นันทนา ขอ ส.ส.ร. ‘หน้าใหม่’ 18 ก็เป็นได้ ไม่เอาอดีต ส.ว.-ส.ส. เผย 4 หลักการ ‘สารตั้งต้น’

นันทนา ขอ ส.ส.ร. ‘หน้าใหม่’ 18 ก็เป็นได้ ไม่เอาอดีต ส.ว.-ส.ส. เผย 4 หลักการ ‘สารตั้งต้น’

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน โดยมี วิทยากร ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก, นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ, รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ. โครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ดำเนินรายการ

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า บรรยากาศแก้ไข หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือนจะมีเสียงจิ้งหรีด เงียบๆ ชอบกล เคยสังเกตไหมว่ารัฐธรรมนูญถ้าไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยจะอยู่ได้นาน ก็แปลกดี เป็นอาถรรพ์หรืออย่างไรไม่ทราบ รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ค่อยดีจะอยู่นาน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะอยู่แค่แป๊บๆ

91 ปี จาก พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน เรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ถือเป็นประเทศที่ผลิตรัฐธรรมนูญได้เยี่ยม เร็วมาก เฉลี่ย 4 ปีครึ่ง 1 ฉบับ ปั๊มๆๆ ออกมา เวลาจะยกเลิก ถ้าเป็นทหาร ฉีกปั๊บได้เลย แต่ถ้าเป็นประชาชนอยากแก้ อันนี้ลำบาก ยากเย็นเข็ญใจเหลือเกิน

Advertisement

สำหรับ รัฐธรรมนูญ 2560 อยากตั้งฉายาว่าเป็น ‘ฉบับตุ๊กแก’ คือ เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ จนไม่แน่ใจว่าสุดทางจะเป็นอย่างไร เพราะก่อนเลือกตั้งมีการหาเสียงประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่พอหลังเลือกตั้งแค่ตั้งคณะกรรมการทำประชามติก็ใช้เวลาหลายเดือน

รศ.ดร.นันทนากล่าวต่อไปว่า ส.ส.ร. คือ ‘สารตั้งต้น’ หรือที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เรียกว่า ‘กระดุมเม็ดแรก’ ส.ส.ร.สำคัญมาก คนที่มาร่างจะบ่งบอกทิศทางของรัฐธรรมนูญ

Advertisement

หลักการสำคัญที่ควรยึดตั้งแต่ต้น คือ

1.ต้องยึดโยงกับประชาชน นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เราพบว่ามันมาจากผู้มีอำนาจสั่งให้ผลิตออกมา ปั๊มออกมาตามใบสั่ง ประชาชนต้องการอะไร ดูเหมือนสิ่งที่ออกตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น หลักการที่ถูกต้อง คนจะมาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน

2.ต้องเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำโดยอำนาจ เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นมาตามใบสั่ง

3.ประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างมาก

4.การร่างรัฐธรรมนูญควรมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่จะร่างกัน 4 ปี ใกล้ 4 ปี หรือเกิน 4 ปี

ส่วนตัวเริ่มรู้สึกวังเวง หมดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จทันในช่วงชีวิตของตนหรือไม่ เพราะแค่ตั้งคณะกรรมการประชามติก็ใช้เวลา 3 เดือนแล้ว

“เราได้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เชื่อกันถึงปัจจุบันว่าดีที่สุดคือฉบับ 2540 มีการทำประชาพิจารณ์เยอะมากในหลายเรื่อง ออกมาในสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปิดที่งุบงิบร่างกัน หรือรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม คือรัฐธรรมนูญที่ร่างก่อนรัฐประหาร 2490 เตรียมจะรัฐประหาร และเตรียมรัฐธรรมนูญไว้แล้ว พอทำปุ๊บ ล้วงออกมาจากใต้ตุ่มใช้ได้เลย” รศ.ดร.นันทนากล่าว

จากนั้น รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า ส.ส.ร.ควรมีความหลากหลายให้มากที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่บังคับใช้กับทุกคน ไม่ควรมีการกระจุกตัวแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งในการร่าง

“ส่วนอายุมีการพูดกันไปถึงว่า เดิม ส.ส.ร.ต้องอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ดิฉันคิดว่าถ้าเขามีสิทธิเป็น ส.ส.ร.ได้ อายุ 18 ปีก็ได้แล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอายุสูงสุดว่าไม่เกินกี่ปี เพราะบางทีอายุเยอะไปหน่อย ไม่นานต้องเลือกตั้งซ่อม เอาให้มีเพดาน 18-80 ปี อายุเยอะๆ ส่วนใหญ่มาร่างแล้วแสบๆ ทั้งนั้นเลย

ดิฉันคิดว่าคนที่เคยเป็น ส.ส.ร.มาแล้ว หรือเคยเป็น ส.ส.และ ส.ว.มาแล้วไม่เอาดีกว่า เราอยากได้อะไรใหม่ๆ ที่ไปข้างหน้า อยากได้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์กฎหมายสูงสุดให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ อันนี้ถกเถียงกันได้” รศ.ดร.นันทนากล่าว

รศ.ดร.นันทนากล่าวว่า สำหรับจำนวน ตนมองว่าควรอยู่ที่ 150-200 คน โดยเป็น ‘การเลือกตั้งทางตรง’ 150 คน นำเขตจังหวัดหาสัดส่วนกัน ทุกจังหวัดต้องมี 1 คน จังหวัดที่มาก เอาส่วนเกินจาก 76 จังหวัดมาเฉลี่ย ที่เหลือมาจาก ‘การเลือกตั้งทางอ้อม’ คือสายวิชาการ เอ็นจีโอ และวิชาชีพต่างๆ 50 คน โดยให้ตัวแทนประชาชนคือ ส.ส. เป็นผู้เลือก

“ขอเสนอให้มีคณะยกร่างซึ่งทำหน้าที่โดยเฉพาะ คืออาจารย์ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์โดยตรงเป๊ะ 30 คน ไม่รวมใน 200 คน มายกร่าง อยู่ในคณะนี้เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้เรียบเรียง สรุปถ้อยคำ เพราะฉะนั้น ในคณะชุดนี้จะมีประมาณ 230 คน โดย 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ส่วน 30 คนให้ ส.ส.ร. ลงมติเลือก” รศ.ดร.นันทนากล่าว

รศ.ดร. นันทนากล่าวว่า กลุ่ม 200 คน ตนขอเรียกว่า ‘ซุปเปอร์บอร์ด’ ดูการร่างของ 30 คนนี้ คอยให้คำแนะนำแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image