ฐากร ตัณฑสิทธิ์ นำร่องชำแหละงบฯปี’67

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ นำร่องชำแหละงบฯปี’67

หมายเหตุ – นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวบรวมผลการตรวจสอบและวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ที่เตรียมนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระแรกในวันที่ 3-5 มกราคมนี้

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีข้อสังเกตหลายประการที่เห็นว่าควรนำเสนอต่อที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหรือทบทวนในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป

ในภาพรวมงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 (3,185,000 ล้านบาท) จำนวน 295,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.3% คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (19,022,200.0 ล้านบาท) แบ่งงบออกเป็นดังนี้

1.รายจ่ายประจำ 2,532,826.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 72.8% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.4%
3.รายจ่ายลงทุน 717,722.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.6%
4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.2%

Advertisement

ถ้าคัดเฉพาะงบรายจ่ายลงทุน 712,722.2 ล้านบาทมาดู พบข้อสังเกตว่า ไม่ได้แยกรายละเอียดงบลงทุนใหม่ๆ ของปี 2567 มีวงเงินรวมเท่าไหร่ เป็นงบผูกพันเดิมก่อนปี 2566 เป็นวงเงินรวมเท่าไหร่ และหากเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างงบลงทุนใหม่ของปี 2567 กับงบผูกพันเดิมก่อนปี 2566 (เป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่องในรัฐบาลชุดที่แล้ว) มีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่คำตอบที่ว่านโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้จริงหรือไม่ อย่างไร

ประเมินว่า ในงบรายจ่ายลงทุน 712,722.2 ล้านบาท เป็นงบรายจ่ายลงทุนผูกพันเดิมราวๆ 60% หรือประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท ที่เหลือเป็นงบรายจ่ายลงทุนใหม่ของปี 2567 ราวๆ 2 แสนกว่าล้านบาทเศษเท่านั้น

ในประเด็นนี้ สำนักงบประมาณควรจัดทำทำรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถติดตามประเมินผลได้

Advertisement

นอกจากนี้แล้ว ในกรอบงบรายจ่ายลงทุน 712,722.2 ล้านบาทนั้น ได้พิจารณาจัดสรรลงในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รัฐบาลใช้หลักเกณฑ์อย่างไรในการจัดสรร

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกจังหวัดและงบประมาณดังกล่าวจะต้องไม่กระจุกตัวในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมากเกินไป แต่ต้องกระจายให้เกิดความเป็นธรรมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในเรื่องนี้สำนักงบประมาณไม่ได้มีรายละเอียดเสนอมาแต่อย่างใด

ส่วนงบรายจ่ายประจำ วงเงิน 2,532,826.9 ล้านบาท เมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้วอาจมีบางส่วนที่อาจเป็นงบลงทุนแต่ไปตั้งงบประมาณไว้ในงบรายจ่ายประจำ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงบประมาณก็คงต้องตอบสังคมเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด

ในส่วนของการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายงบกลางของปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 606,765,000,000 บาท สูงกว่างบกลางของปี 2566 เป็นจำนวน 16,295 ล้านบาท

การเพิ่มขึ้นของงบกลางนั้น โดยเฉพาะในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มขึ้นจากงบปี 2566 กว่า 6,000 ล้านบาท รัฐบาลหรือสำนักงบฯควรต้องตอบคำถามว่าเพิ่มด้วยเหตุผลอะไร

สำหรับงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ปี 2567 มีจำนวน 198,320,443,100 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 152,861,881,800 ล้านบาทหรือคิดเป็น 77.08% งบลงทุน 45,458,561,300 ล้านบาท คิดเป็น 22.92% เปรียบเทียบกับปี 2566 งบกระทรวงกลาโหมปี 2567 เพิ่มขึ้น 4,482 ล้านบาท

กองทัพบกได้งบมากที่สุด 95,924 ล้านบาท กองทัพเรือเป็นอันดับสอง 41,086 ล้านบาท กองทัพอากาศ 36,411 ล้านบาท กองบัญชากองทัพไทย14,770 ล้านบาท ส่วนสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม 9,275 ล้านบาท

งบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปี 2567 มีจำนวน 118,596,100,000 บาท แบ่งเป็นงบประจำ 34,000,087,700 ล้านบาท คิดเป็น 28.68% งบลงทุน 84,588,012,300 ล้านบาท คิดเป็น 71.32%

ที่น่าสนใจ กรมชลประทาน ได้รับงบสูงสุด 81,138.3624 ล้านบาท แบ่งเป็นงบรายจ่าย 35,715.49 ล้านบาท งบบูรณาการด้านการบริหารจัดการน้ำ 39,826 ล้านบาท ที่เหลืออีก 5,596 ล้านบาท เป็นงบรายจ่ายบุคลากร

สำหรับการจัดงบประมาณด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ว่าด้วยการพัฒนาการเรียนรู้ซึ่งต้องการพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์เชิงคุณภาพที่เป็นความท้าทายสำคัญของไทยมาโดยตลอด เนื่องจากระบบและคุณภาพการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก

ในเอกสารงบประมาณสังเขปว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรม มีจิตสาธารณะ และคุณภาพชีวิตที่ดีได้จัดสรรงบประมาณไว้จำนวน 561,954 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.1% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

เมื่อแยกรายละเอียดลึกลงไปจะเห็นว่ามีการจัดสรรเป็นแผนงานบุคลากรภาครัฐถึง 404,183 ล้านบาท คิดเป็น 71.92%

นอกเหนือจากนั้นเป็นแผนการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม แผนพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ แผนเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี แผนเสริมสร้างศักยภาพกีฬา แผนเพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ แผนพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รวม 157,771 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 28.08%

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้งบรวม 25,327,919,500 บาท แบ่งเป็นงบประจำ 23,355,696,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 92.21% เป็นงบลงทุน 1,972,223,200 ล้านบาทหรือ 7.79%

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มาตั้งแต่ปี 2548 และสถิติล่าสุดในเดือนกันยายน 2566 ประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.74% ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์

สาเหตุมาจากอัตราการเกิดเพียง 6 แสนคนต่อปี หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี เป็นสัดส่วน 20% ของประชากรไทย แนวโน้มเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 29 ของประชากรทั้งประเทศ

มีนักวิชาการหลายคนที่เล็งเห็นปัญหาในอนาคต ถ้ารัฐบาลไม่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีการพัฒนาสมรรถนะ ไม่ปรับโครงสร้างการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต และไม่เพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีให้ผู้สูงวัยทำงานต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ สังคมสูงอายุของไทยจะกลายเป็นปัญหาใหญ่

ฉะนั้นกระทรวง พม. ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการบริหารโดยตรง ต้องเร่งเดินหน้าแก้ปัญหา แต่ถ้างบลงทุนมีสัดส่วนเพียง 7.79% ของงบทั้งกระทรวง จะขยับเขยื้อนให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าเพื่อสังคมผู้สูงวัยได้อย่างไร

หันไปเจาะดูกระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงที่มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคม ได้รับงบปี 2567 เป็นจำนวน 165,726,200,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 151,761,365,900 ล้านบาท คิดเป็น 91.57% งบลงทุน 13,964,831,100 ล้านบาท หรือแค่ 8.43%

การจัดวางงบของกระทรวงสาธารณสุขนี้ ในเอกสารระบุเอาไว้ว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน แต่การจัดงบลงทุนเพียง 8.43% จะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร โดยเฉพาะการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนไข้ เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

กระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นกระทรวงที่สำคัญที่สุดในการวางรากฐานเด็กไทยให้เป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพ แต่พบว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับมีจำนวน 328,384,700,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 314,839,412,900 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 95.88% ขณะที่งบลงทุนได้เพียง 13,545,287,100 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.12%

การกำหนดสัดส่วนงบประมาณเช่นนี้ จึงไม่น่าเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศที่เขียนไว้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จำนวนนักเรียนในแต่ระดับรวมไม่ต่ำกว่าล้านคนที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นอนาคตของประเทศที่สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้

การวางรากฐานที่ง่อนแง่นในอดีตจึงเกิดผลลัพธ์ในทางลบตามมามากมาย ดังเช่นคะแนนการสอบประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นการสอบที่สำคัญของการศึกษาระดับมัธยม จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี เพื่อวัดทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก

ปรากฏว่าเด็กไทยได้คะแนนต่ำในทุกทักษะ ต่ำกว่าเด็กเวียดนามและมาเลเซีย

งบกระทรวงศึกษาธิการนั้นเมื่อเทียบกับงบกระทรวงคมนาคมมีลักษณะสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ งบกระทรวงคมนาคม แบ่งเป็นงบประจำที่ 183,635,000,000 ล้านบาท ส่วนงบลงทุนจัดให้ถึง 171,941,105,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 93.63%

การจัดวางงบประมาณ ปี 2567 ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงคมนาคม จึงเกิดคำถามว่าเพื่อหวังผลสัมฤทธิ์ใดกันแน่ และแน่นอนว่าการวางเป้าหมายงบประมาณไว้ดังนี้ จึงยากที่คาดหวังว่าบุตรหลานในอนาคตจะมีความรู้ ความสามารถโดดเด่นในโลกของการศึกษา

หากเอาคำแถลงนโยบายรัฐบาลที่คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่า “รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย”

จึงมีคำถามตามมาอีกว่า การจัดงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการดังที่ปรากฏในเอกสารของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริงหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image