กล่าวต่อว่า ผลของการนิรโทษกรรม คือหากเราผลักดันร่างนี้สำเร็จ คดีต่างๆไม่ว่าจะอยู่ในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาล ก็จะถูกจำหน่ายคดีออก เสมือนบุคคลเหล่านั้นไม่เคยถูกดำเนินคดีนั้นมาเลย และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ลบประวัติอาชญากรรมด้วย เพื่อให้เขากลับคืนสู่สังคมในสภาพปกติได้เร็วขึ้น ส่วนคณะรรมการนิรโทษกรรมประชาชน ควรมี 19 คน ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานวิป สส.ตามสัดส่วนพรรคการเมือง 10 คน สัดส่วนจากประชาชนตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดี จากการัฐประหารปี 49 ปี 52 – 53 ปี 57 – 62 และปี 63 – 66 รวมถึงตัวแทนภาคประชาชนที่ค้นหาความจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image