‘หมอเลี้ยบ’เปิดแผนปี’67 บูมซอฟต์เพาเวอร์ไทย

‘หมอเลี้ยบ’เปิดแผนปี’67 บูมซอฟต์เพาเวอร์ไทย
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

หมายเหตุ – นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงความคืบหน้าและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ ปี 2567 เป็นต้นไป

คณะยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นซุปเปอร์บอร์ด มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 12 ราย ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ 11 คน และที่ปรึกษาคุณวุฒิอีกมากมาย โดยชุดนี้จะประชุมประมาณ 3 เดือนครั้ง มีบอร์ดบริหาร มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กำหนดการประชุม 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อวางแผนงานทั้งระบบ บูรณาการร่วมกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำหน้าที่คล้าย THACCA (Thailand Creative Content Agency) ซึ่งต่อไปจะเป็นซุปเปอร์เอเยนซี่เพื่อรับผิดชอบซอฟต์เพาเวอร์ทั้งระบบ แต่ระหว่างที่ยังไม่มี THACCA ที่คาดว่าต้องรอการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผ่านสภาประมาณ 1 ปีครึ่งทำให้ในระยะเวลาก่อนถึงวันนั้น บอร์ดบริหารนี้จะทำหน้าที่บูรณาการแผนงาน งบประมาณ และกำกับสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานตามที่วางแผนไว้

กก.ซอฟต์เพาเวอร์จุดพลุ‘มหาสงกรานต์ เวิลด์ วอเตอร์ เฟสติวัล’
ความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการ ในรายโครงการอาจยังไม่ได้ชัดเจนเด่นชัดมากนัก แต่ก็มีให้เห็นบ้างแล้ว อาทิ วินเทอร์ เฟสติวัล (Thailand Winter Festival) ต้องยอมรับว่ายังไม่ได้บูรณาการร่วมกันทั้งหมด เพราะแผนงานได้กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนมีบอร์ดบริหารเกิดขึ้น แต่หากเป็นแผนงานที่มีการกำหนดไว้และน่าจะเห็นอย่างชัดเจน อาทิ เทศกาลภาพยนตร์ จะส่งเสริมภาพยนตร์ไทยไปตามเทศกาลภาพยนตร์ในต่างชาติ เป็นแผนปลีกย่อยในซอฟต์เพาเวอร์แต่ละด้าน ที่คาดว่าจะได้เห็นในช่วงปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป

วินเทอร์ เฟสติวัล แม้เข้ามาทำงานภายใต้ช่วงเวลาที่กระชั้นชิดมาก อาจไม่สามารถวางแผนได้ดีมากนัก ทำให้เทศกาลสงกรานต์กลายเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก เพราะสงกรานต์ไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก จึงตั้งเป้าหมายในการจัดงานสงกรานต์ 2567 เป็นเทศกาลใหญ่ ในชื่อ มหาสงกรานต์ เวิลด์ วอเตอร์ เฟสติวัล ซึ่งการจัดสงกรานต์ให้เป็นงานใหญ่ ไม่ได้เริ่มต้นเพราะได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก แต่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากเรื่องเศรษฐกิจเทศกาล หรือเฟสติวัล อีโคโนมี เป็นเรื่องใหญ่มากขณะนี้หลายประเทศทั่วโลก นำเฟสติวัล อีโคโนมี มาเป็นธงนำในการสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจซอฟต์เพาเวอร์ด้วย มองว่าการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากธรรมชาติหรือศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว น่าจะเป็นตัวหนึ่งที่ดึงขึ้นมาได้อีก

Advertisement

จึงเป็นที่มาของการจัดสงกรานต์ทั้งเดือน แต่ไม่ได้หมายความว่าจัดสาดน้ำทั้งเดือน เป็นการจัดกิจกรรมทั้งเดือนเป็นหลัก ทั้งการแสดง ศิลปะการแสดงต่างๆ กระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อให้สุดท้ายกลายเป็นเทศกาลใหญ่ของโลก ที่ทุกคนจะต้องเข้ามาเที่ยวเทศกาลนี้ในไทย เหมือนการจัดงานเทศกาลดนตรีเอสทูโอ ที่ดังไกลไปถึงต่างประเทศด้วย รวมถึงการตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ไปในต่างประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมหนังสือ ไปร่วมงานหนังสือไทเปบุ๊กแฟร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยในกรุงเทพฯ จะจัดงานที่ถนนราชดำเนินกลางไปถึงสนามหลวง เป็นรถประจำจังหวัดเข้ามาจากทุกจังหวัด จัด 3 วัน ซึ่งบอกไปว่าไม่อยากเห็นรถแห่แบบที่คุ้นตากันอยู่แล้ว แต่อยากเห็นความสมส่วนระหว่างประเพณีที่งดงามของไทย และความสนุกสนานบันเทิงที่ควรได้รับ

อัดแรงส่งงบ5.1พันล้าน-เดินหน้างบ’68ต่อ
เรื่องหลักของบอร์ดบริหารคือ การเน้นทำแผนงบประมาณใหญ่ ก้อน 5,164 ล้านบาท เป็นแผนทำงานในปี 2567 ที่งบประมาณของปี 2567 ล่าช้าไปจากเดิมค่อนข้างมาก เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้กว่าที่งบประมาณปี 2567 จะผ่านออกมาได้ ก็ประมาณเดือนเมษายน 2567 สิ่งที่เร่งไล่ทำคือ ให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์เพาเวอร์จัดทำแผนด้วยตัวเอง ถือเป็นแผนที่ออกมาจากภาคเอกชนเป็นครั้งแรก เพราะมองว่าเอกชนเป็นผู้เล่นหลักในเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุน จึงให้เอกชนวางแผนและออกแบบโครงการว่าจะทำอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าใด เป็นแผนงานที่ผ่านบอร์ดใช้งบประมาณอยู่ที่ 5,164 ล้านบาท

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ การทำวันสต๊อปเซอร์วิส ที่มีการพูดถึงกันมากว่าการถ่ายภาพยนตร์ในประเทศไทย หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์เพาเวอร์อีกหลายด้าน กระบวนการดำเนินงานจะต้องติดต่อหลายหน่วยงานมาก จึงต้องการวันสต๊อปเซอร์วิส เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการเหล่านี้สามารถทำได้ง่ายขึ้น ถือเป็นภาพในแผนงานใหญ่ที่จะเริ่มขยับให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น รวมถึงงบประมาณปี 2568 ที่ต้องเริ่มทำแล้ว เพราะตามแผนงานแต่ละหน่วยงานจะต้องนำเสนองบประมาณที่ต้องใช้ภายในวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าในช่วงระยะที่ผ่านมา ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่างๆ ในซอฟต์เพาเวอร์ มีการประชุมกันหลายครั้งมาก และแต่ละครั้งใช้เวลาหลายชั่วโมง

Advertisement

สิ่งที่เตรียมการต่อเนื่องคือ การลงทะเบียนคน ตั้งใจให้อย่างน้อย 1 คนใน 1 ครอบครัว ได้มีโอกาสในการแสดงเจตจำนงของตัวเอง ว่าต้องการเป็นอะไร หรือประกอบอาชีพอะไรต่อไป อาทิ เป็นนักร้อง นักดนตรี นักเขียนดีไซเนอร์ โดยจะจัดบ่มเพาะผ่านการจัดอันดับความเชี่ยวชาญที่มีอยู่หากไม่มีทักษะก็จะจัดอบรมทักษะขั้นพื้นฐานให้ จัดทั้งในโรงเรียนและออนไลน์ จากนั้นจะมีการทดสอบทักษะหลังอบรม เพื่อผ่านขึ้นไปในทักษะที่สูงกว่าเดิมอีก อาทิ เชฟ หากต้องการเป็นเชฟ เชฟชุมพล แจ้งไพร ที่เตรียมพร้อมบ่มเพาะเชฟอาหารไทยในชุมชน แต่สามารถออกไปทำงานในร้านอาหารไทยที่ต่างประเทศได้ ซึ่งส่วนนี้ตั้งเป้าที่ 1 หมื่นคนก่อน เพราะมีการคุยกันไว้ว่า ควรมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศอย่างน้อย 1 แสนร้าน มีเชฟอาหารไทยอยู่ทั่วโลก และเป็นรสชาติอาหารไทยแท้ๆ ด้วย

การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยทูตในประเทศนั้นๆ และทูตพาณิชย์ที่มีอยู่ทั่วโลกเช่นกัน มีการศึกษาว่า หากต้องการส่งเสริมเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จะต้องอย่างไรบ้าง กฎกติกาเป็นอย่างไร หากส่งเชฟไปจะมีขั้นตอนอย่างไร รวมถึงเรื่องเงินทุน อาจมีกองทุนร่วมทุนสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการไปเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้

ต่อยอดซอฟต์เพาเวอร์11กลุ่มเจาะตลาดโลก
ความคืบหน้าใน ซอฟต์พาวเวอร์ ทั้ง 11 ด้าน ยอมรับว่ามีบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ให้ความสนใจเลย แต่พอเข้าไปศึกษาแล้วพบว่า มีศักยภาพในตัวเองสูงมาก ทั้งที่ยังไม่ได้ถูกเข้าไปทำอะไรด้วยซ้ำ อาทิ อุตสาหกรรมเกม ที่มีขนาดใหญ่มาก เฉพาะมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศมีกว่า 3 หมื่นล้านบาท คนทำเกมในไทยเป็นผู้สร้างสรรค์เกมให้กับต่างประเทศด้วย จึงดึงเกมเข้ามาเพิ่มในซอฟต์เพาเวอร์อีกด้าน โดยในอนาคตจะเพิ่มด้านอื่นเข้ามาอีกประมาณ 1-2 ด้าน เพราะมีศักยภาพสูงไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ที่เริ่มต้นใน 11 ด้านก่อนก็เพื่อนำร่องให้แข็งแรงและเห็นผลชัดเจนก่อนเพราะศักยภาพของซอฟต์เพาเวอร์ใน 11 ด้านมีความโดดเด่นมากอยู่แล้ว บางอุตสาหกรรมอาจเด่นมาก สนับสนุนเล็กน้อยกระโดดได้ทันที แต่บางอุตสาหกรรมอาจต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม เพราะมีของดีอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้รับการหนุนให้เติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพที่ดี

อุตสาหกรรมที่เป็นแชมป์และเดินหน้าไปได้ไกลแล้ว ได้แก่ มวยไทย และอาหารไทย โดยสิ่งที่จะทำต่อจากนี้คือ การพัฒนาเชฟให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งเชฟที่ทำงานในไทยและออกไปทำงานต่างประเทศ เพราะมีเชฟที่เป็นผลผลิตจากครัวไทยสู่ครัวโลก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลายคนเป็นเชฟในระดับที่ทำงานในภัตตาคารระดับโลก บางคนทำงานในราชวงศ์ต่างประเทศ เงินเดือนหลักหลายแสน จึงต้องการผลิตกลุ่มคนเหล่านี้ให้มากขึ้น

ส่วนมวยไทยดังไปไกลมากแล้ว แม้ไม่ได้ถูกรับการสนับสนุนมากนัก สะท้อนถึงเสน่ห์ของมวยไทยที่มีสูงมาก ปัจจุบันมีค่ายมวยสอนมวยไทยอยู่ประมาณ 4 หมื่นแห่งทั่วโลก เฉพาะอังกฤษ 4 พันแห่ง ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย มีรายการถ่ายทอดสดแข่งขันมวยไทย มีคนดูกว่า 400 ล้านคน แต่ปัญหาคือ หลักสูตรมวยไทยที่เป็นหลักสูตรมาตรฐานยังไม่มี ดังนั้นต้องจัดทำหลักสูตรมาตรฐานขึ้นเพื่อฝึกสอนนักมวยให้ตรงตามมาตรฐาน เพื่อผลิตนักมวยไทย และโค้ชมวยในการฝึกสอนให้ผู้อื่นได้ ต่อยอดไปยังสินค้าต่างๆ อาทิ กางเกงมวย ที่ปัจจุบันเป็นซอฟต์เพาเวอร์ไทยแล้ว แต่จะโดดเด่นมากขึ้น อย่างการผลิตภาพยนตร์ที่มีมวยไทยเป็นหลัก

ภาพยนตร์ ต้องยอมรับว่าไทยมีผู้กำกับมือทองที่โด่งดังในต่างประเทศอยู่ แม้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากนัก แต่ตอนนี้ตั้งใจที่จะสนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่ไปตามเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศเท่านั้น แต่จะสนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์ในไทยเพิ่มเติม หากเริ่มต้นทำได้ดีอนาคตจะขยายตัวไปได้ต่อ อาทิ เทศกาลหนังที่ปูซาน เริ่มต้นพร้อมกับเทศกาลหนังในไทย บางกอกฟิล์มเฟสติวัล แต่ในไทยล้มหายตายจากไป สวนทางกับในปูซานที่ปักหลักมั่นคงแล้ว

ปัญหาของวงการหนังไทย ติดเซ็นเซอร์และกฎระเบียบต่างๆ ไม่ได้แก้มานานนั้น จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติในรอบ 2 ปี วาระสำคัญในการหารือกันคือ กฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดเรตติ้งเตรียมแก้ไข เพราะมีการพูดถึงกันมากในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น ส่งผลกระทบต่อการทำภาพยนตร์ที่มีการห้ามฉาย มีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องถึง 6 ประเด็น จะมีการทบทวนว่า มีหลักเกณฑ์ใดที่กว้างเกินไปหรืออาศัยดุลพินิจกรรมการพิจารณาจนเกิดการห้ามฉาย เกณฑ์เหล่านี้จะถูกแก้ไขแน่นอน รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ที่เดิมมี 6 ชุด หมดวาระไปแล้ว 5 ชุดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา จะแต่งตั้งเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้พิจารณาภาพยนตร์ได้เร็วขึ้น และมีการหาหรือหลักการกันว่า ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ จะให้การจัดเรตติ้งออกมาโดยภาคเอกชน อาทิ การพิจารณาจากภาครัฐ 4 คน ภาคเอกชน 3 คน จะเปลี่ยนไปเป็น เอกชน 3 คน รัฐ 2 คนเท่านั้นจากกำหนด 4 คน

ปลดล็อกอุปสรรครัฐ-ใส่งบประมาณหนุน
งบประมาณส่วนของซอฟต์เพาเวอร์ มองว่ารัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ปลดล็อกกฎหมาย หรือระเบียบราชการที่ล้าสมัย และใส่งบประมาณลงไปเล็กน้อย เปรียบเทียบเหมือนเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำ จะเกิดคลื่นขนาดใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง เพราะภาคเอกชนไทยมีเม็ดเงินจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาไม่มีความมั่นใจ ทำให้ไม่มีใครกระโดดเข้ามาต่อยอดซอฟต์เพาเวอร์ไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากไม่รู้ว่าควรร่วมกันส่งเสริมต่อไปได้อย่างไร อาทิ สายภาพยนตร์ ประเทศไทยเคยมียุคทองของหนังที่รุ่งเรืองมาก และตอนนี้กำลังเห็นสัญญาณบางอย่างกลับมาแล้ว สะท้อนจากหนังไทยที่ทำรายได้หลายร้อยล้าน อย่างสัปเหร่อ ที่ทะลุ 720 ล้านบาทแล้ว เป็นการสร้างความแข็งแรงให้วงการภาพยนตร์ไทย ขณะเดียวกันภาพยนตร์จะเป็นพาหนะในการนำพาซอฟต์เพาเวอร์อื่นตามไปด้วย อาทิ อาหารไทย มวยไทย

ดนตรีก็เป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทย ไทยมีผู้มีความรู้ด้านดนตรี เป็นฮีโร่ในด้านดนตรีให้กับคนอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างที่โดดเด่นคือ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หนึ่งในสมาชิก BLACKPINK วงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยยังมีคนแบบนี้อีกเยอะ สะท้อนจากไอดอลในเกาหลีใต้ที่เป็นคนไทยอีกหลายคน ประเทศไทยจึงมีทุนของเราอยู่แล้ว หากรัฐบาลพร้อมเริ่มต้น ภาคเอกชนพร้อมลุยด้วย โดยได้หารือร่วมกับเอกชนบางกลุ่มแล้ว ว่าจะผลักดันให้อุตสาหกรรมดนตรีออกไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น

ซอฟต์เพาเวอร์ไทยด้านอื่นๆ ได้แก่ ศิลปะ จะมีการส่งเสริมให้คนไทยดื่มด่ำกับศิลปะมากขึ้น ทั้งงานอาร์ตและศิลปะการแสดง การสร้างหอศิลป์ที่รัชดาสร้างเสร็จแล้วกว่า 15,000 ตารางเมตร แต่มีปัญหาเรื่องความชื้นและอุณหภูมิ จะเข้าไปแก้ไขให้หมด รวมถึงได้ของบประมาณในการรวบรวมศิลปะของไทย ในการนำมาจัดแสดงที่หอศิลป์ในรัชดาต่อไป

คืนชีพอุตฯหนังสือ-เมืองแฟชั่น
อุตสาหกรรมหนังสือไทย ต้องบอกว่ามีความน่าสนใจมาก เทียบกับเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่มากเป็นหนังสือและเกม ที่มีขนาดใหญ่กว่าภาพยนตร์หรือดนตรีด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมหนังสือของไทยมีขนาดใหญ่แต่อาจใหญ่แค่ในประเทศ สามารถออกไปเติบโตในต่างประเทศได้ สะท้อนจากมหกรรมหนังสือของไทยที่มีการจัดยิ่งใหญ่มากในแต่ละครั้ง โดยปี 2567จะเป็นครั้งแรกที่มีภาครัฐสนับสนุนการจัดงานมหกรรมหนังสือที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น ส่งเสริมนักเขียนและนักอ่านมากกว่าเดิม รวมถึงสนับสนุนการไปเติบโตต่างประเทศ จัดตั้งกองทุนการแปลหนังสือไทยไปในประเทศต่างๆ เริ่มต้นจากไต้หวัน จะจัดบุ๊กแฟร์เดือนมีนาคม 2567 จะจัดโปรแกรมจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักเขียนและนักแปล เพื่อไปต่างประเทศได้มากกว่าเดิม

อุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ความจริงแล้วเคยมีการจัดกรุงเทพเมืองแฟชั่นตั้งแต่ปี 2546-2547 และสร้างเมล็ดพันธุ์ของแฟชั่นเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งจากนี้ได้เตรียมผลักดันแฟชั่นไทยไปสู่สากลระดับโลก อาทิ ผ้าครามเมืองสกลนคร ที่ได้รับการโหวตจากยูเนสโก ที่จะมีงานเทศกาลผ้าครามโลกในปี 2567 ด้วย จะมีการพัฒนาเส้นใยที่ทันสมัยมากกว่าเดิม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการออกแบบจะเน้นเรื่องการส่งเสริมคนที่อยากเป็นนักออกแบบ รวมถึงสร้างชื่อเสียงของดีไซเนอร์คนไทยให้ไปปรากฏชื่อในเวทีโลกมากขึ้น

ผลทางเศรษฐกิจที่จะได้เห็นในปีแรกอย่างรวดเร็วจะเป็นซอฟต์เพาเวอร์ด้านท่องเที่ยว และเฟสติวัล โดยเราอยากทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้นและเร็วที่สุด จึงต้องใช้เครื่องมืออย่างเฟสติวัล หรือมหาสงกรานต์ในปี 2567 นี้ และปีถัดไปด้วย เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเติบโตได้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม และคาดการณ์การจัดงานมหาสงกรานต์จะทำเงินหมุนในระบบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะได้เห็นความชัดเจนในปีหน้าแน่นอน เพื่อทำให้การท่องเที่ยวและเฟสติวัลในปีหน้า สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนหลักแสนล้านบาทได้แน่นอน

ร่วมมือ‘แพทองธาร’เดินหน้ารูปธรรม-สื่อสารประชาชน
ในด้านการแข่งขันซอฟต์เพาเวอร์ไทยและต่างชาติที่ทำเหมือนกันนั้น หากไทยส่งเสริมอย่างจริงจัง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดผิดหูผิดตาทันที ตอนนี้เราพร้อมแล้ว ขอเพียงมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีการจัดการที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน ที่ผ่านมามีงบประมาณเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประมาณ 7 พันล้านบาท แต่เป็นงบประมาณของโครงการที่ต่างคนต่างทำ เป็นโครงการที่คล้ายกัน ทำไมถึงไม่มาทำด้วยกันเป็นจุดเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนไม่ให้เกิดขึ้น และมองภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ได้มองแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น

เรื่องคนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของซอฟต์เพาเวอร์ หากผลักดันให้คนในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเป็นนักรบซอฟต์เพาเวอร์ได้ จะทำให้ซอฟต์เพาเวอร์ของไทยมีพลังมาก เปรียบเทียบกับฮาร์ดเพาเวอร์ หรือการใช้อำนาจทางทหาร ที่ประเทศใดมีกำลังพลจำนวนมากประเทศนั้นจะเป็นประเทศมหาอำนาจ ทำให้หากไทยเป็นประเทศที่มีบุคคลที่เป็นซอฟต์เพาเวอร์จำนวนมาก แม้ไม่ได้เป็นขุนพลได้ทุกคน เป็นขุนพลระดับสุดยอด 1-2 แสนคน ระดับแม่ทัพนายกอง 2-3 ล้านคน นักรบทะลวงฟันอีก 18 ล้านคน จะเป็นนักรบซอฟต์เพาเวอร์ที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรมากแล้ว

ปัญหาหนักอกของการทำงานคือ ยังมีคนที่ไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร มองเป็นตาบอดคลำช้าง ที่ผ่านมาผม และ น.ส.แพทองธารพูดเยอะมาก แต่ยอมรับว่าสิ่งที่พูดหากไม่ปรากฏให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม คนคงไม่เข้าใจ กระบวนการทำงานตามแผนซอฟต์พาวเวอร์ประเมินว่าชาวบ้านเข้าใจ แต่อาจไม่เข้าใจทั้งหมด จะเข้าใจเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง หรือมีความสนใจเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้ดู และทำให้สำเร็จด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะมีเสียงสะท้อนออกมาว่า ไม่เป็นไปตามที่พูด ถือเป็นภาระของเราที่ต้องทำให้เต็มที่

ความยากในกระบวนการปฏิบัติก็จะยากไปอีกแบบ ในส่วนของระบบราชการที่เป็นแบบอนุรักษ์มาแบบ 9-10 ปีแล้ว ทำให้การมาเคี่ยวเข็ญผลักดัน บางหน่วยงานก็ไปได้ดี อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่พูดคุยกันได้เข้าใจและลุยงานกันอย่างเต็มที่ แต่บางหน่วยงานอาจยังติดกรอบเดิม วิธีคิดแบบเดิม ซึ่งก็ต้องพยายามทำความเข้าใจและทำงานกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image