กัณวีร์ หวัง รธน.ใหม่ ต้องมาจากเสียงปชช.รบ.อย่าหมกเม็ด หรือขัดมติมหาชน

กัณวีร์ หวัง รธน.ใหม่ ต้องมาจากเสียง ปชช. รบ.อย่าหมกเม็ด หรือขัดมติมหาชน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม ร่วมพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ เนื่องในวันพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจําปี 2566 ณ อาคารรัฐสภา

นายกัณวีร์กล่าวว่า วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นอกจากเป็นวันรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็น วันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งมีความสอดคล้องกัน เพราะการกำหนดสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองประชาชน แม้วันสิทธิมนุษยชนสากล มาหลังวันรัฐธรรมนูญไทย ถึง 10 ปี แต่กระบวนการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนได้ล้ำหน้ากว่าประชาธิปไตยในไทยอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะกลไกการเลือกตั้งของไทยที่อาจกลับไปสู่การสืบทอดอำนาจของฝั่งเผด็จการ

“ผลการเลือกตั้งทำให้ผมมองเห็นว่าประชาชนได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ถึงการไม่เอาอำนาจเผด็จการอีกต่อไป กว่า 24.5 ล้านเสียงแสดงความชัดเจนเรื่องนี้ที่เลือกสองพรรคหลักของฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดก่อนมาเป็นผู้แทนและผู้รับใช้ประชาชน ซึ่งทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลได้ ส.ส.รวมกันแล้วถึง 292 คน เกินครึ่งไปถึง 42 ที่นั่ง ผมคิดว่าผมคงวิเคราะห์ผิดไปอย่างมากว่ายังไงคงต้องมีการสืบทอดอำนาจแน่ๆ” นายกัณวีร์กล่าว

Advertisement

นายกัณวีร์กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ช่วงของจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่กำลังเปลี่ยนจากการเมืองเก่าไปสู่การเมืองใหม่ ที่ทางการเมืองเห็นความสำคัญของการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพราะประชาชนได้ตื่นรู้ทางการเมืองอย่างมาก และรวมถึงฝ่ายการเมืองเองตระหนักถึงพลังและความสำคัญของประชาชนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

นายกัณวีร์ระบุว่า ในขณะที่การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอาจดูเหมือนก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และทั้งในรูปแบบของกฎหมาย รวมถึงการผลักดันต่างๆ แต่ปัญหาหลักๆ ของการทำงานด้านสิทธิ นั่นคือประสิทธิภาพการทำงานด้านสิทธินั้นจะถูกลดทอนไปเรื่อยๆ หากระดับของประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ ต่ำเพราะประชาธิปไตยจะถูกละเมิดหากการละเมิดสิทธิต่อเพื่อนมนุษย์มีมาก ดังนั้น ความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นรากเหง้าแห่งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กัน

นายกัณวีร์ย้ำว่า เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากลและวันรัฐธรรมนูญไทยในปี 2566 นี้ ไม่อยากให้ประชาชนผิดหวังกับการเมืองไทย ขอจงยึดมั่นต่อไปกับความสำคัญแห่งประชาธิปไตย ที่มีรากฐานของหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

Advertisement

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกัณวีร์ระบุว่า เป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองพูดไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยความเข้าใจตรงกันว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือฉบับปัจจุบันนี้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผลักดันและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้มีการผลักดันหลายรูปแบบและหลายกลุ่ม อย่างรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติ และอย่างฝ่ายค้านโดยพรรคก้าวไกล ก็พยายามผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ยังไม่ตกผลึกกันว่าจะเป็นรูปแบบใด

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากการฟังเสียงพี่น้องประชาชน มติมหาชนส่วนใหญ่ที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องได้รับความสำคัญ ต้องเป็นส่วนกลางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราไม่ควรหมกเม็ดอีกต่อไป มิฉะนั้น อำนาจจะไม่กลับมาสู่ประชาชน” นายกัณวีร์กล่าวย้ำ รวมถึงการทำประชามติ ที่ให้เกิดการยอมรับ

ส่วนกรณีบางส่วนมีความคาดหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมกับรัฐบาล ในการผลักดันการจัดทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยเร็วนั้น นายกัณวีร์เห็นว่า ความรวดเร็วเป็นสิ่งที่เราต้องการอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ตกหล่นที่ขาดความต้องการของประชาชน ประชามติเป็นสิ่งที่ดี แต่ด้วยกลไกการจัดทำประชามตินั้นมีหลายสูตร หลายสมการ

“การจะทำประชามติมีเรื่องสัดส่วนอยู่ ต้องศึกษาและนำสัดส่วนให้สาธารณะรับทราบว่า หากจัดทำประชามติแล้วไม่แสดงถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ผลกระทบก็จะกลับมาที่ประชาชนเหมือนเดิม ผมว่าน่าจะมีการพูดคุยเร็วๆ นี้ หากก้าวไกลมีข้อเสนออย่างไร ผมยังสนับสนุนก้าวไกล ให้เสนอรัฐบาลด้วย เพื่อบอกว่าสัดส่วนที่คิดอยู่นั้น ผิดตรงไหน และจะเสริมตรงไหน ให้ประชาชนส่วนมากในประเทศไทยมีส่วนร่วมจริงๆ” นายกัณวีร์กล่าว

สำหรับที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น นายกัณวีร์ย้ำว่า ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100% เพราะเป็นพื้นฐานในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา หากไม่มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง ก็แสดงว่าเป็นการเลือกคนมาทำหน้าที่ ส.ส.ร.

“เราไม่สามารถจะให้มีคนส่วนน้อย เลือกคนส่วนน้อย มาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคนส่วนน้อยอีกต่อไป ส.ส.ร. จะเป็นพื้นฐานให้ประชาชนเลือกคนที่มีวุฒิภาวะ คุณวุฒิ คุณสมบัติต่างๆ นานา ที่เป็นตัวแทนประชาชน เสนอมาตราต่างๆ ให้ผลประโยชน์กลับมาสู่ประชาชน เพราะฉะนั้น ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% หรือให้เป็นส่วนมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอาจมีส่วนน้อยเป็นนักวิชาการ ผู้มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ ประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญสมัยก่อน มาช่วยให้คำแนะนำด้านกลไกและทฤษฎีต่างๆ ก็เป็นไปได้” นายกัณวีร์กล่าว และยังอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image