20 ปี ปล้นปืน ค่ายปิเหล็ง ชนวนเหตุไฟใต้ รัฐสูญงบ 5 แสนล้าน สู่โจทย์ใหญ่ บนโต๊ะเจรจา

ครบรอบ 20 ปี 4 มกราคม 2547 เหตุปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส หรือที่ชาวบ้านเรียกกัน ว่า “ค่ายปิเหล็ง”

ในครั้งนั้น มีปืนจากค่ายปิเหล็งถูกปล้น ทั้งหมด 413 กระบอก แล้วใน 413 กระบอก ส่วนใหญ่เป็นปืน M16 หรืออาวุธสงครามแทบทั้งสิ้น

ในวันนั้น คาดว่า ผู้ก่อเหตุมีราว 140-150 คน ใช้เวลาในการก่อเหตุเพียง แค่ 20 นาที มีทหารเวรถูกสังหารระหว่างการปล้น จำนวน 4 นาย

ในเวลาไล่เรียกันนั้น ยังมีโรงเรียนในจ.นราธิวาส ถูกเผาพร้อมๆกันถึง 20 แห่ง เจตนาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเจ้าหน้าที่ก่อนที่ผู้ก่อเหตุเริ่มต้นจะบุกปล้นปืนในช่วงเช้ามืดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

Advertisement

แน่นอนเหตุในวันนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ไฟใต้” ที่กินเวลายาวนานเกิน 2 ทศวรรษแล้ว 

โดยวันที่ 5 มกราคม 2547 วันรุ่นขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ค่ายปิเหล็ง รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ใน 3 พื้นที่ภาคใต้ จากนั้นก็มีการบังคับใช้ “กฏหมายพิเศษ” ทั้งพ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อทุ่มกำลังทหาร ตำรวจ และงบประมาณจำนวนมหาศาลลงมาแก้ปัญหา

นับตั้งแต่งบประมาณปี 2547 จนถึงงบประมาณล่าสุดปี 2567 ที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาอยู่นั้น รัฐทุ่มงบไปแล้วถึง 5 แสนกว่าล้านบาท ผ่าน 7 รัฐบาล 7 นายกรัฐมนตรี

Advertisement

เรื่องนี้ ในสายตาของ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงอาวุโส จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนผ่าน “มติชนออนไลน์” ว่า เป็นสงครามที่ยาวกว่าสงครามคอมมิวนิสต์แล้ว

“สงครามพคท.ในยุคผม เริ่มต้นปี 2508 มาจบในปี 2526 ใช้เวลา 18 ปี แต่วันนี้สงครามในภาคใต้ยาวกว่าสงครามในวันนั้น วันนี้เข้าสู่ปีที่ 21 แล้วก็ยังไม่จบ”

อาจารย์สุรชาติ มองว่า สิ่งที่น่าตกใจของสถานการณ์ที่ยาวนานนี้ คือรัฐใช้งบประมาณไปอย่างมหาศาล

นอกจากงบประมาณมหาศาล อาจารย์สุรชาติ ยังมองอีกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน ได้เห็นชีวิตผู้คนไทยพุทธ คนไทยมุสลิมเสียชีวิตจำนวนมาก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ อาจารย์สุรชาติ คือสัดส่วนของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” กับ “ประชาชน” ที่เสียชีวิต

อาจารย์สุรชาติ อธิบายว่า ในฐานะที่สนใจและนั่งมองสงครามมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวทีการรบทั้งหมด ผู้สูญเสียมักจะเป็นประชาชนพลเรือน มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในภาคใต้ของไทยถือว่า แปลกที่สัดส่วนผู้สูญเสียตรงนี้ เกือบจะเท่ากันเลย

“เรานั่งดูผู้สูญเสียในยูเครนจะเห็นว่า ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน แต่ในภาตใต้ของเราอัตราการสูญเสียแทบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับพลเรือนอยู่ประมาณเดียวกันเลย ต่างกันนิดเดียวไม่มีนัยยะสำคัญ เป็นอะไรที่แปลก ไม่ล้อไปกับสถานการณ์ในเวทีโลก”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจารย์สุรชาติ ตั้งโจทย์ต่อไปว่า แล้วรัฐไทยจะเอาอย่างไรต่อในปีที่ 21 ของไฟใต้

อาจารย์อธิบายว่า ตามข้อมูลตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดในปี 2563 ความรุนแรงในพื้นที่ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั้น มีสถิติที่ลดลง และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีเหตุเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญใดๆ

ที่สำคัญมีข้อดีที่ความรุนแรงยังเกิดในพื้นที่จำกัด ไม่มีการยกระดับและขยายออกไปนอกพื้นที่เดิม

แม้ว่า ที่ผ่านมาจะมีความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจากับคู่ขัดแย้งมาตั้งแต่ยุค นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปลี่ยนหัวหน้าคณะเจรจาฯ มาแล้ว 5 คน ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตั้ง “ฉัตรชัย บางชวด” รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขึ้นมาทำหน้าที่

แม้จะมีเสียงชื่นชม จากฝ่ายการเมืองบางปีกว่า การตั้ง “พลเรือนคนแรก” มาทำหน้าที่นี้ ถือว่ารัฐบาลได้กลัดกระดุมเม็ดแรก ในการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้แล้ว

แต่ อาจารย์สุรชาติ กลับมองต่าง เพราะไม่เห็นด้วยที่คนจากราชการ จะมากำหนดโยบายด้านความมั่นคง

“เราไม่เคยยอมรับความจริงว่า ก่อนยุคพล.อ.เปรม มาจากฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำจะขึ้นได้แค่ปลัดสมช.เท่านั้น นี่เป็นโครงสร้างแบบอเมริกันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เอามาใช้ โครงสร้างแบบนี้ไม่มีประเทศไหนเอาข้าราชการประจำมาเป็นหัวหน้างานความมั่นคง ยกเว้นประเทศไทย โดยยุคพล.อ.เปรม ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ไว้ใจกองทัพ จึงต้องพึ่งราชการ เลยเปลี่ยนโครงสร้างความมั่นคงเป็นแบบรัฐราชการ” 

นอกจากไม่เห็นด้วยแล้ว ยังมีข้อเสนอในเรื่องนี้ว่างานด้านความมั่นคงควรถอยไปสู่โครงสร้างเดิมหรือไม่

ด้วยการกลับไปรื้อโครงสร้างสมช. ทำให้ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล มีที่มาจากฝ่ายการเมือง

อาจารย์สุรชาติย้ำว่า การแต่งตั้งราชการเป็นหัวหน้าแก้ไขปัญหาความรุนแรงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีที่ไหนทำกัน

“ยิ่งรัฐการไทย อยู่ในกรอบคิด แบบกะลาราชการครอบอยู่ วิธีการมองปัญหา และตอบด้วยผลลัพธ์ ออกมาเป็นนโยบายแบบรัฐราชการ ยิ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความขัดแย้งนี้ไว้อีกด้วย”

ฉะนั้นในมุมของ “นักวิชาการด้านความมั่นคง” ชี้ว่า โมเดลที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ “ผู้แทนพิเศษ”

หรือที่ในโลกตะวันตกเรียกตำแหน่งนี้ว่า “Special Envoy” เป็นคนนอก มีความรู้ มีความสัมพันธ์ หรือเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในเรื่องนั้นๆ มาทำหน้าที่นี้ เพื่อมีความยืดหยุ่น ไม่ให้ผูกมักกับรัฐบาลมาก

อาจารย์สุรชาติ ขยายความว่า โลกตะวันตกใช้เยอะมาก แม้กระทั่งปฏิรูปกองทัพในหลายประเทศก็ใช้มาประธาน เพื่อไม่ให้มีคุณประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ของไทยเราทุกอย่างมาจากภาคราชการอย่างเดียว

นอกจากนี้ ดร.สุรชาติ ยังขอโยนคำถามใหญ่ ถามดังๆให้รัฐบาลนี้ได้พิจารณาในเบื้องต้นด้วย

นั่นคือ ตกลงคู่เจรจาอีกฝั่งหนึ่งบนโต๊ะ คือใคร ใช่บีอาร์เอ็นหรือไม่ ?

“ฝ่ายรัฐยอมรับหรือไม่ ว่า บีอาร์เอ็นคือผู้ก่อเหตุ แล้วบีอาร์เอ็นจะยอมรับหรือไม่ว่า เป็นผู้ก่อเหตุ ที่ผมต้องถามแบบนี้ เนื่องจากการก่อเหตุในภาคใต้ต่างจากสงครามในเวทีโลกทั้งหมด เพราะความรุนแรงในภาคใต้ไทย ไม่มีการประกาศความรับผิดชอบ เหมือนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวทีโลก”

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ อาจารย์สุรชาติ ยังมองว่า เบื้องต้นปัญหาในภาคใต้ในปีที่ 21 จะยังเป็นโจทย์ความมั่นคงที่น่าปวดหัวของทุกรัฐบาล และจะเป็นปมปัญหาของกองทัพต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง

พร้อมๆกับให้จับตา 2 ปัจจัย ปัจจัยภายใน จากบทบาทพรรคการเมืองต่างๆที่มีเสียงนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา กับ ปัจจัยภายนอก จากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง

เพราะ 2 ปัจจัยนี้ อาจส่งผลต่อ “ความเปลี่ยนแปลง” ในสถานการณ์นี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image