ยิ่งชีพ สงสัย คดีมาตรา112 ไม่อนุญาตเปลี่ยนคำให้การต่อสู้คดี

ยิ่งชีพ สงสัย คดีมาตรา112 ไม่อนุญาตเปลี่ยนคำให้การต่อสู้คดี

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีนบุรี ระบุว่า สัปดาห์ก่อนไปร่วมฟังคำพิพากษาคดี ม.112 ที่ศาลมีนบุรี แล้วก็พบปรากฏการณ์ที่ไม่อาจอธิบายได้ ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก แล้วก็ยังงงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ แค่จะพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้เองยังยากเลย

คดีนี้จำเลยไม่อยากเปิดเผยชื่อจริง เราเรียกเขาว่า “วุฒิ” อายุ 52 ปี เป็นคนเพชรบูรณ์ที่มาทำงานเป็นช่างในนิคมอุตสาหกรรม เขาถูกตั้งข้อหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นรัชกาลที่ 10 รวม 12 ข้อความ ซึ่งเยอะมาก

มาตรา 112 มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี ถ้าโหดที่สุดคือเขาจะติดคุก 12×15=180 ปี แต่นั่นก็โหดไป เพราะในทางปฏิบัติศาลไม่ได้ลงโทษเยอะขนาดนั้น หลังๆ ศาลจะพยายามลงโทษ “น้อยที่สุด” เท่าที่เป็นไปได้ คือ กรรมละ 3 ปี ทำให้ “วุฒิ” มีโอกาสสูงที่จะติดคุก 3×12=36 ปี

Advertisement

แต่เขาปฏิเสธ “วุฒิ” ปฏิเสธตั้งแต่ชั้นต้น และเมื่อขึ้นศาลเขาปฏิเสธในชั้นศาลอีกครั้ง บอกว่าเฟซบุ๊กเขาโดนแฮก โดยมีพยานบุคคลเป็นเพื่อน เพราะมีเพื่อนเคยรับสายแปลกๆ จากใครไม่รู้ที่ใช้เฟซบุ๊กของเขาโทรหา แต่ไม่มีหลักฐานอะไรเป็นเอกสาร เพราะเขาเคยเดินไปแจ้งตำรวจในนิคมอุตสาหกรรมแล้วแต่ตำรวจไม่รับแจ้ง ก็เลยกลับบ้านไปในวันนั้น “วุฒิ” เตรียมตัวกับทนายความ และเตรียมพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ไว้แล้ว ที่จะมาต่อสู้คดีในชั้นศาล

เดือนพฤศจิกายน ศาลนัดสืบพยาน “วุฒิ” เตรียมพร้อมสู้คดี แต่ผู้พิพากษาที่ขึ้นบัลลังก์ก็มีเมตตา ผู้พิพากษาท่านนั้นพยายามบอกว่า เข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง เห็นใจจำเลย และจะพิจารณา “รอลงอาญา” ให้ถ้าจำเลยรับสารภาพ สิ่งที่ผู้พิพากษาพูดไม่ปรากฏเป็นหลักฐานในเอกสาร เป็นแค่การแอบๆ บอกกันเท่านั้น

หลังปรึกษากับทนายความแล้ว “วุฒิ” เห็นตามหลักที่พูดต่อๆ กันในคุกว่า “สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน” เขาไม่ใช่นักเคลื่อนไหว ไม่ใช่นักต่อสู้ทางการเมืองที่จะต้องพิสูจน์อะไรมากมาย ถ้ารับสารภาพแล้วจะได้รอลงอาญา กลับบ้านไปใช้ชีวิต ก็ดีกว่าจะต้องมาเสี่ยงลุ้นว่าจะพิสูจน์เรื่องแฮกเฟซบุ๊กได้สำเร็จหรือไม่

Advertisement

เดือนพฤศจิกายน 2566 “วุฒิ” เปลี่ยนคำให้การจากเดิมที่ปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ศาลนัดฟังคำพิพากษา โดยครอบครัวของ “วุฒิ” ก็เดินทางมากันเต็ม หอบเสื้อผ้า หอบกระเป๋ามา ตั้งใจมารับกลับบ้าน เราไม่เคยรู้จักอะไรกันมาก่อน ผมเจอเขาครั้งแรกก็แค่ทักทาย เขายิ้มแย้มเตรียมตัวเตรียมใจว่า วันนี้จะได้กลับบ้าน

กลิ่นเริ่มไม่ดี เมื่อศาลไม่ยอมขึ้นบัลลังก์สักที ค่อยๆ พิจารณาคดีอื่นและให้คนอื่นกลับบ้านไปให้หมดก่อน กว่าจะมาพูดถึงคดีนี้ก็ประมาณ 11.00 น. ถ้าเป็นไปตามปกติ ศาลควรจะขึ้นมาแล้วอ่านคำพิพากษาเลย แต่เมื่อขึ้นบัลลังก์ผู้พิพากษาคนเดิมก็เรียกทนายไปคุย ผมนั่งอยู่หลังห้องได้ยินเสียงไม่ชัดนัก แต่ได้ยินคำว่า “แบบนี้จะเอายังไงดี?”

ทนายเดินกลับมาบอก “วุฒิ” ว่า ผู้พิพากษาไปปรึกษากันแล้ว เห็นว่าข้อความมีเนื้อหาแรง ถ้ารับสารภาพก็อาจจะรอลงอาญาให้ไม่ได้ จะเอาอย่างไรต่อ?? ความหวังที่จะได้กลับบ้านในวันนี้ของ “วุฒิ” พังทลายลง ถ้าให้ศาลอ่านคำพิพากษาเลย ก็คงไม่ได้รอลงอาญา เรียกได้ว่า “ยาวแน่ๆ” เขาจึงตัดสินใจว่า งั้นขอปฏิเสธ กลับไปต่อสู้คดีตามที่วางแผนไว้อย่างเดิม

ทนายความเขียนคำร้องยื่นใหม่ ขอเปลี่ยนคำให้การเป็นปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าไม่ได้โพสต์ และเฟซบุ๊กเคยถูกแฮก

ศาลใช้เวลา 15-20 นาที ก่อนเรียกไปคุย แล้วบอกว่า “ไม่อนุญาต” ให้เปลี่ยนคำให้การ เนื่องจากคำปฏิเสธครั้งใหม่เหมือนกับที่เคยปฏิเสธไว้ในครั้งแรก แล้วคำปฏิเสธครั้งแรกนั้นถูกยกเลิกไปแล้วตอนที่เปลี่ยนเป็นให้การรับสารภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น คำปฏิเสธใหม่รับไม่ได้ !!!

ช็อกครับ … ประโยคนี้ผมได้ยินศาลพูดเต็มสองหู

ทนายของ “วุฒิ” ยืนอ้าปากค้าง อยู่หน้าบัลลังก์ แล้วจะให้ทำยังไง??

ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาใหม่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ไม่ให้โอกาสต่อสู้คดี ไม่ให้ปฏิเสธ และไม่ให้มีการสืบพยาน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่รู้เรียกว่าจำเลยรับสารภาพได้ไหม จำเลยจะได้ลดโทษเนื่องจากยอมรับสารภาพได้ไหม เพราะยื่นคำร้องขอถอนคำรับสารภาพไปก่อนแล้ว จะปฏิเสธก็ไม่รับ จะรับสารภาพก็ไม่ได้ ทุกอย่างงงไปหมด

ทนายถามศาลว่า แล้วจะให้ทำยังไง ผู้พิพากษาใจดีคนเดิมบอกว่า ถ้าอยากพิสูจน์เรื่องอะไรก็ให้ยื่นหลักฐานเข้ามาแล้วกัน ..​. โดยที่ไม่มีการสืบพยาน … ซึ่งแปลกมาก เป็นกระบวนการที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ผมหันไปมองหน้า “วุฒิ” เขาจ้องตาเขม็งไปที่บัลลังก์ ผมถามเขาว่า เข้าใจไหมครับ??? เขาตอบว่า ไม่เข้าใจ ผมบอกเขาว่า ผมขอโทษนะ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน … ไม่เข้าใจว่าศาลไม่รับคำปฏิเสธได้ยังไง และไม่เข้าใจว่าตกลงศาลจะให้จำเลยต่อสู้คดีหรือไม่ให้ ทั้งที่ตอนเริ่มวันนี้ศาลถามก่อนเองว่า “แบบนี้จะเอายังไงดี?” แต่พอปฏิเสธก็ไม่ให้ปฏิเสธ

ผมหันหลังไปมองหน้าญาติๆ ที่หอบของมารอรับ “วุฒิ” กลับบ้าน ผมถามเขาว่า เข้าใจไหม?? เขามองหน้าผมแล้วยิ้มเขินๆ ผ่านหน้ากากอนามัย ญาติคนหนึ่งถามผมว่า ถ้าเรารับสารภาพจะทำให้จบเร็วกว่าไหม ได้กลับบ้านเร็วกว่าไหม?? ผมตอบไม่ได้ และบอกเขาไปว่า กระบวนการในศาลแบบนี้ผมก็ไม่เคยเห็นมาก่อน …

ศาลลงบัลลังก์ไปในวันนั้น ผมมองหน้าทนายความ ทนายความก็ยังไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น รู้แต่ว่าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อาจจะมีคำพิพากษาแล้ว ผมแกล้งเดินเข้าไปถามความเห็นอัยการว่ามันเกิดอะไรขึ้น อัยการไม่ได้ตอบ แต่พยายามอธิบายว่า การที่จำเลยพยายามต่อสู้ว่าไม่ได้โพสต์นั้นเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ และการที่จำเลยจะหวังให้ศาลรอลงอาญาก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่ใช่ทุกคดีที่ศาลจะเมตตารอลงอาญาให้ …

“วุฒิ” ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เมื่อเขามาศาลตามนัดเพื่อส่งฟ้อง เขาก็ถูกขังเลยโดยไม่ได้ประกันตัว เขารอวันที่จะได้ต่อสู้คดีอยู่หลายเดือน แต่ก็ไม่ได้ต่อสู้คดี เขารอวันที่จะลุ้นได้รอลงอาญาและกลับบ้านอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่ได้กลับบ้าน หลังเสร็จการพิจารณาคดี เขาได้คุยกับทนายความแค่ 2-3 ประโยค ทนายความบอกว่า สัปดาห์หน้าจะไปเยี่ยมที่เรือนจำ แล้วค่อยคุยกันละเอียดๆ อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำงานของเขาได้ดี คือ เมื่อเสร็จศาลก็รีบพาตัวจำเลยลงไปห้องขังทันที “วุฒิ” ได้เพียงหันไปสั่งเสียภรรยาว่าข้าวของที่เตรียมมารับกลับให้ทำอย่างไร

ผมไม่รู้ว่า “วุฒิ” จะมีโอกาสได้ทำความเข้าใจหรือยังว่า คดีของเขาเกิดอะไรขึ้น โดยสรุปแล้วเขาจะได้ต่อสู้คดีหรือเปล่า หรือเท่ากับเขารับสารภาพไปแล้ว แต่ที่แน่ๆ การรอลงอาญาคงจะไม่มา และไม่รู้จริงๆ ว่าเขาจะต้องอยู่ข้างในไปอีกนานเท่าไร

ในวันนั้นที่ผมได้ไปประสบเรื่องนี้กับสายตาตัวเอง เป็นอีกหนึ่งวันที่ยุ่งเหยิงในชีวิต เมื่อส่ง “วุฒิ” เดินลับสายตา ผมรีบขับรถออกจากศาลเพื่อไปประชุมต่ออีกสามประชุม ระหว่างประชุมที่สองรู้สึกจะป่วย เลยกินยาพาราเข้าไปสองเม็ด มีเพื่อนถามว่าคดีเมื่อเช้าเป็นยังไงบ้าง ผมบอกไปว่า “ไม่ไหว ยังไม่อยากเล่า” ตั้งใจว่าจะค่อยๆ เรียบเรียงและเขียนเล่า แต่ใช้เวลาผ่านมาอีก 7 วันถึงเข้มแข็งพอที่จะเขียน พบว่า เรื่องนี้มันทำร้ายข้างในของผมพอสมควรเหมือนกัน และยิ่งเป็นเหตุให้สัปดาห์ที่ควรจะได้พักบ้างเป็นสัปดาห์ที่หงุดหงิด

แต่คงไม่หงุดหงิดเท่ากับ “วุฒิ” ที่นอนรอคำอธิบายอยู่ในเรือนจำ

เขาโพสต์ข้อความเหล่านั้นจริงหรือเปล่าผมไม่รู้

เขาจะต้องติดคุกอีกกี่ปี ผมก็ยากจะคาดเดา

แต่อย่างน้อยในวันปีใหม่นี้ขอแค่ให้เขามีโอกาสเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นไปแล้วในคดีของเขา …

#ขังข้ามปี #นิรโทษกรรมประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image