‘มายด์’ อยากคุยเศรษฐา ปมประชามติ ถ้าแฟร์จริงต้องมี ‘คำถามของปชช.’

แฟ้มภาพ

‘มายด์’ อยากคุยเศรษฐา ปมประชามติ ถ้าแฟร์จริงต้องมี ‘คำถามของประชาชน’

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่อาคาร All Rise หมู่บ้านกลางเมือง แยกรัชดา-ลาดพร้าว กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #Conforall เปิดเผยถึงการเตรียมยื่นหนังสือขอเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 มกราคมนี้ เพื่อหารือทางออกแนวทางคำถามประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ

ในตอนหนึ่ง น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า ผลกระทบของคำถามประชามติ ที่คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติฯ ได้เคาะออกมา อาจจะสร้างความสับสนในภายหลัง และทำให้กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เดินหน้าได้ สิ่งสำคัญอีกอย่าง คืออาจจะกลายเป็น 1 ในชนวนเหตุแห่งความขัดแย้ง ซึ่งทาง Conforall ได้ลงแถลงการณ์ไปในวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา และได้เสนอข้อเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรีที่นำโดย คุณเศรษฐา ทวีสิน ด้วย

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณเศรษฐา น่าจะเห็นความสำคัญของประชาชน 2 แสนกว่ารายชื่อ ที่พยายามอย่างหนักมาก ถึงแม้จะเจออุปสรรคจาก กกต. เพื่อให้คำถามที่ประชาชนมั่นใจได้เข้าไปสู่ ครม. ก็อยู่ที่ ครม. และคุณเศรษฐาแล้วว่าจะเคาะอย่างไร แต่ว่าทาง Conforall ได้มีข้อเรียกร้องไปยัง ครม.ที่นำโดยคุณเศรษฐา ใน 2 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ

Advertisement

1. เราขอให้ ครม. ที่นำโดยคุณเศรษฐา ได้ทบทวนการตั้งคำถามประชามติ ที่คณะกรรมการศึกษาฯ ได้จัดทำออกมา

“สิ่งสำคัญคือ เมื่อเราเห็นปัญหาของคำถามที่คณะกรรมการเคาะออกมาแล้ว เราจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องบอก ครม.ว่า คำถามไม่ดี คำถามที่ดีคืออะไร ถ้าหากไม่อยากให้มีการล็อกแบบประชาธิปไตย ล็อกประกันว่าประชาชนจะสามารถร่างได้ทั้งหมด 100 % ก็ควรจะเป็นคำถามที่กว้างไปเลย เป็นคำถามที่พื้นฐาน เข้าใจง่ายที่สุด

อย่างเช่น การตั้งคำถามว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ แค่นี้ เพื่อให้กระบวนการสามารถเดินหน้าไปได้ ไม่หยุดชะงัก ถ้าเป็นคำถามที่คณะกรรมการเคาะออกมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงจุดนึงที่ประชาชนต้องไปกาลงประชามติ เขาต้องชั่งใจคิด เพราะมี 2 เรื่องที่ต้องจัดสินใจคือ 1.ต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 2.เห็นด้วยกับการไม่แก้ไขหมวด 1 และ 2 หรือเปล่า คิดว่า 2 เรื่องนี้ ไม่สามารถตัดสินใจในการกา 1 ครั้งได้ เพราะเป็น 2 เรื่องที่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน” น.ส.ภัสราวลีชี้

Advertisement

น.ส.ภัสราวลีกล่าวต่อว่า เรื่องของหมวด 1 และ 2 เราเข้าใจดีว่าคนใน สภาฯ รวมถึง ส.ว. มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะไปแตะ ไปเกี่ยวข้องกับรูปแบบของรัฐ หรือสถาบันฯ หรือไม่ เราต้องบอกว่า ครม.สามารถเติมเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 เข้าไปได้ เช่น ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ แค่นี้เอง ไม่จำเป็นจะต้องไปล็อกหมวด 1 หมวด 2 หรือกังวลว่าผิดไปจากระบอบหรือเปล่า ส่วนเนื้อหาของหมวด 1 หมวด 2 ถ้ากังวลว่าจะเกิดการแก้ไขอย่างไร ก็ขอให้ยกเป็นอำนาจของรัฐสภา หรือ ส.ส.ร. จะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว รัฐสภาเป็นพื้นที่สำคัญด้วยซ้ำที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงเรื่องเหล่านี้ เมื่อเห็นว่ามีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากในสังคม

“รัฐบาลไม่สามารถที่จะมัดมือชกประชาชน แล้วคิดเอาว่าความขัดแย้งนี้ ถ้าหากปล่อยผ่านไปก่อน ล็อกๆ ไว้ก่อน เดี๋ยวมันก็สงบลงเอง ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องเอาเรื่องนี้มาพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา และรัฐสภาจำเป็นจะต้องป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องพวกนี้” น.ส.ภัสราวลีระบุ

2.ขอให้ ครม. รับรองคำถามประชามติ ที่ประชาชนกว่า 211,904 รายชื่อ ได้ใช้สิทธิเข้าชื่อตามกฎหมายในการเสนอคำถามประชามติไปแล้ว

น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า คำถามที่เราบอกว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่ารัฐสภาจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’ เป็นคำถามที่สามารถประกันได้แน่นอนว่าประชาชนจะได้อะไรในปลายทาง กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือเนื้อหาจะออกมาเป็นแบบใด เราสามารถมั่นใจได้

“อย่างน้อยก็อยากให้ ครม.ช่วยใส่ใจ เห็นความสำคัญของ 2 แสนกว่ารายชื่อที่ได้ยื่นคำถามนี้เข้าไปหน่อย เห็นความสำคัญของข้อความ ว่าทำไมเราถึงจะต้องใส่ไว้ขนาดนั้น ว่าต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ และ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 % เพราะตอนนี้เรากำลังสู้กันอยู่ กับการร่างรัฐธรรมนูญที่เผลอๆ แล้วอาจจะเป็นเพียงแค่การร่างไปเพื่อให้ตอบกลับสิ่งที่เคยพูดกับประชาชนก่อนหน้านั้นหรือเปล่า เราไม่อยากให้ผ่านไปเฉยๆ สุดท้ายประชาชนไม่ได้อะไรเลย เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครม.เองจะพิจารณาในการรับคำถามประชามติของประชาชนในส่วนนี้ไว้ด้วย

เราจะพยายามทาหาทาง ขอเข้าหารือกับนายกฯ คุณเศรษฐา ทวีสิน ว่าคำถามของประชาชนที่ยื่นไปและอยู่ในชั้น ครม.ตอนนี้แล้ว คุณเศรษฐาคิดว่าอย่างไร พอจะทำให้เป็นคำถามคู่ขนานกับของ คณะกรรมการฯ ได้หรือไม่ ถ้าจะให้แฟร์ ก็ควรมีคำถามของภาคประชาชนเข้าไปด้วย เพราะความสำคัญไม่ได้น้อยไปกว่ากัน” น.ส.ภัสราวลีกล่าว

น.ส.ภัสราวลีกล่าวย้ำด้วยว่า ทั้ง 2 ข้อเสนอนี้ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Conforall ได้แถลงลงในพื้นที่ออนไลน์ไปแล้ว วันนี้เรามาพูดถึงเจตจำนงอีกครั้งว่า เรายังยืนยันในหลักการอย่างไรต่อคำถามประชามติ และเราต้องการอะไรต่อคำถามประชามติที่จะเป็นประตูด่านแรกไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ เส้นทางคงอีกยาวไกลมาก

“วันนี้เป็นอีกวันที่เรามายันยันว่า คำถาม ถ้าจะเคาะ ก็ช่วยทำให้เป็นประโยชน์กับประชาชน เสียงที่ยื่นไปแล้วรัฐบาลไม่ควรมองข้าม ตีตก เมินเฉยความพยายายามอย่างหนักมาก สรุปสั้นๆ ข้อเรียร้อง 1. คำถามถ้า จะมีก็ต้องกว้างกว่านี้ไม่ใช่การล็อกสเปคแบบนี้ 2.อยาเมินเฉยคำถามที่ประชาชนได้ยื่นไป” น.ส.ภัสราวลีกล่าว

อ่านข่าว : #Conforall จ่อเยือนทำเนียบ 15 ม.ค. ขอคุยเศรษฐา ลุยหาทางออกประชามติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image