หลากเสียงสะท้อน ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ‘2-16บ.’

หลากเสียงสะท้อน
ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ‘2-16บ.’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการ ภาคแรงงานและเอกชนภายหลังคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ประชุมพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มในอัตราวันละ 2-16 บาท โดยมีอัตราสูงสุดใน จ.ภูเก็ต ขึ้นวันละ 16 บาท และอัตราต่ำสุดใน จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ขึ้นวันละ 2 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

ผมคิดว่ามีความพยายามที่จะหาแนวทางที่กำหนดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม พยายามคิดคำนวณจากสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนี้ ประกอบกับภาวะต้นทุนของผู้ประกอบการและสถานการณ์จริงๆ เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ หากมองไปแล้วจะไม่เหมือนกับที่หาเสียงเอาไว้ เห็นได้จากมีความแตกต่างกันอยู่คือ การเอาตัวเลขเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเป็นตัวตั้ง ทำให้อัตราค่าจ้างต่างกัน แต่ในความเป็นจริงรายจ่ายของประชาชนไม่ว่าจังหวัดไหนเท่ากันหมด เพราะจ่ายตามราคามาตรฐานของผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้คำนึงบนฐานเศรษฐกิจของจังหวัด ทำให้ดูเหมือนว่าจะได้ค่าแรงที่สูงขึ้น แต่รายจ่ายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้กระบวนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกตั้งคำถามมาตลอด เพราะไม่สะท้อนรายจ่ายที่แท้จริง

หากมามองค่าแรงงาน จ.ภูเก็ต เพิ่มสูงขึ้น 16 บาท ดูแล้วเอาจีดีพีของจังหวัดเป็นตัวตั้ง โดยมองว่าเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี จึงต้องเพิ่มค่าแรงสูงขึ้น เป็นการใช้กรอบวิธีคิดแบบง่ายๆ ไม่ได้มองดูรายจ่ายของประชาชนที่เท่ากันหมด จึงมองได้ว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในฐานะที่เป็นพลเมืองเท่ากัน มีส่วนที่ต้องจ่ายเท่ากัน แต่รายได้ต่างกัน ไม่ได้คิดถึงการลดรายจ่ายให้กับประชาชนตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือไม่ได้มองรายจ่ายทางเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยมองแต่รายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เคยคิดหรือควบคุมรายจ่ายให้กับประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับรายรับที่สัมพันธ์กันอยู่จริง เมื่อมีการขึ้นค่าแรงงาน สินค้าก็เพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตามมาอีก สุดท้ายก็เท่าเดิมเหมือนกันหมด เพราะค่าแรงเพิ่มขึ้น ข้าวของเครื่องใช้ราคาก็สูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนค่าแรงมีการปรับใหม่จากเดิมกรุงเทพฯ ชลบุรี มีอัตราสูง แต่ครั้งนี้กลายเป็นภูเก็ตมีอัตราสูงสุด หากมองไปแล้วอาจจะเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งที่ความเป็นจริงพัทยา ชลบุรี อาจจะต้องเพิ่มค่าแรงมากขึ้น เพราะว่าเป็นพื้นที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ การพิจารณาค่าแรงในครั้งนี้คงไปมองมิติอื่นประกอบด้วย จึงทำให้มองว่าจังหวัดในภาคใต้ที่มีรายได้หลักคือการท่องเที่ยว ควบคู่กับทางด้านการเกษตร อาทิ ปาล์ม ยางพารา อาจจะมีราคาสูงขึ้นมาในระดับหนึ่งเลยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเมินเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำที่มีการพิจารณาในครั้งนี้

Advertisement

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มองดูแล้วคงไม่พอใจเพราะทำให้รัฐบาลเสียหาย เพราะอาจจะเสียหลักประกันในเรื่องสัญญากับประชาชน ประกอบกับแนวนโยบายไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวไว้ ผลที่ตามมาคือทำลายความไว้วางใจกับประชาชน ในเรื่องการกำหนดค่าจ้างแรงงาน แม้ว่าจะมีข่าวออกมาแล้วเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง แต่ยังไม่ประกาศเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีควรจะมีการเจรจาให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีข่าวออกมาแล้ว เมื่อประชาชนรับรู้เกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้าง ถือว่าเป็นภาพรวมของรัฐบาล ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องควรจะมีการทบทวนเกี่ยวกับการประกาศการขึ้นค่าแรงงานให้ดีเสียก่อน เมื่อมีข่าวออกมาก็จะเกิดภาพลบต่อรัฐบาล

ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเข้า ครม. รัฐบาลต้องเอานโยบายของตัวเองเป็นตัวตั้ง โดยมองว่าเคยประกาศว่าจะต้องขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 450 บาททั้งประเทศ ต้องถามว่าผู้ประกอบการ แรงงานรับได้ไหมรัฐบาลต้องยื่นข้อเสนอก่อน แล้วมาตรองกันดูว่าแต่ละฝ่ายรับได้แค่ไหน แล้วมาหาตัวเลขที่สมดุล หลังจากนั้นมาปรึกษากับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลยืนยันใน 450 บาท แต่ยังมีปัญหากับผู้ประกอบการอาจจะเกิดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราชการก็กลัวเงินเฟ้อ ควรจะมีการสื่อสารอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่มีข่าวออกมาแบบนี้ หากมองไปแล้วผู้ประกอบการออกมายืนยัน 400 บาทรับได้ รัฐบาลก็สื่อสารออกไปตามความเป็นจริง เชื่อว่าสังคมรับได้ เพราะประชาชนเห็นความมุ่งมั่นการทำงานของรัฐบาล จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งเกี่ยวกับรายจ่ายของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงาน เกี่ยวกับไฟฟ้า น้ำมัน จะช่วยประชาชนอย่างไร รวมทั้งมาตรการภาษีในการส่งออก จะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้

เกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องทำทั้งระบบ แต่ขณะนี้ในการแก้ไขปัญหาทำแบบแยกส่วน รัฐบาล ผู้ประกอบการ แรงงาน ภาคพลังงาน ทำกันไปคนละทาง และเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หากจะแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ควรทำเป็นระบบหมายถึงการปรับความสัมพันธ์ในการบริหารคือ รัฐบาลจะต้องมีหุ้นส่วนในการพัฒนายกระดับคุณภาพแรงงาน ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายต้องคุยด้วยกัน รวมทั้งนักวิชาการทางด้านแรงงานก็ควรไปสมทบพูดคุยด้วย ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างในการบริหารงานรูปแบบใหม่ การแก้ไขปัญหาถึงจะออกมาเป็นรูปธรรมไม่เฉพาะแต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น

สุดเขต สกุลทอง
อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์
วิทยาลัยบริหารศาสตร์
มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสอบถามความเห็นของนายจ้างว่าควรขึ้นเท่าใดจึงจะเหมาะสมเพราะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเพียง 20 บาทก็มีผลต่อการตัดสินใจเพิ่มหรือลดการจ้างงานแล้ว ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดการค้าของประเทศไทย เป็นตลาดการแข่งขันสมบูรณ์ ผู้ขายไม่สามารถตั้งราคาที่สูงกว่าตลาดได้ และสินค้าส่วนใหญ่ในประเทศสามารถทดแทนกันได้ ส่วนตลาดต่างประเทศก็แข่งขันสูง ขณะที่ฐานผู้เสียภาษีของประเทศยังมีสัดส่วนเท่าเดิม ผู้เสียภาษีตาม ภงด.91 ต้องมีเงินรายได้ต่อปีเกิน 200,000 บาทหรือคนที่มีเงินเดือน 16,000-17,000 บาทขึ้นไป ข้อดีของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงจะช่วยเพิ่มฐานผู้เสียภาษีทำให้รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี นอกจากฐานผู้เสียภาษีไม่เพิ่มยังสร้างภาระให้นายจ้างด้วย

หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องยอมให้ผู้ประกอบการเพิ่มราคาสินค้า มิฉะนั้นผู้ประกอบการจะไม่สามารถจ้างแรงงานเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพสูงได้ตามทฤษฎี 2 สูงของกลุ่มทุนใหญ่ คือ ค่าจ้างสูง-ราคาสินค้าสูง แต่อย่าลืมว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร ลูกจ้างรายวัน กลุ่มซื้อมาขายไป อาจได้รับผลกระทบ ตัวอย่างเชียงใหม่ ธุรกิจหลักคือ ท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 70 รองลงมาคือ ภาคเกษตร ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม และค้าปลีกร้อยละ 10 ดังนั้น แรงงานส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคบริการ ท่องเที่ยว ซึ่งเงินเดือนที่ได้ยังไม่ถึง 18,000 บาทต่อเดือนแน่นอนเพราะธุรกิจแข่งขันกันลดราคา ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถจ่ายค่าจ้างสูงได้

การปรับขึ้นค่าจ้างถือเป็นข่าวดีสำหรับลูกจ้างในระบบประกันสังคมและกลุ่มแรงงานมีฝีมือ แต่แรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มใหญ่ในประเทศอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นครั้งนี้ หากสัญญาณการปรับขึ้นค่าจ้าง คือทำให้คนที่ได้รับค่าแรงเพิ่มมีกำลังจับจ่ายใช้สอยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้นได้ในทางอ้อม แต่ผลเสียใหญ่คือ ภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะต้องจ่ายเพิ่มในขณะที่ยอดขายเท่าเดิมหรืออาจลดลง

ทั้งนี้คาดว่าในปี 2567 อาจเห็นภาพการตอบโต้ของผู้ประกอบการหลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น ไม่จ้างงานเพิ่ม ลดจำนวนคนงาน หรือนำงานไปให้ลูกจ้างที่มีอยู่ทำเพิ่ม รวมทั้งอาจหาเหตุไม่ต่อสัญญารายปีกับแรงงาน เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ผู้ประกอบการทั่วโลกดำเนินการตอบโต้หลังรัฐประกาศปรับขึ้นค่าจ้างเพราะทำได้เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับการลดกำลังการผลิตหรือลดเครื่องจักร หรืออ้างเหตุประสบปัญหาขาดทุนเพื่อเลิกจ้างและมีการขอปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

รัฐบาลต้องหารือกับผู้ประกอบการในประเทศให้ได้ข้อสรุป ยังต้องหารือและทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในไทยเพราะค่าจ้างต่ำ เช่น นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่มีโรงงานตั้งอยู่กว่า 200 โรง เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกับนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคอื่นๆ รัฐบาลอาจต้องหามาตรการมารองรับเพื่อลดผลกระทบให้กับนักลงทุน เช่น การลดภาษี หรือเพิ่มแรงจูงใจไม่ให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

อรรถยุทธ ลียะวณิช
คณะกรรมการค่าจ้าง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

ใ นการพิจารณาอัตราปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น มีธรรมเนียมประเพณีมายาวนานในการพิจารณาปรับปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากจะต้องเก็บข้อมูลในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล รอบปีชนรอบปี จากนั้นก็ส่งข้อมูลมายังอนุกรรมการพิจารณา
ค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัด เพื่อนำตัวเลขค่าจ้างเสนอมายังอนุวิชาการและกลั่นกรอง และสุดท้ายก็จะมาถึงชุดคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งการพิจารณานั้นต้องคำนึงหลายเรื่อง เพราะการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข เราต้องทำตามกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ชัดเจนว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีระเบียบหลักการ ไม่ใช่นึกอยากขอก็ให้ แบบนั้นไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยต่างๆ อยู่ ทำให้ใช้เวลาในการคุยกันเยอะ เพื่อให้เจอจุดตรงกลาง ลงตัวกันอย่างเป็นเอกฉันท์

ยินดีกับลูกจ้างที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในทุกจังหวัด ที่เพิ่ม 2 บาท อาจมองดูน้อยแต่ด้วยเป็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ขณะที่จังหวัดส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นระหว่าง 9-10 บาท และสูงสุดที่ 16 บาท นายจ้างเองก็ต้องยอมรับเรื่องนี้เพื่อให้ลูกจ้างสามารถอยู่ต่อไปได้ และต้องย้ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำนี้สำหรับแรงงานฝีมือแรกเข้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ออกมานั้น เป็นตัวเลขที่นายจ้างรับได้ ซึ่งเป็นมติเอกฉันท์ในทุกจังหวัดที่มีการพิจารณา

วีรสุข แก้วบุญปัน
คณะกรรมการค่าจ้าง
ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

ห ากถามว่าในฐานะลูกจ้าง มีความพอใจกับตัวเลขนี้หรือไม่นั้น ก็ยังไม่พึงพอใจนัก แต่หากเป็นวันละ 400 บาท ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่ในวันนี้ที่เราได้ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำออกมาได้ด้วยดี เพราะแม้ว่าลูกจ้างมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ แต่เราก็ต้องมองถึงความเดือดร้อนของนายจ้างด้วย ถ้าเราเรียกร้องเอาค่าจ้างที่มากกว่าที่สมควร ก็จะเป็นเหตุให้นายเจ้านำเอาเครื่องมือ ที่เป็นเครื่องจักรมาใช้งานแทนคน ผลกระทบก็จะตกอยู่กับฝ่ายลูกจ้างเอง อย่าลืมนะว่าเครื่องยนต์ที่เอามาทำงานแทนคนได้ มันไม่เรียกร้อง ไม่ลาพักร้อน ไม่ลากิจ ไม่ลาป่วย ไม่ขอเงินเดือนเพิ่ม ดังนั้น เราก็อยู่ในจุดที่อยู่ร่วมกันได้ดี

ในการประชุมครั้งนี้พบว่าจังหวัดที่มีปัญหาที่ต้องถกกันมากที่สุดคือ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพราะ 6 จังหวัดนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ฉะนั้น เมื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็จะต้องปรับให้เท่าๆ กัน ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพ อย่างเช่นสมุทรสาครเมื่อเทียบกับ กทม. ตอนนี้ก็ไม่ต่างกันนัก เราจึงพยายามไปคุยกับนายจ้างว่าอย่าดึงตัวเลขลงเลย ซึ่งต้องขอขอบคุณฝ่ายนายจ้างที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างใน 6 จังหวัดนี้ให้เท่ากันที่ 363 บาทต่อวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image