ConforAll ดักทาง ‘ประชามติ’ คำถามไม่ดีเสี่ยงตกม้าตาย งัดเหตุผล ‘สสร.’ ต้องเลือกตั้ง 100%

ConforAll ดักทาง ‘ประชามติ’ คำถามไม่ดีเสี่ยงตกม้าตาย งัดเหตุผล ‘สสร.’ ต้องเลือกตั้ง 100%

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว) เขตพระนคร กรุงเทพฯ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #ConforAll จัดงาน “ConforAll ปักธงส่งต่อ สสร.เลือกตั้ง” ส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติ เพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ เขียนธงสนับสนุนข้อเสนอ Con for All และการติดสติ๊กเกอร์ทำโพลสำรวจความเห็นว่า ‘ท่านเห็นด้วยกับคำถามประชามติที่ประชาชนเสนอหรือไม่’ นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ ไอลอว์ ครช. เป็นต้น

บรรยากาศเวลา 17.55 น. มีกิจกรรมเสวนา “Con for All ปักธง ส่งต่อ สสร.เลือกตั้ง” โดย นายกรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG), นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw),

Advertisement

น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ดำเนินรายการโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ในตอนหนึ่ง นายกรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวว่า เราอยากให้มีการเลือกตั้ง สสร. 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวสนับสนุนเรื่องนี้ ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เราเกิดวิกฤตศรัทธาตัวแทน ที่ไม่ได้มาจากประชาชน

“ถ้าคุณโกรธและไม่เห็นด้วย กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ส.ว.ที่ปักตกร่าง ที่ประชาชนเสนอทุกครั้ง ถ้าคุณโกรธ กับการที่ ส.ว.ไม่ยกมือโหวตเลือกนายก ตามเสียงส่วนมากของประชาชน นั่นคือเหตุผลที่เราต้องเลือกตั้ง สสร.100 เปอร์เซ็นต์” นายกรกชกล่าว

Advertisement

นายกรกชกล่าวต่อไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ถ้าคำถามประชามติของรัฐบาล มีการบล็อก ตนอยากถามหาความรับผิดชอบ

“ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกระบวนการที่ล่าช้าออกไป ความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน” นายกรกชกล่าว

ด้าน น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้กล่าวไป ตอบชัดว่ารัฐธรรมนูญ 60 สร้างกติกาที่ซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถเขียนใหมาได้ ด้วยสิทธิของเราจริงๆ

“ตอนนี้อยู่ในมือของคณะกรรมการฯ ต้องบอกว่า เรามีสิทธิที่จะไม่ไว้ใจคณะกรรมการฯ ชุดนี้ เพราะเราเห็นความไม่ตรงไปตรงมา ในการตั้งคณะกรรมการ เราต้องส่งเสียง ตั้งคำถามช่วยกัน ว่าถ้าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมาจาก สสร. เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์” น.ส.แสงศิริกล่าว

ด้าน นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนไอลอว์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้ามีคำถามทำประชามติไม่ดี ก็อาจตกม้าตาย รัฐที่มีอำนาจในมือ ไม่ว่าจะทำประชามติอย่างไร ตนคิดว่าคือข้อที่รัฐบาลกังวล และนักเทคนิค นักวิชาการจะไปอยู่ตรงไหน จะร่างรัฐธรรมนูญโดยคนไม่มีความรู้หรือเปล่า ตนจะตอบด้วย 1 หลักการ และ 2 ด่าน ที่เราต้องข้ามคือ

1. หลักการอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชน ดังนั้น จึงต้องร่างได้ทั้งฉบับ ยึดโยงประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยเขียนไว้ในคำสอนแล้ว ดังนั้น หลักการชัดเจนแล้ว

ส่วน 2 ด่านที่ต้องข้าม คือ 1.ด่านประชามติ ตัวละครที่สำคัญที่สุดคือประชาชน และ 2.ด่านรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว. ”
นายรัชพงษ์ชี้

นายรัชพงษ์ระบุว่า ปัญหาคือ การให้ความสำคัญไม่เท่ากัน สิ่งที่สำคัญกลับไม่สำคัญ อย่าง ‘ด่านประชามติ’ ที่สำคัญกว่า ‘ด่านรัฐสภา’ หรือการรับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ เช่นนี้ก็ไม่เอาแล้ว

“เมื่อไปสู่ชั้นรัฐสภา กลัว ส.ว.คว่ำแก้ปัญหาอย่างไร ก็ประชาขนโหวตมาแล้ว เจตจำนงถูกยืนยันผ่านการทำประชามติ และ ส.ส. ส.ว. ต้องทำตามนั้น นอกจากนี้ ยังมีผลดีทางการปฏิบัติ คือเกราะกำบังของนักการเมืองผ่านการเลือกตั้ง สามารถเอาผลไปคุยกับ ส.ว. จะมีอำนาจต่อรองในมือ ศักดิ์ศรีของคุณที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นโอกาสดีที่พลาดไม่ได้” นายรัชพงษ์ชี้

นายรัชพงษ์กล่าวถึง การเลือกตั้ง สสร.100 เปอร์เซ็นต์ว่า นอกจากเนื้อหาดี ยังต้องมีความชอบธรรมด้วย แต่ถ้าไม่มีทั้ง 2 ประชาชนจะตั้งคำถามเป็น 2 เท่า ดังนั้นการขาดแคลนความชอบธรรมในรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอุดให้ได้ ซึ่งวิธีการที่แฟร์ จะนำมาสู่ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ

นายรัชพงษ์กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วย ว่าไม่จำเป็นต้องทำประชามติครั้งแรก หรือต่อให้รัฐสภา สร้างระบบ สสร.ขึ้นมาเลย หลักการที่ประชาชนยืนยันยังเหมือนเดิม คือร่างใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง สสร. 100 เปอร์เซ็นต์ ยังอยู่ แต่ก็ยังมีโอกาสตกม้าตัวที่ 2 มีโอกาสหลายช่องมากเหลือเกินที่จะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไปไม่สุดทาง อยากให้รัฐบาลพูดออกมาเลยว่า กังวลอะไร

ประเด็นที่ 2 ต่อให้ไม่ทำประชามติ ส.ว. ก็กำลังจะหมดอายุ จะไม่อยู่ในอำนาจแล้ว ฉะนั้น ถ้า ส.ว.หมดอายุ ก็เป็นช่องที่ไม่ต้องทำประชามติแล้ว

“ถ้าถามว่าวันนี้มีทางออกอย่างไรบ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือกได้หมด สิ่งเดียวที่ต้องการ คือคนที่อยู่ในอำนาจมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้สุดทางหรือไม่ เพราะเราช่วยกันหาทางออกได้อยู่แล้ว” นายรัชพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image