‘ไอติม’ มั่นใจคุ้มค่า หมดข้ออ้าง! ‘ประชามติ 3 รอบ’ 1+2 คำถาม หยุดวงจรเถียงกันไม่จบ

‘ไอติม’ มั่นใจคุ้มค่า แถมหมดข้ออ้าง! ดัน ‘ประชามติ’ 3 รอบ 1+2 คำถาม หยุดวงจรเถียงกันไม่จบ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ถนนดินสอ เขตพระนคร เครือข่ายสมัชชาคนจน จัดงาน “เบิกฟ้ารัฐธรรมนูญใหม่”

เวลา 17.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงานวันที่ 2 มีการแสดงดนตรีโดย วงสามัญชน ขณะที่ประชาชนต่างแวะเวียนมาเลือกซื้อสินค้าภายในโซน “ตลาดบ้าน-ป่า” อย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จากโครงการพัฒนาและรัฐธรรมนูญ มาร่วมจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านมากกว่า 30 บูธ อาทิ ผักและผลไม้ตามฤดูกาล อาหารสด ไปจนถึงสินค้าแปรรูป พร้อมเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยภาคส่วนต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญคนจน” บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเครือข่ายที่ร่วมรณรงค์ ให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของคนจน คนรากหญ้า

ต่อมาเวลา 18.00 น. ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมเสวนาในเวที “เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ได้แก่ นายนิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล, ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ และนายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ดำเนินรายการโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

Advertisement

 

เมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งที่ก้าวไกลคิดว่าเป็นปัญหา และอยากให้เกิดขึ้นในกระบวนการจัดทำประชามติรอบนี้?

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายพริษฐ์ หรือไอติม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถึงแม้ก้าวไกลไม่มีตัวแทนในคณะกรรมการศึกษาประชามติฯ แต่เราก็ให้ความร่วมมือ พูดคุยเสนอความเห็นกับคณะกรรมการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความเห็นของเราก็น่าจะเป็นที่รับรู้ของคณะกรรมการ พรรคก้าวไกลเรามองว่า รัฐธรรมนูญ’60 มีปัญหาทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ถูกขีดเขียนโดยไม่กี่คน กระบวนการมีการอ้างประชามติ 2559 แต่ไม่เป็นธรรมตามประชาธิปไตยสากล คนที่ออกมาคัดค้านถูกดำเนินคดี คำถามพ่วงก็ถูกเขียนไม่ตรงไปตรงมา ซับซ้อน และชี้นำโดยเจตนา

ในส่วนของเนื้อหา มีหลายมาตรา หลายส่วน ที่อาจบกพร่องและถดถอยเชิงประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับฉบับก่อนหน้า ทั้งโจทย์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือโจทย์ออกแบบสถาบันทางการเมืองต่างๆ ให้ชอบธรรม และตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพ เราเลยมองเป้าหมายว่า แก้ไขรายมาตราไม่เพียงพอ แต่ต้องจัดทำฉบับใหม่

“ฉบับใหม่ไม่พอ ถ้าเนื้อหาเหมือนฉบับ 2560 ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่การเมืองไทยเผชิญอยู่ได้ แต่ต้องเป็นฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่ต้องย้ำเพราะถ้าเราตั้งเป้าแค่ต้องฉบับใหม่ โดยไม่ได้สนใจเนื้อหา เราอาจจะได้ฉบับใหม่ก็จริง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น เราต้องตั้งหลักใหม่ พอเราตั้งเป้าแบบนั้น กระบวนการถึงมีความสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อเนื้อหาว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าออกแบบโดยไม่กี่คน ก็มีโอกาสสูงที่ถูกเขียนเพื่อพยายามสืบทอดอำนาจทางการเมือง และกีดกันอีกฝ่าย

แต่ถ้าเปิดกว้างประชาชน ทุกชุดความคิด 60 กว่าล้านคนมีส่วนร่วม เช่น ผ่านกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็เพิ่มโอกาสให้รัฐธรรมนูญใหม่ สะท้อนชุดความคิดที่แตกต่างหลากหลายในสังคม และออกมาเป็นฉันทามติของสังคมที่แท้จริง” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำ ฟังผิวเผินอาจเป็นเรื่องเทคนิคซับซ้อน แต่มีรายละเอียดที่สำคัญมาก เพราะจะส่งผลกระทบว่าฉบับใหม่จะออกมาหน้าตาอย่างไร ชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งถ้าถามว่า แล้วกระบวนการจัดทำฉบับใหม่ในมุมของพรรคควรเป็นอย่างไร จุดยืนเราชัดเจนมาตลอดคือ ‘ทำใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. 100%’ เพราะมีความชอบธรรมและตรงไปตรงมาที่สุด แต่เข้าใจว่ามีบางกลุ่มที่จุดยืนต่างจากเราไปบ้าง

“ดังนั้น โจทย์ของก้าวไกลคือ เราจะออกแบบกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ 3 ข้อนี้ คือ 1.ทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่เร็วที่สุด 2.เป็นฉบับใหม่ที่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย 3.ต้องเป็นกระบวนการที่โอบรับจุดยืนที่แตกต่างของแต่ละฝ่าย

ดังนั้น ข้อเสนอในเชิงกระบวนการที่ก้าวไกลเสนอมี 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.ต้องมีประชามติกี่ครั้ง หากเราจะเดินตามกฎหมายที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่พูดถึงกันในปัจจุบัน ต้องมีการจัดประชามติอย่างน้อย 2 ครั้งเป็นไฟต์บังคับ ซึ่งต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไปเพิ่มหมวดเกี่ยวกับ ส.ส.ร.และต้องผ่าน 3 วาระของรัฐสภา” นายพริษฐ์ชี้

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ข้อถกเถียงที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ ‘จะต้องมีการทำประชามติเพิ่มอีกครั้งไหม’ ทำตอนเริ่มต้นเลย ที่ตนเรียกว่าประชามติ A ซึ่งจุดยืนก้าวไกล เรายืนยันว่าไม่มีความจำเป็นทางกฎหมาย แค่ B (ก่อนมี ส.ส.ร.) กับ C (หลังมี ส.ส.ร.) ก็พอแล้ว แต่เรามองว่าการทำประชามติรอบแรกมีประโยชน์ทางการเมือง ในการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างใน 2 มิติ

โดยมิติที่ 1 คือ ต่างที่การตีความกฎหมาย ซึ่งรัฐสภาซีกนึงมองว่า ควรทำแค่ 1 ครั้งแบบก้าวไกล แต่บางคนโดยเฉพาะ ส.ว.ไปตีความคำวินิจฉัยอีกแบบว่าต้องทำ 3 ครั้ง ซึ่งถ้าเรายืนยันจะไม่ได้รับเสียงหนุนจาก ส.ว. เจอทางตัน เพราะคนกลุ่มนี้จะหยิบยกคำวินิจฉัยมาอ้าง แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรายอมทำเพิ่มอีก 1 ครั้ง แม้ไม่จำเป็นทางกฎหมาย แต่ถ้าประชาชนบอกว่า “ควรมีการจัดทำฉบับใหม่หรือไม่” ถ้าทำแบบนั้นแล้วประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ เสียงของประชาชนตรงนี้น่าจะมีประโยชน์มากในการไปยันในรัฐสภา ว่าสมาชิกทุกคนต้องโหวตตามเสียงของประชาชน ผ่านการทำประชามติ คนที่ยกข้ออ้างประชามติ 3 ครั้ง ก็จะหมดข้ออ้าง

“ประโยชน์ที่ 1 คือแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2.คือแก้ไขความเห็นที่แตกต่างเชิงจุดยืนการเมือง ถ้าเราไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ต่างฝ่ายต่างยื่นร่างฯ แล้วไปเถียงกัน แต่ความท้าทายคือ ไม่ได้พึ่งแค่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนว่า ร่างใดที่จะผ่านสภาได้ ต้องได้ไฟเขียวจากทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ดังนั้น ถ้าไม่หาวิธีแก้ไขในรายละเอียดจะรัฐสภาจะเถียงไม่จบ

เราจึงมองว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรที่จะเถียงไม่จบ ดึงมาถามในประชามติรอบแรกเลย ประชาชนเห็นแบบไหนเดินแบบนั้น ต้องน้อมรับ” นายพริษฐ์ระบุ

จากนั้น นายพริษฐ์กล่าวถึงข้อเสนอแนะในความเห็นของก้าวไกลว่า 1.ถ้าเชิงกฎหมายจำเป็นแค่ 2 ครั้ง แต่ถ้าจะเพิ่มอีก 1 ครั้งก็มีประโยชน์เชิงการเมือง 2.ถ้าจะออกแบบประชามติเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง คำถามควรจะเป็นอย่างไร

“เห็นตรงกันว่าคำถามควรจะเรียบง่าย แต่ในมุมก้าวไกล ถามคำถามที่เรียบง่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำถามเดียว ข้อเสนอของเราจึงเป็น 1+2 คำถาม แยกเป็น 1 คำถามหลัก 2 คำถามรอง ในส่วนของคำถามหลัก ควรเรียบง่ายและกว้าง เช่น ‘เห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการจัดทำฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร’ ในทางกลับกัน การถามคำถามที่มีเงื่อนไขเยอะ เช่น ‘เห็นด้วยหรือไม่ให้การจัดทำฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ล็อกหมวด…’ คนที่อาจเห็นด้วยกับการทำฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม เขาจะลำบากใจมากว่าจะลงคะแนนอย่างไร แล้วถ้าเกิดเขาไปลงมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ เพียงเพราะไม่เห็นชอบกับบางเงื่อนไข เสียงของเขาจะถูกนับรวมกับคนที่ไม่อยากจัดทำฉบับใหม่ โอกาสที่จะมีฉบับใหม่ยากขึ้น

แต่ยังไม่พอ เราจึงมองว่าอะไรที่จะเป็นปัญหาในอนาคต ดึงมาเป็น 2 คำถามรอง ข้อที่ 1 คือเห็นชอบหรือไม่ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 2.เห็นด้วยหรือไม่ว่า ส.ส.ร.ควรมีอำนาจพิจารณาทุกหมวด ตราบใดที่ไม่กระทบรูปแบบรัฐ การปกครอง เพราะบางคนเห็นต่างว่าควรจะล็อกหมวด 1-2” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า ดังนั้น ข้อเสนอของก้าวไกลคือ ‘ทำประชามติเพิ่มอีกครั้ง’ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และเป็น 1 คำถามหลัก + 2 คำถามรอง

เมื่อถามย้ำว่าเอาประชามติครั้งที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวจัดการความเห็นที่ต่างในหมู่สมาชิกรัฐสภาให้จบก่อน ใช่หรือไม่?

นายพริษฐ์กล่าวว่า ใช่ เพราะถ้าไปดูคำแถลงนโยบายของนายกฯเรื่องรัฐธรรมนูญ เขียนด้วยซ้ำว่าเพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่าง ในการใช้กลไกที่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าถ้าเพิ่มอีก 1 รอบ หลายคนอาจมองว่าเพิ่มขั้นตอนและงบประมาณ แต่หากตอบโจทย์การเมืองแบบนี้น่าจะคุ้มค่า

“ความจริงเราเคยเสนอว่าประชามติรอบแรกจะประหยัดงบได้ควรจัดพร้อมเลือกตั้ง ส.ส.เลย แต่ข้อเสนอนี้ตกไป การเพิ่มประชามติอีกครั้ง บวก ลบ คูณ หาร แล้วน่าจะคุ้มค่าหากออกแบบคำถามที่เป็นประโยชน์ ในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ที่อาจจะหาข้อยุติยากผ่านกลไกอื่นที่ไม่ใช่ประชามติ” นายพริษฐ์ชี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image