ปลัดมท. จับมือ ปลัดพณ. ส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP ไทยสู่ตลาดโลก

ปลัดมท. จับมือ ปลัดพณ. เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP ไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาไทย(มท.) พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์(พณ.) เป็นประธานร่วมประชุมหารือเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP ไทยสู่ตลาดสากล โดยมี นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็น Partnership บูรณาการความร่วมมือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP ไทยสู่ตลาดสากล โดยได้รับเกียรติจาก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เป็นผู้ช่วยขับเคลื่อนสนับสนุนงานของกระทรวงมหาดไทยในการสนองงานพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนในชนบทได้มีแนวทางในการที่จะนำภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยต่อยอดเพื่อเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP งานหัตถศิลป์และหัตถกรรม งานศิลปาชีพ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ผ้าแต่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งเครื่องปั้น เครื่องจักสาน ที่เป็นหนึ่งในงานศิลปาชีพและงานหัตถกรรมไทย ทั้งนี้ ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงโปรดให้คณะทำงานผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญครบทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่ไป “โค้ชชิ่ง” ส่งเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้ประชาชนท้องถิ่นต่าง ๆ ได้สร้างสรรค์ทำให้ผลิตภัณฑ์ถูกอกถูกใจตรงใจคนทุกเพศ ทุกวัย อุดหนุนซื้อหามาใช้สวมใส่ได้ในทุกโอกาส ตลอดจนทรงเป็นบรรณาธิการและพระราชทานหนังสือ “Thai Textiles Trend Book” เพื่อให้ความรู้แนวทางการใช้สีในการผลิตผ้า รวมถึงส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สีธรรมชาติจากวัตถุดิบพื้นถิ่น เพื่อให้งานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทยได้เกิดขึ้นควบคู่กับความยั่งยืน

Advertisement

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริเกี่ยวกับการตลาดอย่างกว้าง และพระราชทานแนวพระดำริให้แก่กระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้างานหัตถศิลป์หัตถกรรม อันมีความเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ รวมไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมหม่อนไหม เพื่อให้เกิดการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น จึงนับเป็นพระปณิธานอันมุ่งมั่นและแน่วแน่ของพระองค์ในการที่จะ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” คนในชาติมีความรัก ความสามัคคี และมีรายได้เพียงพอสำหรับดูแลตนเองและครอบครัว จึงเป็นที่มาของการประชุมหารือร่วมกันในวันนี้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โจทย์สำคัญของการหารือในครั้งนี้ คือ การทำให้สินค้า OTOP ได้รับการส่งเสริมต่อยอดด้านการตลาด เช่น การจำแนก คัดแยก กลุ่มผู้ประกอบการเป็นกลุ่ม ๆ ให้มีคุณภาพและมีความทันสมัย ตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สามารถนำสินค้ามาจำหน่ายได้ เพราะปัจจุบันมีสินค้าและบริการในแต่ละพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน อาทิ ชุมชน OTOP นวัตวิถี ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากในหลายพื้นที่แต่ไม่มีช่องทางการตลาดที่เพียงพอ ซึ่งพวกเราได้เรียนรู้จากแนวทางที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานองค์ความรู้ในการต่อยอดจนทำให้สินค้าได้รับการจำหน่ายตลอดทั้งปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ใช้กลไกผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์มาโดยตลอด แต่ยังมีอีกปริมาณมาก (Volume) ที่ต้องได้รับการหนุนเสริมพัฒนาให้ได้รับการต่อยอดเพิ่มมากขึ้น

“ขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกันหาแนวทาง Quick Win ตั้งแต่กระบวนการระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งเราได้มีการจำแนกแยกกลุ่มผู้ประกอบการ ศิลปิน OTOP ระดับต่าง ๆ อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การนำผลิตภัณฑ์คุณภาพไปสู่ต่างประเทศ (ตลาดสากล) ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายในเบื้องต้นได้ และในส่วนของการดำเนินการระยะยาว คือ การทำให้ผู้ประกอบการได้มีฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยมีโมเดลพร้อมขยายไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ซึ่งจุดแข็งของสินค้า OTOP ไทยเรามีจุดแข็งในด้านความประณีตสวยงาม ผลิตภัณฑ์เป็นงาน “Handmade” ทำให้ของมีจำกัด (Limited) ที่หายาก แต่ในส่วนของจุดอ่อน คือ ตลาดในต่างประเทศยังมีน้อย ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะนำไปสู่การร่วมกันหาแนวทางช่วยกันเพื่อพัฒนาต่อไป โดยในขั้นตอนต่อไปจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมวางระบบการนำกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสนใจในสินค้า OTOP ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพ การโค้ชชิ่ง ทั้งด้านบรรจุภัณฑ์และช่องทางการตลาด พร้อมทั้งหารือร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดผ้าไทยไปสู่ตลาดสากล เพื่อหนุนเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยนำไปสู่การที่ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ และมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement

ด้านนายกีรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีความยินดีและตั้งใจอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการหนุนเสริมต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าไทยไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งในวันนี้มีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าทั้งในและต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์มาร่วมประชุมพูดคุยหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP สู่ตลาดสากล ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP มาต่อยอดพัฒนา โดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายและพันธมิตรในการหาช่องทางการตลาด นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำสินค้าที่ได้รับการพัฒนามาจำหน่าย รวมถึงเน้นการผลิตตามแนวเศรษฐกิจ BCG นำสินค้าพื้นถิ่นมาพัฒนาต่อยอดด้วย

“สำหรับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการ “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” ตั้งแต่ปี 2560 โดยพัฒนาสินค้าและบริการในพื้นที่ ด้วยการเพิ่มทักษะและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใน 42 หมู่บ้าน 33 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์โดยร่วมกับ โรงแรม ธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า และช่องทางออนไลน์ โดยมีช่องทางที่ Influencer มาช่วยในการขายได้ ในส่วนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP สู่ตลาดสากล โดยการคัดเลือกหาผู้ประกอบการสินค้า OTOP มาอบรมบ่มเพาะ โค้ชชิ่ง เพื่อไปเข้างานแสดงสินค้า (Trade Fair) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลาหลายปี มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 30 ราย นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการ BCG Hero คัดเลือกผู้ผลิตตามแนวทางยั่งยืน การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทาง OTOP ของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งมีโครงการพัฒนาดีไซเนอร์ไปสู่รันเวย์สากล โดยส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีแบรนด์เข้มแข็งอยู่แล้วไปสู่ตลาดสากลได้ ที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทยมีภารกิจที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกันอยู่แล้ว ซึ่งเราจะได้ร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในส่วนของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การส่งต่อผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เรามีความยินดีและมีความกระตือรือร้นที่จะช่วยสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติม

นายธนันท์รัฐ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริให้กับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทยตามที่ได้ขอพระราชทาน โดยมี 3 หลักการนำร่องในการสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP เพื่อการขยายตลาดสู่สากล คือ 1) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จากการที่พระองค์ทอดพระเนตรในพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้มีแนวทางให้พวกเราช่วยกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและสวยงามมากยิ่งขึ้น 2) การคัดเลือกผู้ประกอบการกลุ่มนำร่องไปแสดงสินค้าที่ต่างประเทศซึ่งจะต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้ที่สนใจในสินค้า OTOP และมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน 3) บูรณาการโครงการที่มีแนวทางเดียวกันมาทำร่วมกัน อาทิ โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มากกว่า 13 กิจกรรม ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ อาทิ การดำเนินโครงการหมู่บ้านยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย และหมู่บ้านทำมาค้าขาย ของกระทรวงพาณิชย์ โดยทรงมุ่งเน้นในการ “พัฒนาคน” ด้วยกลไกกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งเราได้ลงพื้นที่ไปขับเคลื่อนโดยการ “โค้ชชิ่ง” เพื่อส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงในชีวิต น้อมนำแนวพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” รวมถึงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้ชาวบ้านมีความอยู่ดี กินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“หัวใจสำคัญของการพัฒนา Soft Power ของไทย คือ การนำกลุ่มดีไซเนอร์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ นำมาซึ่งการพัฒนาผ้าไทยสู่การเดินแบบ และเกิดผ้าไทยใสให้สนุก ซึ่งหากดีไซน์เนอร์ไทยหน้าใหม่ได้พัฒนาสินค้าสู่การสร้างแบรนด์ที่ต่างประเทศได้ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อใหม่ ๆ เกิดตลาดใหม่ ๆ จึงเป็นที่มาของการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์มาร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งที่ดี ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้ เราต้องทำทันที (Action Now) เพราะเรามีแนวทางอยู่แล้วเพียงแต่ต้องบูรณาการกัน นำ “หมู่บ้านยั่งยืน” ร่วมกับ “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” ทำให้กลุ่มคนที่เคยคุ้นเคยที่มีประสบการณ์ทำงานมีความรู้มีความเชี่ยวชาญ ดึงศักยภาพมาขับเคลื่อนให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายธนันท์รัฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image