คุณชายอดัม แจงเดินหน้าซอฟต์เพาเวอร์ภาพยนตร์ เผยไม่ใช้เซ็นเซอร์หนังนานแล้ว แต่เจอกฎห้ามฉายในราชอาณาจักร

คุณชายอดัม แจงเดินหน้าซอฟต์เพาเวอร์ภาพยนตร์ เผยไม่ใช้เซ็นเซอร์หนังนานแล้ว แต่เจอกฎห้ามฉายในราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 7 มกราคม กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยสาระหลักในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาทิ การแก้ไขกระบวนการพิจารณาเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ การแก้ไขกฎกระทรวงที่มาจากประเภทเรตของภาพยนตร์ และเตรียมผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.THACCA เข้าสภานั้น

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล หรือคุณชายอดัม กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาภาพยนตร์ และเป็นผู้กำกับและนักจัดรายการชื่อดัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยไม่มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ การเซ็นเซอร์ถูกยกเลิกไปนานแล้ว ก็ยังมีการทำให้ภาพยนตร์ไม่ได้ฉายอยู่ มีกฎข้อหนึ่งห้ามฉายในราชอาณาจักร มีขอบข่ายกว้างมาก เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ภาพยนตร์ในประเทศไทย หลายๆ ครั้งไม่ค่อยมีสาระ เพราะจะเจอกฎข้อห้ามฉายในราชอาณาจักร หรือบางทีจะโดนคณะกรรมการภาพยนตร์บอกว่า ถ้าไม่ตัดตรงนี้ออก ภาพยนตร์จะฉายในราชอาณาจักรไม่ได้ ทำให้เรตติ้งอื่นไม่มีค่าอะไรเลยเพราะโดนแค่ห้ามฉายในราชอาณาจักร จึงเป็นที่มาว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนตรงนี้ ไม่อย่างนั้นจะฉุดให้ภาพยนตร์ไม่พัฒนาต่อ และจะมีปัญหาต่อเนื่อง รอบ 10 ปีที่ผ่านมา มี 5 เรื่องไม่ได้ฉาย ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องไม่ควรทำ

“ในวงการภาพยนต์ การเซ็นเซอร์ไม่ได้ใช้นานแล้ว แต่จะใช้ในงานละคร ทีวี มีการบังภาพหรือปิดภาพ แต่ของภาพยนตร์เป็นการจัดเรต คนใช้คำพูดผิด แม้กระทั่งคนทำหนังเอง บางคนก็ยังใช้คำว่าเซ็นเซอร์อยู่ จริงๆ แล้วเราไม่ใช้คำนี้มานานแล้วเกือบ 20 ปี หลังจากมีการโยกภาพยนตร์ จากกรมตำรวจในสมัยนั้นมาสู่กระทรวงวัฒนธรรม และใช้ระบบการจัดเรต แต่เป็นการจัดเรตที่มีกลไกห้ามฉายในราชอาณาจักร จึงทำให้แทนที่จะโดนเซ็นเซอร์ กลายเป็นว่าถ้าคุณไม่ตัดตรงนี้ ก็ห้ามฉาย หรือไม่ควรฉายหนังเรื่องนี้ในประเทศไทย เป็นวิธีการไม่โอเค การทำภาพยนตร์ ถ้าอยากให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องต้องวิพากษ์วิจารณ์ ในประเด็นสำคัญของสังคม หลายครั้งทำแบบนั้นไม่ได้” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรีกล่าว และว่า

Advertisement

ประเทศญี่ปุ่นเห็นได้อย่างชัดเจนเปิดกว้างเนื้อหาของภาพยนตร์พัฒนามาก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยงานทหารของอเมริกาเข้ามาเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ทั้งหมดของญี่ปุ่น เป็นระยะเวลาเป็น 10 ปี ตอนนั้นภาพยนตร์ญี่ปุ่นตกต่ำ แต่หลังจากยกเลิกตรงนี้ไป ตั้งแต่ช่วง 1955 เป็นต้นมา ภาพยนต์ญี่ปุ่นเป็นยุคทอง มีภาพยนตร์ระดับตำนาน เพราะภาพยนตร์เหล่านั้นมีการพูดถึงภาวะของมนุษย์ เรื่องทางสังคม และอื่นๆ พอเปิดกว้างขึ้นทำให้อุตสาหกรรมก้าวหน้ามาก ทำให้ภาพยนตร์ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศปัจจุบันนี้ส่งออกคอนเทนต์ระดับต้นๆ ของโลกเลิกห้ามฉายในราชอาณาจักร

“การแก้ไขของไทย ในระดับปลายทางได้ยกเลิกการห้ามฉายในราชอาณาจักร จริงๆ มีสิ่งทำให้ห้ามฉายได้ แต่ควรอยู่ในการพิจารณาของศาล เช่น มาตรา 112 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กฎหมายหมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ.สื่อลามกอนาจาร กฎหมายด้านความมั่นคง และอื่นๆ อีกมาก ตัวกฎหมายก็ทำงานตรงนี้อยู่แล้ว อยากให้มองภาพยนตร์ก็คือคนหนึ่งคน ถ้ามีปัญหาเราก็เอาตรงนี้เข้าไปฟ้องศาลได้เลย แล้วสามารถอุทธรณ์ หรือไปตีความกฎหมายจากตรงนี้ก็ได้ ตรงนี้คือปลายทางที่ควรจะเป็น” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรีกล่าว และว่า ณ เวลานี้ ระหว่างกำลังร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ใหม่อยู่ มีขั้นตอนอื่นๆ ทำได้เร็วกว่านั้น เช่น การแก้กฎกระทรวง ต้องทำตามกรอบของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ แต่เราแก้ไขกฎกระทรวงบางส่วนได้ ในเวลาที่เราทำงานอยู่ เพื่อให้เราทำงานได้เร็วขึ้น

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรีกล่าวว่า นอกเหนือจากนั้นที่เร็วได้มากกว่านั้น เราทำไปแล้ว คือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ นำคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านภาพยนตร์เข้ามามากขึ้น มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ นักวิจารณ์และคนอื่นๆ เข้าในศาสตร์ภาพยนตร์ ก็ได้เข้ามาอยู่ในการพิจารณามากขึ้น จากเมื่อก่อนภาครัฐเป็นหลักเอกชนเป็นรอง แต่ปัจจุบันเอกชนเป็นหลักและภาครัฐเป็นรอง เป็นกระบวนการหนึ่งรวดเร็วกว่า และคณะกรรมการชุดใหม่ได้แต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากคณะกรรมการชุดเก่า ส่วนใหญ่หมดวาระ จะทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถสร้างภาพยนตร์ได้หลากหลายขึ้น แต่ท้ายที่สุดคือการแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ กำลังอยู่ในช่วงการทำงาน แต่ต้องรอ พ.ร.บ.THACCA (ทักก้า) ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกันระหว่าง 2 พ.ร.บ.นี้

Advertisement

“พ.ร.บ.ภาพยนตร์เราชะลอไว้ เพราะอยากรอดูว่า พ.ร.บ.THACCA จะเขียนการส่งเสริมภาพยนต์อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน และเมื่อเห็นโครงร่างแล้ว เราจะมาเขียน พ.ร.บ.ภาพยนตร์จะเกื้อหนุนหรือเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ควรจะต้องได้เห็นในปี 2567 เพราะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้า สร้างความเชื่อถือว่ารัฐบาลมีความตั้งใจผลักดันวงการภาพยนตร์ งบประมาณน่าจะได้ช่วงประมาณ เม.ย.-พ.ค. ช่วงนี้เป็นการวางงบฉุกเฉินไปก่อน มีความล่าช้าการพิจารณางบประมาณ ทำให้กระบวนการทำงานติดขัด ทำให้งานไม่เป็นไปตามแผน” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรีกล่าว

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรีกล่าวว่า การแก้ไขตรงนี้ จะส่งผลให้ต่อไปในอนาคตวงการภาพยนตร์จะมีความหลากหลายมากขึ้น จะมีการสร้างภาพยนตร์มีเนื้อหาสาระลึกซึ้งขึ้น มีความบันเทิงขึ้น มีความชัดเจนในการนำเสนอมากขึ้น ยกตัวอย่างภาพยนตร์หลายเรื่องที่ผ่านมา มีเจตนาที่ดี แต่ก็ถูกกฎการห้ามฉายในราชอาณาจักร ทำให้ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวภาพยนตร์ให้สอดคล้องกับตัวคณะกรรมการ เช่น อาปัติ ไทยบ้าน ที่มีพระร้องไห้ หุ่นพยนต์ เป็นต้น จะเห็นว่าภาพยนตร์พวกนี้ไม่ได้เป็นหนังที่ต้องการสร้างความเสื่อมเสียอย่างเป็นนัยสำคัญ จุดประสงค์ของหนังเป็นความบันเทิง เนื้อหาสาระ หรือมวลอารมณ์ของตัวละครนั้นๆ มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image