เปิดแพคเกจ รบ.เศรษฐา แก้หนี้ทั้งระบบ หยุดค้าทาสยุคใหม่

เปิดแพคเกจ รบ.เศรษฐา แก้หนี้ทั้งระบบ หยุดค้าทาสยุคใหม่

หมายเหตุ – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศคิกออฟแก้หนี้ทั้งระบบ เริ่มจากการเปิดลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบ ชักชวนทุกฝ่ายให้ช่วยกัน “ยุติการค้าทาสยุคใหม่” แล้วตามด้วยการแบ่งกลุ่มเพื่อแก้ไขหนี้ในระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ “มติชน” ได้รวบรวมกระบวนการแก้ไขหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมานำเสนออีกครั้ง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับลูกหนี้ใช้เป็นคู่มือในการคลายความทุกข์จากหนี้สินที่เป็นอยู่

การแก้หนี้ทั้งระบบ

⦁การแก้หนี้นอกระบบ
1.ขั้นตอนการลงทะเบียน ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนได้ 5 ช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567
(1) เว็บ debt.dopa.go.th
(2) App ThaiID
(3) สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567
(4) ที่ว่าการอำเภอ
(5) สำนักงานเขตทุกแห่งใน กทม.

2.ขั้นตอนการไกล่เกลี่ย
-กระทรวงมหาดไทย ใช้กลไกการทำงานที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ถึงผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการไกล่เกลี่ย
-ประชาชนที่ประสบปัญหาหรือต้องการเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นในระบบ เพื่อลดภาระการผ่อนชำระให้น้อยลง สามารถลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางและที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่ง
-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมาย สืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ
-กำหนดแผนปฏิบัติตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย โดยสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 เอกซเรย์พื้นที่และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้
-ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ มีสายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ

Advertisement

3.ขั้นตอนปรับโครงสร้างหนี้
-กระทรวงการคลังช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard) และมีมาตรการต่างๆ รองรับเพิ่มเติม ได้แก่
-ธ.ออมสิน มีโครงการให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี และโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย
-ธ.ก.ส.มีโครงการรองรับที่ดินติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท
-ผู้ประกอบการให้กู้ยืมเงินที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย สามารถขออนุญาตตั้งพิโกไฟแนนซ์ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

⦁การแก้หนี้ในระบบ
1.แบ่งลูกหนี้ในระบบ 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง
กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้าง เป็นระยะเวลานาน

2.การช่วยเหลือ
กลุ่ม 1 กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว
ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่ง ติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ คาดว่าจะช่วยเหลือได้ประมาณ 1.1 ล้านราย
ลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปีคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้จำนวนกว่า 100,000 ราย

Advertisement

กลุ่ม 2 กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ-ครู-ตำรวจ-ทหาร
สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ อาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่
1.กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และ 2.กลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต
กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน
แนวทางแรก คือ การลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
แนวทางที่สอง คือ ต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้
แนวทางที่สาม คือ บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

สำหรับกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิตแนะนำให้ร่วมคลินิกแก้หนี้ มีวิธีการดังนี้
-แก้ไขหนี้บัตรเครดิตตามโครงการของธนาคารออมสิน นั่นคือ โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ
นั่นคือกำหนดให้โอนหนี้มารวมไว้ที่สหกรณ์ แล้วให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษให้ลูกหนี้ ช่วยลดภาระให้ลูกหนี้
-กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบกำหนดให้ครูต้องมีเงินเดือนเหลือจ่ายอย่างน้อยร้อยละ 30 หลังจากตัดจ่ายหนี้ไปแล้ว ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการกำชับและผลักดันใช้ระเบียบนี้อย่างทั่วถึง และขอให้กระทรวงอื่นๆ ที่มีระเบียบหลักเกณฑ์ลักษณะเดียวกัน ช่วยแบ่งเบาภาระให้ข้าราชการในสังกัด
-ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเป็นหนี้เสีย สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้
-นำเงินต้นคงค้าง มาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ย จากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น
-ปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ให้ง่ายและยืดหยุ่นขึ้น เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยผู้มีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ผ่าน เว็บไซต์ “debtclinicbysam.com”

กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลงเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

ตัวอย่างของลูกหนี้กลุ่มนี้
เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน รัฐบาลได้พักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย
ลูกหนี้ กยศ. ซึ่งบางส่วนไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ กยศ. หลังจากจบการศึกษา กยศ.ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ดังกล่าว รวมถึงการลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน มาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ กยศ.ได้กว่า 2.3 ล้านราย
ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น ในกรณีเช่าซื้อรถใหม่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี และกรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลง รวมทั้งให้ส่วนลดหากลูกหนี้สามารถปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด

กลุ่มที่ 4 ลูกหนี้คงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมานาน
กลุ่มนี้จะโอนหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น
คาดว่ามาตรการนี้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

⦁แก้ไขปัญหาระยะยาว ยกระดับการให้สินเชื่อ
กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแนวทางยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้มากขึ้น เป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image