ภูมิธรรม เร่ง กวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้าน ดีอีเอส เผย 3 มาตรการ จัดการเด็ดขาด

ภูมิธรรม เร่ง กวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้าน ดีอีเอส เผย 3 มาตรการ จัดการเด็ดขาด

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 12 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงความคืบหน้าการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายภูมิธรรมกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นย้ำ ให้จัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเนื่องจากเป็นภัยระดับชาติ โดยกระทรวงดีอีเอส จะมีมาตรการในการดำเนินการเรื่องนี้

นายประเสริฐกล่าวเสริมว่า ข้อมูลผู้ที่ร้องทุกข์ ผ่านศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) 1441 ประมาณ 80,000 สาย ภายในเวลาหนึ่งเดือน จึงต้องมีมาตรการที่เข้มข้น โดยหารือกับ กสทช. ตำรวจ ค้นหาผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่าย ต้มตุ๋น หลอกลวง พุ่งไปที่เบอร์โทรศัพท์ที่มีการโทรออกมากผิดปกติ 100 ครั้งต่อวัน ในช่วงเดือน ธ.ค.เป็นเครือข่าย AIS 3,927 สาย ทรู 4,339 สาย ขณะนี้ได้บูรณาการทำงาน เพื่อแก้ปัญหา 3 ด้าน ดังนี้ 1.AOC ตรวจพบเบอร์ต้องสงสัย เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของคอลเซ็นเตอร์ จะส่งไปที่เครือข่ายมือถือ เพื่อระงับเบอร์ดังกล่าว 2.จะมีคำสั่งให้ผู้บริการเครือข่ายมือถือ ตรวจสอบและขยายผลจากเบอร์ที่พบทำความผิดตอนแรกที่โทรเกิน 100 สาย เชื่อมโยงไปเบอร์อื่นอีกหรือไม่ หากพบทำผิดให้ตรวจสอบและระงับทันที และติดต่อไปที่ผู้ใช้เบอร์ดังกล่าวมาแสดงตนพร้อมแสดงหลักฐานการใช้บริการ หากไม่มายืนยันตัวตนภายใน 7 วัน หรือมายืนยันแต่ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้ ให้แจ้งที่ AOC เพื่อตรวจสอบ และให้ผู้ให้บริการเครือข่ายแจ้งให้เครือข่ายอื่นรับทราบเพื่อตรวจสอบด้วย 3.ให้ผู้บริการเครือข่ายมือถือรายงานความคืบหน้าให้ AOC รับทราบรายเดือน หรือตามความเหมาะสม เวลานี้ให้รายงานผู้ที่มีมากกว่า 6 เบอร์ และโทรเกินวันละ 100 สาย ซึ่งผู้ที่ถือมากกว่า 6 เบอร์ต้องมารายงานตัวให้ AOC รับทราบ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะมีมาตรการตรวจสอบข้อมูลที่รั่วไหล ผ่านทางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า เรามีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา หากหน่วยงานใดมีข้อสงสัยว่าข้อมูลจะถูกแฮก ให้ส่งเรื่องมาถึงคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และได้มีการตรวจสอบข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ไปแล้วกว่า 5,000 แห่ง จากทั้งหมด 9,000 แห่ง และยังเรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่มีฐานข้อมูลประชาชนจำนวนมาก เช่น บริษัทประกันภัย มาทำความเข้าใจ พร้อมกับรักษาข้อมูลตามกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เพื่อขยายผลความร่วมมือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image