ครม. ยื่นแก้ร่างรธน.เพิ่มช่วงเฉพาะกิจ-เฉพาะกาล ใช้อำนาจพิเศษคุมเปลี่ยนผ่าน

แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แจกเอกสาร ข้อเสนอและความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของครม.ตามที่หนังสือ นร. 0404/1625 ลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นองนายกฯ รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายเลขานุการประธานกรธ.ได้รับเรื่อง เลขรับ110/59 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลา 16.21 น. โดยมีรายละเอียดจำนวน 7 หน้า 16 ประเด็น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่รวบรวมมาจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงกลาโหมและรองนายกฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
มีรายละเอียด อาทิ ข้อ 4 ในมาตรา 48 กระทรวงกลาโหมและรองนายกฯหลายท่านได้แสดงความเห็นมาว่า มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2550 น่าจะมีความเหมาะสมกว่า และควรแก้ไขใหม่ให้ครอบคลุมภารกิจที่ต้องใช้การทหาร โดยเปลี่ยนเป็น รัฐต้องจัดให้มีการทหารมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อแสดงว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ

มาตรา 139 วรรคสอง ที่เกี่ยวกับในกรณีที่ส.ส. ส.ว.และกมธ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้ ซึ่งร่างของกรธ.ยังขาดความชัดเจนเพียงพอในการใช้บังคับ เพราะหากตีความเคร่งครัด ส.ส. ส.ว.และกมธ.ฯย่อมไม่สามารถเข้ามามีส่วนในการใช้งบประมาณไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมได้เลย รวมทั้งมาตรา 139วรรคสาม ที่บัญญัติความรับผิดของครม.กรณีมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติฝนวรรคสอง ”กรณีที่ครม.เป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการ” ให้ครม.พ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นหากมีการตีความการมีส่วนร่วมทางตรงหรือทางอ้อมการใช้งบฯ ครม.แต่ละคนซึ่งมีสถานะเป็นส.ส.จะไม่สามารถเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายได้เลยให้แก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการงบประมาณได้

มาตรา 190 เสนอให้คดีทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องพิจารณาในศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่ควรจัดให้มีศาลเดียว ควรแก้ให้การอุทธรณ์เป็นสิทธิในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อเป็นระบบสองศาล ครม.ยังไม่เห็นด้วยกับการแยกศาลรัฐธรรมนูญออกมาไว้ในหมวด 11 ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แม้จะมีเหตุผลอยู่แต่ก็ไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอ ตรงกันข้ามอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่าไปเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งก่อให้เกิดการโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นศาลตามหมวด 10 และมาตรา 3 ในบททั่วไปที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา ครม.และศาลหรือไม่ และควรแก้ไขเรื่องอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากไม่เกิน 75 ปีให้กลับมาเป็นไม่เกิน 70 ปีดังเดิม

มาตรา 268 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอความเห็นว่า การกำหนดให้นำลำดับอาวุโสในการแต่งตั้งโยกย้ายให้กำหนดให้ใช้ลำดับอาวุโสเห็นเพียงเป็นมิติหนึ่งของตำรวจและการปฏิรูปควรทำทั้งระบบ และจะขัดกับหลักการกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ เพราะอาจต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ สมรรถนะสุขภาพและอื่นๆ โดยอ้างคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อ. 542/2557ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2557 การแต่งตั้งไม่อาจใช้หลักอาวุโสอย่างเดียว ขณะเดียวกันครม.เห็นด้วยกับการปฏิรูปให้แยกออกมาเป็นการเฉพาะและอาจระบุหัวข้อที่ควรปฏิรูปและองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ ครม.ยังเสนอความเห็นต่อว่า ควรกำหนดบทเฉพาะกาลกำหนดการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับโรดแมปของคสช.คือภายในปี 2560 เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป และเห็นว่ากรณีที่ให้กรธ.จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นรวม 10 ฉบับเห็นว่าจะทำให้การเลือกตั้งช้าออกไป โดยเสนอให้กรธ.ทำเฉพาะกฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งและการจัดการให้มีส.ว.จนแล้วเสร็จ

Advertisement

ข้อเสนอสุดท้ายของครม. มองว่าขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก เป็นความไม่วางใจและไม่แน่ใจในระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ อาจทำให้บ้านเมืองเกิดความโกลาหล ขัดแย้งและไม่สงบเรียบร้อย เข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลวดังเช่น ก่อนพฤษภาคม 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาทิ ปัญหาการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และคุณธรรมของคนในชาติ ประเทสตกอยู่วังวันแห่งการสู้รบและปัญหาอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศสะดุดล้มเหลว ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ และความเป็นความตายของประเทศ ครม.จึงเห็นว่า หากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงคือช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนาน โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งส.ส.ในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงที่จะใช้รัฐธรรมนูญในระยะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆลงให้มาก ดังนี้น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image