“แม่น้องเกด” ชี้ “ปรองดองโคทม” เกิดยาก หากกองทัพยังลอยตัวเหนือความขัดแย้ง

แฟ้มภาพ-นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกด
“แม่น้องเกด” ชี้ “ปรองดองโคทม” เกิดยาก ถ้ากองทัพยังลอยตัวเหนือขัดแย้ง จวกทหารดันป.ย.ป. หวังเลื่อนเลือกตั้ง พ้นผิดสลายแดงปี53 
 เมื่อวันที่ 22 มกราคม นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมลเกด อัคฮาด หรือน้องเกด ผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 กล่าวถึง ข้อเสนอจัดเวทีสานเสวนาทั่วประเทศเพื่อสร้างความปรองดองของนายโคทม อารียา นักสันติวิธี ม.มหิดล ว่า ตามหลักการแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายโคทม แต่สถาการณ์ที่ผ่านมากองทัพยังไม่คงไม่เคยยอมรับสักครั้งว่า เป็นคู่ขัดแย้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงปฏิเสธ ทั้งที่ในข้อเท็จจริง ทหารหลายคนรัฐบาลล้วนมีความเกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ด้วย พอมาถึงการยึดอำนาจในปี 2557 กองทัพก็แสดงท่าทีชัดว่า สนับสนุนมวลชนฝ่ายหนึ่ง ด้วยการนำรถไปขนผู้ชุมนุมกลับบ้าน แต่คัดค้านมวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการส่งทหารติดอาวุธไปยังพื้นที่การชุมนุม ซึ่งทุกเหตุการณ์กองทัพจะไม่ยอมรับว่า ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนไม่ได้
 นางพะเยาว์ กล่าวอีกว่า กองทัพจึงไม่มีสิทธิ์มา ผลักดันในเรื่องนี้ การตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) แล้วให้คนในกองทัพดำเนินการสร้างความปรองดอง ก็ทำให้สงสัยได้ว่า ต้องการยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไปอีกใช่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีรายงานการศึกษาการสร้างความปรองดองหลายคณะ ทั้งคอป. ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน จนถึงรายงานของสปช.ชุดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ แล้วมาใช้ ม.44 ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา มองว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมที่แท้จริง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ทุกฝ่ายเกิดสำนึกยอมรับต่อข้อเท็จจริงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดิฉันในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต้องสูญเสียลูกสาว จึงไม่อาจยอมรับได้ในกระบวนการและการปฏิเสธของกองทัพ และกำลังหารือร่วมกับญาติผู้ได้รับผลกระทบรายอื่น เพื่อกำหนดแนวทางและวันการแสดงออกคัดค้านการปรองดองแบบนี้
 “การเดินหน้าปรองดองในช่วงเวลานี้ กองทัพต้องการลอยตัวพ้นผิดจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่เกิดการฆาตกรรมประชาชนจำนวนมาก ถึงเหตุการณ์จะผ่านมาเกือบ 10 ปี แต่ญาติผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยได้ยินคำขอโทษสักครั้งจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทหารจะปฏิเสธอะไรก็ได้ แต่ปฏิเสธความจริงไม่ได้ สะท้อนว่า แต่ละฝ่ายต่างมองข้ามหัวคนตาย การผลักดันของอาจารย์โคทมก็คงไม่สำเร็จ หากกองทัพยังวางตัวแบบนี้ ทหารอาจบังคับนักการเมือง แกนนำให้เห็นด้วยกับการลงนามปรองดองได้ แต่ไม่อาจบังคับคนที่เสียลูกสาวได้ และขอถามไปยังนักการเมืองและแกนนำที่เห็นด้วย ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการปรองดองนี้ด้วยว่า มีจิตสำนึกเห็นหัวประชาชนหรือไม่ แนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นเพียงการซุกปัญหาไว้ใต้พรหมแล้วเมื่อถึงเวลาก็จะเกิดการฆ่ากันอีก ทหารไม่เคยเรียนรู้บทเรียนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระวังจะเกิดเหตุการณ์พฤษภาฯ ′35 ขึ้นมาอีก” นางพะเยาว์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image