มุมมองนักวิชาการ ภารกิจ‘รบ.ไทย’ พาตัวประกันกลับบ้าน

มุมมองนักวิชาการ ภารกิจ‘รบ.ไทย’ พาตัวประกันกลับบ้าน

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีบทบาทของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 เดือนนับตั้งแต่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิธีการที่รัฐบาลช่วยเหลือตัวประกันแรงงานไทยช่วงสงครามอิสราเอล-ฮามาส เรามีบทบาทและท่าทีของไทยท่ามกลางความขัดแย้งในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีข้อดีในการแสดงจุดยืนจากการพยายามใช้ทุกช่องทางในการช่วยเหลือตัวประกันบนเงื่อนไขสำคัญที่ผ่านมา

Advertisement

ช่วงเวลาที่อิสราเอลกับฮามาสเจรจากันเพื่อกำหนดช่วงระยะเวลาหยุดยิงชั่วคราว สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยหากไทยไปเลือกข้างใดข้างหนึ่งมากจนเกินไป เมื่อถึงเวลาเจรจาหยุดยิงจะมีการอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือตัวประกัน จะสร้างความลำบากให้กับไทยเยอะพอสมควรทีเดียว

กรณีการช่วยเหลือครั้งก่อนที่มีการปล่อยตัวคนไทยออกมาจำนวนมาก กลไกสำคัญอันหนึ่งที่สำคัญคือ เราพยายามสื่อว่าเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งในสงครามครั้งนี้ ถ้าสังเกตบนพื้นที่การสู้รบตอนแรก มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานภาคเกษตรกรรมกันเยอะ

ฉะนั้น ยุทธศาสตร์การช่วยเหลือแรงงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมากจากการพยายามเน้นย้ำจุดยืนเดิมว่า เราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง สร้างความน่าเชื่อถือผ่านช่องทางที่สื่อสารกับฮามาสโดยตรง เป็นสิ่งที่ทำให้เขายินยอมปล่อยตัวแรงงาน อาศัยช่วงระยะเวลาฮามาสกับอิสราเอลหยุดยิงชั่วคราว เป็นช่วงที่ได้เปรียบและเกิดประโยชน์ที่สุด

Advertisement

อีกทั้งการพยายามที่ประเทศไทยจะเข้าไปเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์ในสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เราเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง แต่ในแวดวงระดับนานาชาติไทยจะต้องสนับสนุนให้มีการเจรจาหยุดยิงอย่างชัดเจน จากการแสดงให้นานาชาติ เห็นถึงการส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเขตพื้นที่

เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทย มันจะแสดงให้เห็นว่าเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส และพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในช่วงสถานการณ์วิกฤตอย่างนี้

รวมถึงคนไทยไปทำงานบนพื้นที่ขัดแย้ง เราเป็นผู้ที่ได้รับความเสี่ยงสูง ฉะนั้น การสร้างภาพลักษณ์ให้เราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และต้องสร้างภาพลักษณ์ขึ้นไปอีกว่าเราคือคนที่เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ช่วยเหลือประชาชนปาเลสไตน์ หรือคนอิสราเอล ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามด้วย วิธีนี้จึงเป็นกลไกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สำคัญ

สิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำเองได้ เช่น เมื่อมีสงครามที่ผ่านมา แพทย์ของไทยได้รับการยอมรับสูง ในอนาคตถ้าเราจะส่งแพทย์ไปช่วยเหลือด้านสุขภาพร่วมกับสหประชาชาติ จะมีบทบาทไปมากกว่านี้ ประเทศไทยก็สมควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่มีข้อพึงระวังที่เราเห็นจากการช่วยเหลือตัวประกันครั้งล่าสุด พบว่าบางทีวิธีการช่วยเหลือตัวประกันเป็นการแข่งขันและการสร้างความน่าเชื่อถือต่อกลุ่มฮามาสกับรัฐบาลอิสราเอล เช่น กรณีคนไทยที่อยู่ในโรงพยาบาลอิสราเอลได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายประชาชนเครือข่ายชีอะห์จนได้รับการช่วยเหลือส่งตัวกลับประเทศ แต่มีการสวมใส่เสื้อที่มีธงชาติอิสราเอลมาถึงสนามบิน จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นต่อการวางท่าทีฉะนั้น รัฐบาลต้องระมัดระวังเรื่องการวางท่าทีเพราะมีผลอย่างชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือตัวประกันไทย

รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยมีสิ่งต้องคำนึงเพิ่มเติมสำหรับหน่วยงานต่างๆ คือคนไทยไม่ยอมกลับ หรือคนไทยกลับมาแล้วพยายามกลับเข้าไปในเขตพื้นที่ความขัดแย้งอีกครั้ง ประเด็นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐไทยควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เราก็จะเห็นว่ามีความพยายามจะบอกว่า ถ้าเราไม่ออกจากพื้นที่ความขัดแย้งสงครามก็จะมีโอกาสลุกลามรุนแรงขึ้น แต่ภาคประชาชนจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ตระหนักถึงสิ่งที่รัฐบาลพูดถึง

ทั้งนี้ ต้องมีการเพิ่มการชดใช้ เช่น เรื่องหนี้สินถ้าแรงงานกู้ยืมหนี้สินเพื่อไปทำงาน เมื่อกลับเข้ามาแล้วเขาสามารถมีตัวเลือก ไปทำงานประเทศอื่นเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ต้องเสริมเข้ามาในการทำงานของกรมการจัดหางาน รวมถึงการประสานผ่านตัวแทนของภาครัฐต่างๆ กับประเทศอื่นเพิ่มเติม เช่น กาตาร์ หรือประเทศมหาอำนาจอื่นๆ พร้อมใช้ช่องทางของการประสานงานผ่านตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ก็ถือว่าเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่สำคัญ

สามารถผนึกการทำร่วมกับเครือข่ายพี่น้องชาวมุสลิม เขาสามารถเข้าไปพูดคุยกับฝ่ายฮามาสหรือการคุยกับภาคประชาชนของปาเลสไตน์ได้โดยตรง เป็นกลไกที่มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสร้างความเชื่อมั่นเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือตัวประกัน อาจจะไม่ใช่แค่รัฐ แต่รวมไปถึงพี่น้องชีอะห์ก็เป็นส่วนหนึ่ง สามารถสื่อสารกับประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรงจากการมีสายสัมพันธ์พิเศษกับรัฐบาลอิหร่าน เป็นประเทศส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับการรบครั้งนี้โดยตรง

ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องใช้ทุกช่องทาง ทุกตัวแสดง ทั้งเครือข่ายของรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือภาคประชาชน ไม่ได้มีบทบาทน้อยไปกว่าของรัฐ เราเรียกลักษณะนี้ว่า ทีมไทยแลนด์ ในการให้ความช่วยเหลือตัวประกัน มันเป็นการทำงานเป็นทีมไทยแลนด์ร่วมกัน เพราะปัจจุบันเกิดการทำสงครามทางการข่าวของอิสราเอลกับฮามาสมีสูงมาก

ประเทศไทยต้องไม่ตกเป็นเหยื่อถูกโจมตีทางการข่าวของคู่ขัดแย้งในครั้งนี้ ฉะนั้น การร่วมมือของทีมไทยแลนด์จึงมีความสำคัญ

ร.อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ
สถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต

ถือว่ากระทรวงการต่างประเทศทำงานได้ดีทั้งในแนวนโยบายและการช่วยเหลือตัวประกัน กล่าวคือ ไทยต้องบาลานซ์ทั้ง 2 ฝั่ง การเชื่อมโยงความสัมพันธ์เป็นโจทย์ที่ยากมากๆ แต่ก็ต้องรับมือกับสถานการณ์ต่อไป เท่าที่ศึกษายุทธศาสตร์ของรัฐบาลในครั้งนี้ ที่มีการเจรจาพูดคุย หารือความช่วยเหลือ เป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดผลดี ทำให้เราสามารถช่วยเหลือตัวประกันได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย เพราะเราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ต้องเน้นผลประโยชน์ของชาติ นั่นก็คือคนไทยเป็นสำคัญ

สำหรับการสื่อสารของรัฐบาลเองจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาจากช่วงแรก มีการแถลงข่าวชัดเจนมากขึ้น ช่วงแรกๆ ของเหตุการณ์ เนื่องจากเป็นสถานการณ์แรก เกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี เมื่อกระบวนการดำเนินการเดินไปได้จะพบว่ามีการสื่อสารที่มีคุณภาพมากขึ้น

หลังจากแรงงานไทยกลับมาแล้วสิ่งสำคัญคือการเยียวยา เพราะบางคนอาจจะสูญเสียงานหรือได้รับบาดเจ็บ ในฐานะเป็นคนกลางเชื่อว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะรูปแบบเงินเยียวยา รูปแบบการสร้างระบบงาน แรงงานเหล่านั้นได้อยู่ในระบบงาน ก็ต้องให้เวลารัฐบาลเพราะเรื่องเพิ่งเกิดขึ้น ถ้าให้เวลาอีกสักนิดน่าจะได้เห็นอะไรที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีก

บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ในแง่ของการสมดุลระหว่างประเทศต่างๆ ทำมาถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นบทเรียนเชิงบวก สามารถศึกษาและต่อยอดพัฒนาให้ดีขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image