มุนินทร์ ชี้ รธน.60 ‘เป็นโมฆะ’ มอง ปชช.คือ ‘ผู้เยาว์’ ยก 2 เรื่องประหลาดสร้างปัญหาร้ายแรง

มุนินทร์ ชี้ รธน.60 ‘เป็นโมฆะ’ มอง ปชช.คือ ‘ผู้เยาว์’ ยก 2 เรื่องประหลาดสร้างปัญหาร้ายแรง

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เมื่อเวลา 14.00 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน โดยมี วิทยากร ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก, นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ดำเนินรายการ

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า เราจำเป็นต้องพูดถึงปัญหารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และเส้นทางที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยพูดถึงความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต เคยเขียนบทความไว้แล้วว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับโมฆะ

การจัดทำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นผลผลิตของการศึกษารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบจากหลายประเทศ เราน่าจะเป็นประเทศที่ศึกษารัฐธรรมนูญบ่อยที่สุด จนกระทั่งมีเรื่องประหลาด 2 เรื่อง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวคือ

Advertisement

เรื่องที่ 1 เราใช้กฎหมายเปรียบเทียบ ในทางรัฐธรรมนูญ เราไปดูกฎหมายรัฐธรรมนูญในต่างประเทศที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส โดยลองผิดลองถูกหลายครั้ง

ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ในทางรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการศึกษารัฐธรรมนูญของหลายประเทศเป็นอย่างดี ศึกษาการผิดพลาดต่างๆ จนสามารถดีไซน์ระบบ เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างที่ต้องการได้

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยกตัวอย่าง การให้ ส.ว. มีอำนาจให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้ หรือการทำให้องค์กรอิสระมีอำนาจมากมหาศาล สามารถวินิจฉัยทุกสรรพสิ่ง ทุกการกระทำในทางกฏหมายเพื่อขัดรัฐธรรมนูญได้

Advertisement

“ถามว่าความเป็นจริงมันเป็นสิ่งใหม่หรือไม่ในการวินิจฉัยการกระทำเชิงกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ใหม่มากนัก ในเยอรมนีก็มีหลักการที่คล้ายกันแบบนี้ มันถูกนำมาใช้ในสภาพของสังคมเรา ในขณะที่หลักการคล้ายกันๆ แต่มีฟังก์ชั่นอีกแบบหนึ่ง

ในสภาพแวดล้อมแบบประเทศเยอรมนี การนำหลักการของต่างประเทศมาใช้ มีการหยิบยกหลักการที่คิดว่าน่าจะนำมาใช้แล้วเกิดผลอย่างที่ต้องการต่อระบบบ้านเรา มีการดัดแปลงจนเกิดนวัตกรรมใหม่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นนวัตกรรมใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เราอยู่ในจุดที่เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้เรามี ส.ว. ที่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ เรามีศาลรัฐธรรมนูญ ที่สามารถวินิจฉัยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หรือทุกการกระทำขององค์กรรัฐที่ถูกอยู่ในข่ายวินิจฉัยที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เราเจอนวัตกรรมมากมายที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรื่องพิสดารมาก” รศ.ดร.มุนินทร์กล่าว

รศ.ดร.มุนินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่ 2 คือ เรามีกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องพิสดาร จะมีกี่ประเทศที่มีกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าคุณต้องร่างบ่อยมาก จนเชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญให้กับประเทศ ซึ่งไม่ปรากฎที่ประเทศไหน แต่ปรากฏกับประเทศเรา เรามีกลุ่มคนกำหนดกฎกติกาของประเทศมีคนสร้างมาตราฐานในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

2 เรื่องนี้คือสิ่งที่แปลกประหลาดมากที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

“เมื่อพูดภาพรวมรัฐธรรมนูญจากทั่วโลก มีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.รัฐธรรมนูญที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการปกป้องประชาชนที่เป็นอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับนั้นช่วยให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่พึงมี ภายใต้หลักการสากล

2.รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือ ในการจำกัดบทบาทของประชาชนในการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สร้างกลไกไว้มากมาย เพื่อไม่ให้ประชาชนสามารถที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างแท้จริง

ถ้าย้อนกลับมามองประเทศไทย นั่นก็คือแบบที่ 2 เรามีรัฐธรรมนูญเยอะแยะมากมายในส่วนต้นที่เขียนไว้ รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 3 ซึ่งยืนยันหนักแน่น ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

“ทุกท่านทราบว่า เรามีการเลือกตั้ง แต่อำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทย เราไม่สามารถที่จะใช้ได้อย่างสมบูรณ์ คนส่วนใหญ่พูดว่า อำนาจอธิปไตยคือการไปออกเสียงเลือกตั้ง นั่นคือวันเดียวที่เราเป็นเจ้าของ หลังการเลือกตั้ง อำนาจอธิปไตยของเราก็หายไป นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่ตามมา ก็คือรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือ รวมถึงรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือฉบับปัจจุบัน

ดังนั้น ถ้าเราดูหลักคิดของการร่างรัฐธรรมนูญ ของผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญในบ้านเรา ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญรับรองความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย แต่ว่ารัฐธรรมนูญได้สร้างกลไกขึ้นมาบนสิ่งที่บอกว่าคุ้มครองประชาชน แต่มองว่าประชาชนเป็นเพียงผู้ไร้ความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตย หรือมองประชาชนเป็นเพียงผู้เยาว์ ซึ่งมีความสามารถในการใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างจำกัด ฉะนั้นผู้เยาว์ ก็ต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรม ที่คอยมาชี้เรื่องนั้นเรื่องนี้ และคอยมายกเลิกการตัดสินใจของประชาชน มีกลไก หรือองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมคอยมายกเลิก เพิกถอนการแสดงเจตนาของประชาชน มองประชาชนเป็นผู้ไร้ความสามารถ มองว่ากลไกต่างๆ เป็นเหมือนกลไกการคุ้มครองประชาชนไม่ใช่ประชาชนถูกหลอกโดยนักการเมือง หรือการแสดงเจตนาที่มีผลกระทบต่อความสงบสุข หรือความมั่นคงต่อส่วนรวม ซึ่งหลักการคิดแบบนี้มันถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่” รศ.ดร.มุนินทร์กล่าว

รศ.ดร.มุนินทร์กล่าวว่า หลักกฎหมายผู้เยาว์นั้นใช้ได้ในกฎหมายเอกชน กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์เท่านั้น ที่เราคุ้มครองเป็นบุคคลๆ ไป แต่ว่าในระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญในทางมหาชนทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพ มีความเสมอภาค เราทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจความเป็นอธิปไตยเสมอกัน เราทุกคนมีสิทธิเลือกผู้แทนอำนาจของตัวเราทุกคน เราไม่ควรมีใครมาชี้ว่า การแสดงเจตนาของเรามันมีวุฒิภาวะหรือไม่ เป็นมาตรฐานความถูกต้องของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยหรือเปล่า นี่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 เป็นชุดความคิดที่ครอบงำ หรืออยู่เบื้องหลังของรัฐธรรมนูญทั้งหมด คนที่พยายามที่จะสร้างระบบนี้ขึ้นมาดูเหมือนว่า ไม่เชื่อว่าประชาชนมีวุฒิภาวะมากพอที่จะใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน

ส่วนปัญหาของหลักการซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยมันเพียงพอที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม รัฐธรรมนูญที่ตกเป็นโมฆะในเชิงหลักการในความเห็นส่วนตัวของผม และมีปัญหาที่ร้ายแรงมากไม่ใช่เฉพาะหลักการที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่ปัญหาของการได้มารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เต็มไปด้วยปัญหาขาดความชอบธรรม ฝ่ายที่สนับสนุนก็บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านการทำประชามติ เขาก็บอกว่าประชาชนให้ความเห็นชอบไปแล้ว นักกฎหมายทุกคนทราบดีว่าการแสดงเจตนาของคนมันต้องตั้งอยู่ในฐานของความเป็นอิสระของการแสดงเจตนา นั่นคือเราต้องทราบข้อมูลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และเห็นด้วย และมีสิทธิตัดสินใจ โดยได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน

“เราทราบกันดีว่าใครขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะถูกจับกุมดำเนินคดี เราอยู่ภายใต้สภาวะที่อ้างความสงบเรียบร้อย จึงไม่มีการถกเถียง พูดคุยกัน ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลฝ่ายเดียว เข้าถึงข้อมูลอีกฝั่งที่จำกัดมาก นี่คือปัญหารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีความบกพร่องอย่างร้ายแรงทั้งในแง่ของกระบวนการ และเนื้อหา ความร้ายแรงของปัญหาทำให้รัฐธรรมนูญนี้ตกเป็นโมฆะ แต่ก็ยังไม่มีช่องที่ถูกประกาศว่าเป็นโมฆะ แต่ผมคิดว่าปัญหาที่ร้ายแรงของรัฐธรรมนูญนี้เป็นที่รู้กันคือ เรากำลังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำลังบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญที่ตกเป็นโมฆะเป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรม ทั้งกระบวนการได้มา และเนื้อหานั่นเอง” รศ.ดร.มุนินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image