ศิริกัญญา ชำแหละ งบปี’67 มหาดไทยได้มากสุด ยอดพุ่งแซง กระทรวงศึกษาแล้ว

แฟ้มภาพ

ศิริกัญญา ชำแหละ งบปี’67 มหาดไทยได้มากสุด ยอดพุ่งแซง กระทรวงศึกษาแล้ว

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความบน x หรือทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยมีเนื้อหาดังนี้

หลังจากมีการปรับปรุงงบปี 67 ล่าสุด (28 พ.ย. 66) พบว่ามีการเพิ่มงบกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาเพียง 15,000 ล้านบาท และเพิ่มงบกองทุน SME อีก 5,000 ล้านบาท โดยไปปรับลดงบส่วนของรัฐวิสาหกิจลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบสำหรับชำระหนี้ ม.28 ของ ธ.ก.ส. ยังไม่มีงบของดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเดิม

ปีนี้งบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เกือบ 3 แสนล้าน แถมยังเป็นปีที่จัดงบ 2 รอบ งบ 67 เศรษฐา vs. งบ 67 ประยุทธ์ ต่างกัน 1.3 แสนล้านบาท แต่เราอาจจะไม่เห็นว่างบแต่ละกระทรวงเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะมีเงินก้อนใหญ่ที่ต้องใช้คืนเงินคงคลังสูงถึง 1.18 แสนล้านบาท เงินคงคลังที่ใช้ไปแล้วต้องเอามาคืนมากขนาดนี้ ก็มาจากงบเงินเดือน งบบำนาญ งบรักษาพยาบาล ที่ตั้งงบไว้ไม่พอจ่ายในปีงบก่อนหน้า (ปี 65 และ 66) นั่นเอง

Advertisement

5 อันดับกระทรวงที่งบเยอะสุด

อันดับ 1 กระทรวงมหาดไทย 3.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% ปีนี้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แซงกระทรวงศึกษาฯเรียบร้อยแล้ว งบที่เพิ่มนอกจากจะมาจากเงินเดือนกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเงินเดือน อบต.ที่เพิ่มสมัยประยุทธ์แล้ว ยังมาจากงบท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นตามประมาณการรายได้ แต่ยังคงไปไม่ถึงเป้าหมาย 35% ของรายได้ ปี 67 นี้รัฐบาลจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่น 29% ของรายได้รัฐสุทธิเท่านั้นต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่สำคัญยังคงไม่มีการชดเชยภาษีที่ดินให้กับ อปท.

อันดับ 2 กระทรวงศึกษาฯ 3.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นแค่ 0.3% ตกลงจากอันดับ 1 ตลอดกาล เรายังไปเจออีกว่า ตอนที่ประยุทธ์ทำงบ 67 กระทรวงศึกษาฯได้งบมากกว่านี้ 2 พันล้านบาท ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่มีการปรับเพิ่มเงินรายหัว และคงต้องตามต่อว่างบแทบเล็ต ที่ถูกเปลี่ยนเป็นโน้ตบุ๊กจะเป็นเท่าไหร่ จะเป็นการเช่าหรือเป็นการซื้อ

Advertisement

อันดับ 3 กระทรวงการคลัง 3.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 15%! แต่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะส่วนใหญ่เป็นงบใช้หนี้ส่วนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ราว 3.8 หมื่นล้าน อีกส่วนที่เพิ่มมาเยอะ คือ กรมสรรพสามิต ภายใต้แผนบูรณาการอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต 3,000 ล้านบาท น่าจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม 1.98 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2% หรือเกือบ 4 พันล้าน โดยงบที่เพิ่มเกือบครึ่งเป็นเงินเดือน ที่เหลือถึงจะเป็นงบที่น่าตื่นเต้นว่าปีนี้จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ อะไรมาให้เราได้ตรวจสอบ เมื่อเรือดำน้ำจมไปแล้ว F-35 อเมริกาเค้าก็ไม่ขายให้แล้ว

อันดับ 5 กระทรวงคมนาคม 1.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% หรือ 3 พันล้าน ซึ่งก็ปรับขึ้นพอๆ กับที่ประยุทธ์ทำงบ จึงน่าสนใจว่าแล้วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะได้ขยายเพิ่มไปที่สายสีอื่นอีกมั้ย ถ้าไม่ได้ตั้งเงินอุดหนุนเอาไว้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น งบกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกหั่นจากยุคประยุทธ์ลงมา 4.6 พันล้าน แถมยังมีดราม่าตัดงบถึงขั้นที่ รมต.สธ.ขอถอนเรื่องจาก ครม.มาแล้ว

งบกลาง ส่วนเงินสำรองปีนี้มากกว่าปี 66 ถึง 6,000 ล้าน อยู่ที่ 9.85 แสนล้าน คาดว่าจะเป็นการตั้งไว้สำหรับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ (แต่จะพอหรือไม่?)

งบกระทรวงดิจิทัลพุ่งขึ้นมา 30% โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Depa ได้งบเพิ่ม 2 เท่า สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้งบเพิ่ม 50% งบ Soft power จะอยู่ที่นี่หรือไม่ กกต.ได้งบเพิ่มพันกว่าล้าน จะเป็นงบประชามติรึเปล่า ติดตามรายละเอียดได้ปลายเดือน ธ.ค.นี้ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image