อุ๊งอิ๊ง เตรียมดัน ‘สงกรานต์’ เทศกาลระดับโลก คาดนโยบาย 1 ครอบครัวกวาดเงิน 4 หมื่นล้าน

อุ๊งอิ๊ง เตรียมดัน ‘สงกรานต์’ เทศกาลระดับโลก คาดนโยบาย 1 ครอบครัวกวาดเงิน 4 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธี เพื่อแสดงจุดยืน วิสัยทัศน์ และพันธสัญญาเชิงนโยบายในการให้ความสำคัญกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการร่วมขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ ในงาน ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ รวมพลคนสร้างสรรค์ เปิดเวทีระดมนักคิด นักการตลาด ดาวรุ่งพุ่งแรง ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ประชุมกับทางภาคเอกชนเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้คือการร่วมมือกับทางภาคเอกชน เพราะรัฐบาลไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง จากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเกี่ยวกับด้าน ภาพยนตร์ เกม อาหาร โดยที่รัฐบาลจะช่วยในการส่งเสริม เป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ และรวบรวมภาคเอกชนผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน ผนึกกำลัง เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์จนเกิดเป็นรายได้เข้าประเทศให้ได้มากที่สุด

“ณ ขณะนี้ เรากำลังติดในเรื่องที่ว่า ซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร ซึ่งการมาหาคำนิยามให้กับซอฟต์เพาเวอร์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด หากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เราหยิบยกคำว่าซอฟต์เพาเวอร์นี้ที่นำมาใช้ในเชิงเศรษฐกิจนั้น จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แต่ละประเทศอย่างไร เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า” น.ส.แพทองธารกล่าว

Advertisement

น.ส.แพทองธารกล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือการเรียนรู้จากอดีต เมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยได้สร้าง TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ), อุทยานการเรียนรู้ TK Park, OTOP 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ,ครัวไทยสู่ครัวโลก และกรุงเทพเมืองแฟชั่น โดยที่ผ่านมาได้มีการมุ่งเน้นไปในเรื่องของการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ ซึ่งทำให้ทราบว่าวิธีการนี้ไม่ได้สร้างความยั่งยืนเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ เราจึงไม่กำหนดอายุ สมาชิกในบ้านอาจจะเป็นลูก หรือคุณพ่อที่ชอบทำอาหารก็เป็นไปได้ เลยทำเรื่อง Ofos ขึ้นมา และก็มีในเรื่องของ thacca ที่ยังเป็น พ.ร.บ.ต่อไป เพื่อพัฒนาเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เพราะเราต้องการให้โอกาสนี้กระจายสู่ทุกคนทั่วทุกพื้นที่

“เบื้องต้นเราจึงต้องมีต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งวงจร จึงจะทำให้ซอฟต์เพาเวอร์มีเสถียรภาพและยั่งยืน เริ่มจากเรื่องอาหาร อาหารไทยเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรู้จัก และง่ายที่สุดต่อการทำความเข้าใจเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ยกตัวอย่างโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟ ซึ่งเราจะใช้ผู้เชี่ยวชาญในภาคเอกชนอย่าง เชฟชุมพล แจ้งไพร เป็นผู้นำในการอบรมเรื่องอาหาร หรือด้านกีฬา ยกตัวอย่างเช่น มวยไทย ที่มีค่ายมวยอยู่ทั่วโลกถึง 40,000 ค่าย แต่สิ่งที่ขาดคือแต่ละค่าย ไม่ได้มีการถูกอบรมในมาตรฐานของมวยไทยอย่างแท้จริง”

Advertisement

“เราจึงมีความพยายามที่จะส่งออกเรื่องนี้ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะฉะนั้นต้นน้ำในที่นี้คือการผลิตคน ถัดมาคือ กลางน้ำ คือการพัฒนาอุตสาหกรรม จะบริการซอฟต์เซอร์วิสในเรื่องของเอกสารมากมายต่างๆ รวมเป็นที่เดียว ที่สำคัญคือจะมีการรื้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ที่ในอดีตเคยถูกจำกัดไว้ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับหลายภาคส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลายด้านยังติดในเรื่องของกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายเรื่องงบประมาณ หรือกฏหมายที่คนไทยผลิตภาพยนตร์ ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เราจะเข้ามาแก้ไขในส่วนนี้ เป็นต้น นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เพื่อให้คนไทยสามารถผลิตผลงานดีๆ ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“ในส่วนของ ปลายน้ำ คือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำมาก เพื่อที่จะผลักดันซอฟต์เพาเวอร์สู่ต่างประเทศ ให้ชาวต่างชาติเห็นเอกลัษณ์ของความเป็นไทย หรือก็คือการสร้างแบรนดิ้งให้กับประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น Water World Festival รัฐบาลจะปักหมุดสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลระดับโลก ในบางพื้นที่มีการจัดเทศกาลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นความคิดที่ดีมากเพราะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง”

“ไม่ใช่เพียงแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทักท่องเที่ยวจากประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลต้องการที่จะร้อยเรียงทั้งหมดในเดือนเมษายนเข้าด้วยกัน เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย ไม่ใช่แค่วันที่ 13-15 เมษายน แต่สามารถเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ได้ทั้งเดือน รัฐบาลจะช่วยประชาสัมพันธ์ว่ามีที่ใดบ้าง ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดกำแพงเพชร เทศกาลสงกรานต์เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-20 เมษายน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลจะผนวกเข้าด้วยกัน ประชาสัมพันธ์เป็นภาพใหญ่ให้ต่างชาติคิดว่า ในชีวิตต้องมาประเทศไทยเพื่อร่วมเทศกาลสงกรานต์ให้ได้”

“สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่เรามีทุกอย่างแบบนี้ แต่เราไม่เคยมีในเรื่องของการร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ไม่มีการเล่าเรื่องว่าส่วนไหนสำคัญ ส่วนไหนอยากจะไฮไลต์ นี่คือสิ่งที่ยังขาดอยู่ เชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีศักยภาพมาก เพียงแต่ขาดการรวบรวม ส่งต่อ และโฆษณา ทั้งหมดนี้ที่รัฐบาลพยายามกำลังทำอยู่ เพื่อที่จะยกระดับรายได้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ในมุมมองของรัฐบาล ซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่เรื่องที่มีหลักสูตรสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้ภายใน 1 หรือ 2 ปี แต่เมื่อเริ่มทำแล้วรัฐบาลจะไม่หยุด”

“แน่นอนเราจะเห็นดอกผลของมันในอนาคตข้างหน้า เพราะฉะนั้นทำแล้ว เราก็จะเริ่มทำมันให้ชัดเจนขึ้น เพราะเราก็มั่นใจมาก จิ๊กซอว์ที่หายไปของซอฟต์เพาเวอร์ คือเยาวชน ก็อยากจะผลักดันเรื่องนี้ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างที่บอกไปใน Ofos เราไม่มีกำหนดในเรื่องของอายุ แต่แน่นอนเรายังอยากทำในเรื่องของเยาวชนด้วย เพราะเยาวชนคือกำลังสำคัญของประเทศ” น.ส.แพทองธารกล่าว

น.ส.แพทองธารระบุว่า ความหวังในเรื่องของรายได้ต่อนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ คือ 40,000 ล้านบาท และในส่วนของงบประมาณปี 2567 ที่อาจจะมีความล่าช้านั้นไม่ได้มีความกังวลว่าจะกระทบต่อการดำเนินการเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ และในขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่โดยไม่ต้องผ่านเรื่องงบประมาณ และคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ซึ่งไม่ได้มีการตั้งงบใหม่ขึ้นมา แต่จะมีการนำงบจากกระทรวงต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว กระจายและนำมารวมกัน หรือหากงบประมาณแล้วเสร็จทันเวลาก็สามารถดำเนินการต่อได้เลย ไม่มีติดขัดอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image