ขานรับ”เอ็มโอยู”ปรองดอง รุกดันทุกฝ่าย”เจ้าภาพ”

หมายเหตุความเห็นจากนักการเมืองเกี่ยวกับแนวคิดให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเวทีเจรจากับทุกกลุ่มการเมือง และให้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน ในการร่วมสร้างความปรองดอง

วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เตรียมเชิญทุกพรรคการเมืองทำเอ็มโอยูยุติความขัดแย้งก่อนการเลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นเรื่องดี แต่ต้องทำด้วยเงื่อนไข ต่อไปนี้ 1.ต้องเปิดรับฟังความเห็นอย่างจริงใจ 2.ต้องเป็นเวทีที่เชิญผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของทุกฝ่ายเข้าร่วม เพราะที่ผ่านมา ผลการเจรจาแต่ละครั้งไม่สำเร็จ เพราะผู้มีอำนาจในการตัดสินใจไม่อยู่บนโต๊ะเจรจา 3.ควรทำอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ และ 4.ควรทำเอ็มโอยูเป็นประเด็นๆ ไป อย่างประเด็นไหนเห็นพ้องต้องกันก็ทำ ส่วนประเด็นใดยังเห็นต่างกันก็ให้เก็บไว้แล้วพูดคุยกันต่อไปจนได้ข้อยุติ

Advertisement

ผมขอสนับสนุนและให้กำลังใจกับการริเริ่มการปรองดองของรัฐบาลนี้ การมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรรับผิดชอบ มีความเหมาะสม เพราะถือเป็นผู้ที่มีอำนาจมีบารมีและเป็นผู้กว้างขวางทราบความเคลื่อนไหวในการเมืองเป็นอย่างดี โดยในขณะนี้ ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับเรื่องปรองดอง จึงต้องรีบลงมือทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรองดองไม่ได้หมายความว่าคนในสังคมจะต้องเห็นไปในทางเดียวกัน เพราะถ้าคิดเช่นนั้นโอกาสการปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย การปรองดองคือการที่คนเห็นต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยไม่เข่นฆ่าทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่ง หรือใช้เสียงข้างมากกดดัน หรือกระทำผิดรัฐธรรมนูญ จนเกิดความเสียหายกับบ้านเมือง

กระบวนการก่อนจะดำเนินการปรองดองนั้น คิดว่าต้องทำลายล้างกองกำลังที่มีการจัดตั้งขึ้นในสมัยหนึ่ง กวาดล้างอาชีพสีเทา มือปืนรับจ้างและของผิดกฎหมายทั้งหลาย เพราะกระบวนการความแตกแยกในสังคมไทยเกิดขึ้น เพราะมนุษย์ทำให้แตกแยก โดยใช้เงินและอำนาจผ่านบริวารที่ปากกล้าพูดบิดเบือน โดยไม่คำนึงถึงความจริง หรืออาศัยความเป็นจริงเพียงบางส่วนเล็กน้อย รวมถึงการใช้กองกำลังเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่เข้าชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นระยะๆ สังคมรับรู้ได้โดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะเป็นหนทางที่ทำให้สังคมไทยเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยและเกิดความปรองดองได้ในที่สุด และการทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ความสงบได้นั้น จึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐบาลนี้ผู้ที่มีกองทัพสนับสนุนและสภานิติบัญญัติต้องให้การสนับสนุนเต็มที่

Advertisement

อำนวย คลังผา

อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.)

เห็นด้วยกับแนวทางของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกันระหว่างพรรคการเมือง ส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประวิตรมีความเหมาะสมจะเข้ามาทำเรื่องปรองดองเพราะเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในบ้านเมือง และอยากให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการทำให้เกิดความปรองดองโดยเฉพาะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และมาตรา 48 ดำเนินการ ก็จะทำให้ทุกอย่างทำได้และจบสมบูรณ์ทันที รวมถึงเป็นวิธีการปรองดองที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยไม่ต้องให้พรรคการเมืองไปพูดคุยกันเพราะจะไม่ได้ข้อยุติอย่างแน่นอน เนื่องจากเราเคยคิดจะพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 2547 แล้วก็ยังไม่เกิดประโยชน์อะไร สุดท้ายก็ทะเลาะกันเหมือนเดิม แล้วถามว่าถ้าใช้มาตรา 44 จะเป็นการบังคับนักการเมืองหรือไม่นั้น ผมมองว่าไม่ถือเป็นการบังคับเพราะเป็นการใช้กฎหมายมากกว่า

ที่ผ่านมาการเปิดเวทีให้พรรคการเมืองมาผู้คุยกันนั้นไม่เคยได้ข้อยุติ ก็อยากให้ใช้คณะกรรมชุดรองนายกฯ กับชุดที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ดำเนินการเรื่องการปรองดองมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเราถกเถียงกันมาตลอดเรื่องความขัดแย้ง เช่น คำว่าระบอบทักษิณที่ประชาชนเลือกผ่านพรรคเพื่อไทยเข้ามา เราเองต้องก้าวข้ามจุดนี้ให้ได้เช่นกัน

ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเราควรยุติความขัดแย้งได้แล้ว เพราะตั้งแต่ปี 2547 การเมืองไทยมีสภาพอย่างไร ดังนั้นเวลานี้หากนักการเมืองไม่รู้จักสำเหนียกตัวเองก็คงไม่ได้แล้ว ใครจะไม่รู้ตัวเองนั้นผมไม่ว่าแต่เราต้องรู้จักตัวเองเสียก่อนว่าเวลานี้เราควรช่วยกันยุติความขัดแย้งได้แล้ว ที่ผ่านมาในสภาก็พยายามจะแก้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมก็ไม่เอากัน สุดท้ายก็นำมูลเหตุมาถึงจุดนี้ เราเองไม่อยากจะไปย้อนอดีต แต่ควรมาเริ่มนับหนึ่งใหม่กันดีกว่า ซึ่งแนวทางของนายกฯเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ผมขอเป็นกำลังใจให้นายกฯและรองนายกฯทำงานให้สำเร็จ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

การปรองดองที่สำเร็จในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เริ่มต้นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะปล่อยให้ความขัดแย้งเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเกิดความเสียหายมากมาย ต่อไปก็จะเสียหายยิ่งกว่า ในสังคมไทยต่างรับรู้ถึงประเด็นนี้อยู่แล้ว ทุกฝ่ายเรียกร้องหาความปรองดองมาหลายปีการจะสร้างความปรองดองจำเป็นต้องมีคณะกรรมการหรือคณะทำงานมาดำเนินการเรื่องนี้โดยในหลายๆ ประเทศจะให้องค์กรที่เป็นกลาง ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการกำหนดตัวคณะกรรมการ การปรองดองของรัฐบาลนี้ เป็นการแต่งตั้งโดยคณะผู้มีอำนาจในปัจจุบันเสียทั้งหมด ภายใต้รูปแบบนี้ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้วางสถานะตัวเองอยู่นอกเหนือความขัดแย้ง เหมือนกับเป็นคนกลาง แต่บทบาทที่แท้จริงที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้นหรือไม่สังคมต้องพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ากระบวนการปรองดองคราวนี้ น่าจะมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ดูจากสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ทั้งหมดในวันนี้นปช.พร้อมให้ความร่วมมือ และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรองดองอย่างแน่นอน นอกจากว่าเราจะไม่แน่ใจว่าแต่ละฝ่ายที่มีส่วนร่วม ให้นิยามความสำเร็จของการปรองดองนี้ว่าอย่างไร นปช.พร้อมร่วมทุกเวทีที่มีเป้าหมายของความปรองดอง ที่ผ่านมา นปช.ไม่เคยปฏิเสธ ครั้งนี้เราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออีก เพื่อลดบาดแผลจากความเสียหาย

ผมพิจารณาจากบรรยากาศ สภาพแวดล้อมของสถานการณ์ พบว่าท่าทีของผู้มีอำนาจนั้นดูเข้มแข็งจริงจังที่สุดนับตั้งแต่การยึดอำนาจ คิดว่าเรื่องนี้จะเดินเร็ว เห็นเป็นรูปธรรม แต่จะนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริงหรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ทั้งนี้ การจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน จะต้องเดินไปด้วยหลักการ

ศุภชัย ใจสมุทร

รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

พรรคภูมิใจไทยได้เสนอแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้งโดยการสร้างความปรองดองมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ประเทศไทยมาถึงจุดที่ต้องมีการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เพราะความขัดแย้ง ดังนั้น การคิดทำเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ความจริงแล้วควรจะดำเนินการนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศเสียด้วยซ้ำ และเห็นว่าจริงๆ หากประเทศจะเข้าสู่การเลือกตั้ง โดยปัญหาความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย น่าห่วงว่าที่สุดประเทศเราก็จะตกอยู่ในวังวนเดิมๆ อีก

การปรองดองเป็นการจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่เคยแตกแยก ต่อสู้ และปะทะกัน ทั้งในระดับความคิดและในระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในกระบวนการตกลงเพื่อเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ (peace talk) ระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และทำการสร้างองค์กรหรือสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยในการเข้ามาช่วยปรองดอง และต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในที่นี้อาจจะรวมถึงการใช้มาตรการออก กฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือเยียวยาความเสียหายโดยเริ่มจากการแสวงหาความจริงในอดีต สาเหตุความไม่เป็นธรรมในสังคม การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้ง การแสวงหาข้อเท็จจริงของความคิดแต่ไม่หาคนผิด และการจัดสรรอำนาจใหม่ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ควรระลึกด้วยว่า การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริงได้ การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้นตอของความขัดแย้งในสังคมได้รับการแก้ไข การจะเริ่มแก้ไขได้ก็โดยการพิสูจน์ทราบ บันทึก และชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสังคมมีสิทธิในการเข้าถึงความจริง การรับทราบความจริงจึงจะนำมาสู่ความเข้าใจ การให้อภัย และเมื่อนั้นการปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้

เมื่อการใช้มาตรการทางกฎหมายโดยการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เมื่อพิจารณาความหมายของการนิรโทษกรรม เป็นการลืมหรือยกโทษในความผิดของบุคคลที่ได้กระทำไปแล้ว โดยใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารเป็นผู้ตรากฎหมายเพื่อยกเว้นความผิดหรือโทษไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญา ทางแพ่ง ซึ่งอาจรวมถึงโทษทางปกครองด้วยในเหตุการณ์ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง การยกเว้นการดำเนินคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และในบางกรณีคือ มาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายต่อบุคคลหรือกลุ่มคณะบุคคลในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำทางอาญาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม และมาตรการทางกฎหมายซึ่งจะไปยกเลิกภาระรับผิดทางกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการนิรโทษกรรม

ส่วนอีกหนึ่งคำที่ทำให้สับสนคือ การอภัยโทษ หมายถึงเป็นการกระทำอย่างเป็นทางการที่ตามปกติจะดำเนินการโดยผู้นำของรัฐกระทำภายใต้รัฐธรรมนูญโดยยกเว้นโทษบางส่วนหรือทั้งหมด คือ การลดโทษแต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการตัดสินลงโทษโดยรวม ในทางกลับกัน การนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นเพียงการลบล้างการตัดสินลงโทษแต่ยังรวมถึงการป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดีในอนาคตด้วย

ดังนั้น การปรองดองจะต้องควบคู่กับการนิรโทษกรรม เพื่อให้กระบวนการเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายประเทศไทย รัฐบาลจึงควรทำความเข้าใจให้ชัดว่าการปรองดองคืออะไร การมาลงเอ็มโอยูกันโดยใครๆ จึงไม่ใช่เป็นการตอบโจทย์ว่าความขัดแย้งจะหมดไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คสช. หรือรัฐบาล ต้องมีจุดยืนสำคัญว่ามีความจริงใจในการจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง เพราะต้องยอมรับว่าสังคมส่วนหนึ่งยังสงสัยว่าท่านเป็นคู่ขัดแย้งอยู่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image